ซูไบดะห์ ดอเลาะ...ผู้ฟื้นชีวิต "อิสลามบูรพา" กับรางวัลสตรีสันติภาพ
8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล" หลายหน่วยงานได้มอบรางวัลแก่ผู้หญิงที่บำเพ็ญประโยชน์และอุทิศตนเพื่อสังคม ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีผู้หญิงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับรางวัลแทบทุกปี แต่ปีนี้ต้องบอกว่าเรียกเสียงฮือฮา เพราะผู้ที่คว้ารางวัลสตรีผู้ส่งเสริมสันติภาพจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือ ซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา
อิสลามบูรพา หรือ "ปอเนาะสะปอม" ตั้งอยู่ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถูกทางการสั่งปิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2550 หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถูกปิดล้อมตรวจค้นเมื่อ 3 วันก่อนหน้า และมีการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากในกระท่อม (ปอเนาะ) ซึ่งใช้เป็นที่พักของนักเรียน แต่ทางโรงเรียนระบุว่าเป็นกระท่อมร้าง
คดีนี้ศาลนราธิวาสมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ให้ประหารชีวิตจำเลย 5 คนจาก 7 คน
แต่คดีที่เรียกกันในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า "คดีอิสลามบูรพา" ไม่ได้มีคดีเดียว ยังมีการดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารโรงเรียนในข้อหา "ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานที่หรือบริเวณโรงเรียนทำการสอนหรือฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนซึ่งลัทธิที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศหรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรมนูญหรือทำการอื่นใดขัดต่อกฏหมายหรือขัดต่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน" ด้วย
ซูไบดะห์ ในฐานะผู้รับในอนุญาตให้เปิดสถานศึกษา และยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ร่วมกับผู้บริหารของโรงเรียนอีก 2 คน เธอต่อสู้คดีมาตลอด กระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2555
ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะยังมีคดีแพ่งที่เจ้าของมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ (ในฐานะผู้ถือใบอนุญาตเปิดสถานศึกษา) ถูกฟ้องให้ยกเลิกมูลนิธิจากคำสั่งถอนใบอนุญาตและปิดโรงเรียน ทั้งยังโดนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอีกกรณีหนึ่งด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างต่อสู้ในชั้นศาล
ตั้งแต่โรงเรียนถูกปิด ซูไบดะห์ ต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีมาตลอด พยายามส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเดินสายขึ้นเวทีเสวนาเพื่อยืนยันว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากอาคารสถานที่ไม่ได้ผิด แต่ "คน" ต่างหากที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หนำซ้ำการปิดโรงเรียนยังสร้างความเดือดร้อนให้กับเด็กนักเรียนและชุมชนโดยรอบด้วย
เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นลูกหลานชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สาเหตุที่เลือกเรียนเพราะใกล้ มีหอพัก (ปอเนาะ) อยู่ในโรงเรียน สามารถให้บุตรหลานอาศัยเรียน และกินอยู่หลับนอนที่โรงเรียนได้ เป็นการประหยัดค่าเดินทาง
26 ธ.ค.2554 โรงเรียนอิสลามบูรพาก็ได้รับอนุญาตให้เปิดอีกครั้งจากการผลักดันอย่างแข็งขันของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ซูไบดะห์ ตอบรับข่าวดีนั้นด้วยน้ำตา...
"ขอขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือผลักดันให้โรงเรียนได้เปิดอีกครั้ง จากความมืดหมองกลายเป็นยิ้มทั้งน้ำตา รู้สึกดีใจจนพูดไม่ถูก เป็นบุญคุณที่ไม่สามารถตอบแทนได้ด้วยวัตถุใดๆ การเปิดโรงเรียนนอกจากจะเป็นการเยียวยาจิตใจแล้ว ยังเยียวยาความรู้สึกด้วย เหมือนประตูหัวใจที่ถูกปิดไปและพร้อมเปิดประตูหัวใจใหม่" เป็นความรู้สึกจากส่วนลึกในหัวใจของเธอ
ซูไบดะห์ เป็นชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระหว่างที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา และโรงเรียนถูกสั่งปิด ไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) และภรรยาของพวกเขาเหล่านั้นก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่ออุสตาซไม่มีรายได้ ครอบครัวก็พลอยลำบาก เธอและกลุ่มภรรยาอุสตาซจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่ม "บุหงาตำเสา" เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าละหมาดและทำขนมขาย นอกจากนั้นยังนำผ้าปาเต๊ะมาเย็บเป็นกางเกง เสื้อ และปลอกหมอน โดยกิจการก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
"ในกลุ่มภรรยาอุสตาซมี ซารีฮา บาเกาะ ที่มีฝีมือในการตัดเย็บเสื้อผ้า เขาเป็นภรรยาของอุสตาซที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากเหตุการณ์ที่โรงเรียนถูกสั่งปิด ฉันจึงชวนมารวมกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้ากับภรรยาอุสตาซคนอื่นๆ อีก 4-5 คน เมื่อฉันไปประชุมที่ปัตตานี ยะลา หรือใน ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ก็จะไปพูดประชาสัมพันธ์ผลงาน ทำให้มีอาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานี สั่งตัดเป็นลูกค้ารายแรก กระทั่งขยายเป็นกิจการที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มภรรยาอุสตาซในเวลาต่อมา"
"ฉันว่าเป็นเราะฮ์มัต (ความเมตตาจากพระเจ้า) ที่ลงมา แม้ว่าไม่มีกินยังมีหนทางทำมาหากินได้ มีการจ้างตัดชุดนักเรียนหญิงร้อยกว่าชุดทำให้เราอยู่ได้ แจกจ่ายงานไปให้ทุกคนเพื่อให้มีรายได้ เมื่อมีงานทำก็จะไม่มีเวลาคิดมาก ทำให้มีเงินลงทุน มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนได้ เหมือนกับการได้เยียวยาจิตใจตนเอง" ซูไบดะห์ เล่าถึงกิจกรรมช่วยเหลือผู้ร่วมชะตากรรมในอดีต
การลุกขึ้นสู้ของซูไบดะห์ ทั้งที่ตัวเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน มีแรงขับดันมาจากเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
"ดูโรงเรียน ดูปอเนาะแล้วเศร้าใจ ทำอย่างไรจะไม่ให้มีปมในใจ ฉันคงลำบากใจมากถ้ายังอยู่แบบเดิม เราพูดภาษาไทยได้และทำอะไรได้คล่องน่าจะช่วยเหลือคนอื่นที่เดือดร้อนได้ จึงออกมาทำโน่นทำนี่ เมื่อเห็นรอยยิ้มของทุกคนก็หายเหนื่อย"
ปัจจุบัน ซูไบดะห์ ได้รับแต่งตั้งจาก ศอ.บต.ให้เป็นกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบใน จ.นราธิวาส ซึ่งเธอบอกว่าเต็มใจและเต็มที่กับงานที่ได้รับมอบความไว้วางใจ ทั้งหาข้อมูลและลงพื้นที่จริงเพื่อให้การช่วยเหลือดำเนินไปอย่างตรงจุด
"เราเคยถูกกระทำแบบนั้นมา ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นก้าวข้ามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปได้ เราเจ็บด้วยกัน และจะหายปวดไปด้วยกัน"
บทบาทของ ซูไบดะห์ ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อแขนงต่างๆ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ได้รับรู้เรื่องราวลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมโดยใช้แนวทางสันติวิธี
สาเหตุที่เธอเลือกแนวทางสันติ เพราะเธอเชื่อว่าสันติภาพคือสิ่งสวยงาม...
"การคิดดี พูดดี และทำดี คือการสร้างสันติภาพอย่างหนึ่ง สันติภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำ ใม่ใช่แค่พูด ทำแล้วมีความสุข เป็นหลักการที่ยึดถือและปฏิบัติมาตลอด ทั้งยังนำไปสอนเด็กๆ ในโรงเรียน ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเราไปสู่เด็ก ครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อเนื่องไป ทุกวันนี้อิสลามบูรพาได้เปิดสอนใหม่อีกครั้ง แม้จะมีเด็กเพียง 156 คน แต่ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เป็นความปลาบปลื้มใจที่ผู้ปกครองยังพาเด็กมาเรียนที่นี่"
กับรางวัลที่ได้รับ ซูไบดะห์ บอกว่า เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ไม่ท้อถอย
"แม้จะไม่มีรางวัล ฉันก็ยังจะทำเหมือนที่ทำมาตลอดและจะทำตลอดไป เราต้องมองอดีตเป็นบทเรียน แล้วผลักดันชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ความเป็นผู้หญิงในพื้นที่แห่งนี้อาจลำบากในการทำงานบางอย่าง แต่การคิดดี ทำดี วางตัวเหมาะสม มีความรับผิดชอบ จะทำให้ได้รับการยอมรับ ผู้หญิงก็สู้ได้ด้วยศักยภาพที่มีในตัวของแต่ละคน และสามารถทำได้หลายบทบาท เมื่อทำดีแล้วก็ให้ทำต่อไปโดยไม่ต้องหวังผลตอบแทน เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำด้วยใจ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จด้วยดี”
วันนี้ของ ซูไบดะห์ เป็นทั้งภรรยา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นกรรมการขององค์กรต่างๆ และร่วมทำงานกับภาคประชาสังคม เธอทำทุกหน้าที่อย่างมีความสุข
"ชีวิตต้องทำหลายอย่าง เพราะคนเรามีหลายบทบาท สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ทัน มีความสุขที่จะทำ และทำด้วยหัวใจ"
นี่คือเรื่องราวของ ซูไบดะห์ ผู้ฟื้นชีวิตโรงเรียนอิสลามบูรพา เจ้าของรางวัลสตรีผู้ส่งเสริมสันติภาพคนล่าสุด!