รู้จัก 'หนังเคล้าน้อย' ศิลปินแห่งชาติ ปั้นเด็กน้อยให้เป็นนายหนังตะลุง
"วันนี้ผมมีความหวัง
เมื่อเห็นว่าอย่างน้อยเด็กเล็ก ๆ อย่างหลานชายผม
สืบทอดหนังตะลุงต่อไปได้อีกคนแล้ว"
"บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน นับกันว่าเป็นระบบความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมของความเป็นชุมชนมาช้านาน แต่ในวันนี้ ที่หมู่บ้านปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ บนพื้นที่บ้านเดิมของสองสุดยอดศิลปินพื้นบ้านแห่งปักษ์ใต้คือหนังตะลุงกับมโนราห์ ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น "ศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและนโนราห์" ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดและโรงเรียน และที่สำคัญ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน
แหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมแห่งล่าสุดในจังหวัดกระบี่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดย "หนังเคล้าน้อย โรจนเมธากุล" ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นครูผู้ได้รับทุนครูสอนดี จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง) ปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาอีกด้วย
ก่อนหน้านั้น หนังเคล้าน้อย กับ "มโนราห์ฉลวย ประดิษฐ์ศิลป์" มโนราห์ชื่อดังของภาคใต้ผู้เป็นคู่ชีวิต (เสียชีวิตแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน) ได้ใช้สถานที่ คือบ้านของตัวเองเป็นที่ฝึกสอนหนังตะลุงและมโนราห์ให้แก่ผู้สนใจและคนในละแวกใกล้เคียงจนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่ง
ต่อมาจึงมีความคิดมุ่งเน้นถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านทั้งสองแขนงให้แก่เยาวชนเป็นหลัก เพราะมองว่า ศิลปะการแสดงพื้นบ้านควรฝึกหัดตั้งแต่เยาวชนจึงจะได้ผลดี สามารถสืบทอดต่อไปได้อีกยาวนาน
และความมุ่งมั่นนี้ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อได้รับทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก สสค. จนสามารถก่อตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ได้สำเร็จ
"เรื่องการสอนการถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ผมทำอยู่แล้ว ทำมาทั้งชีวิต พอมี สสค.มาช่วย ก็ช่วยให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่วนในเรื่องการก่อสร้างอาคารสถานที่เพิ่มเติม แม้ต้องใช้เงิน ผมก็ไม่ตกใจ เพราะผมทำสิ่งที่ผมชอบ ไม่เสียดาย ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ นี่ใช้เงินเองไปสี่ถึงห้าแสนบาทแล้ว ก็ไม่ตกใจ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร" หนังเคล้าน้อยเล่าด้วยท่าทีแบบนายหนังตะลุง
หนังเคล้าน้อยเล่าว่า สิ่งที่ตนทำคือการพยายามสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย โดยเน้นไปที่เยาวชน เพราะคิดว่า ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหายแน่ ถ้า "คนรุ่นใหม่ไม่สนใจ คนรุ่นเก่าไม่ถ่ายทอด"
"จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯเพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม เด็กส่วนใหญ่ที่เข้าเรียนมาจากครอบครัวยากจน การเรียนหนังตะลุงและมโนราห์จะช่วยให้เด็กมีรายได้ เพราะทุกวันนี้กระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอยากชมศิลปะการแสดงท้องถิ่น เด็กเหล่านี้ก็สามารถไปแสดงให้ชมตามงานหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้ เด็กก็มีรายได้เสริม นอกจากนี้ศิลปะการแสดงยังช่วยขัดเกลาจิตใจแก่ทั้งตัวเด็กเองและผู้รับชม เพราะเนื้อหาจะสอดแทรกธรรมะคติสอนใจในการดำเนินชีวิต"
และในวันนี้ดูเหมือน 'เพชรน้อย' แห่งศิลปะการแสดงหนังตะลุงได้เริ่มฉายแววเพิ่มขึ้นมาอีกเม็ดหนึ่งแล้ว...
เมื่อ "หนังสิงหา หลานเคล้าน้อย" หรือเด็กชายสิงหา โรจนเมธากุล วัยเพียง 9 ขวบ ผู้เป็นหลานตาของหนังเคล้าน้อย สามารถแสดงหนังตะลุงให้ผู้ชมรับชมได้ ทั้งเนื้อหาสาระและความบันเทิงใจ
ทั้งนี้หนังสิงหาสนใจชมหนังตะลุงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ทั้งชมจากแผ่นซีดีและชมการแสดงจริง เมื่อหนังเคล้าน้อยเห็นว่าผู้เป็นหลานสนใจ มีแววสืบทอดศิลปะการแสดงต่อจากตนเองได้ ก็ช่วยฝึกหัดการขับกลอน การเชิดรูป การเล่าเรื่อง จนเด็กชายสิงหาสามารถพากย์เสียงตัวละครต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เป็น "นายหนัง" ได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียว
และทุกวันนี้ก็เริ่มมีชื่อเสียงแถบจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า เป็นหนังตะลุงเด็กน้อย เริ่มมีผู้ว่าจ้างเชิญไปแสดง สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้อย่างน่าทึ่งด้วยวัยเพียง 9 ขวบ
ในด้านการแสดงมโนราห์ ซึ่งหนังเคล้าเคยมีคู่ชีวิตคือมโนราห์ฉลวยเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชน มาวันนี้ได้ลูกหลานของมโนราห์ฉลวยมาช่วยสืบสานหน้าที่นี้ต่อ อย่าง "น.ส.พรปวีย์ ชนะกุล" ครูอาสาฝึกมโนราห์ ประจำศูนย์การเรียนรู้ฯ เล่าว่า
"ศูนย์แห่งนี้ครูเคล้าจะสอนการแสดงหนังตะลุงด้วยตัวเอง และจะพาคณะศิษย์ออกไปแสดงในงานต่าง ๆ ส่วนตนจะทำหน้าที่สอนมโนราห์ให้แก่เด็ก ๆ ตั้งแต่เด็กเล็กระดับอนุบาล จนถึงระดับมัธยม ปัจจุบันมีเด็กเล็กที่เข้ามาเรียน 50 กว่าคน ระดับชั้นมัธยม 20-30 คน และมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา 10 กว่าคน"
ด.ช.ธนกร พูลเกลี้ยง หรือน้องต่อ อายุ 12 ปี ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกขา ต้องเข้ารับการรักษาทุกเดือน เล่าว่า ได้เริ่มเรียนมโนราห์ตั้งแต่อยู่ ป.1 ปัจจุบันอยู่ ป.5 โดยมักได้รับบทแสดงเป็นนายพรานในเรื่องมโนราห์ แสดงมาแล้วหลายเวที
เด็กน้อยบอกว่า เขาเคยได้เงินตั้งแต่ 3,000 – 10,000 บาทในการแสดงครั้งใหญ่ ๆ และ 500 -1,000 บาทในการแสดงครั้งเล็ก ๆ ค่าตอบแทนที่ได้แต่ละครั้ง เขานำไปให้แม่ใช้จุนเจือครอบครัวและใช้รักษาตัว
ด้านผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. "ดร.ประสงค์ สังขะไชย" กล่าวว่า ในอนาคตอาจเชื่อมโยงศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ของหนังเคล้าน้อยเข้ากับการท่องเที่ยวด้วย โดยร่วมมือกับทางจังหวัดกระบี่และสมาคมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาทัศนศึกษา ก็จะสามารถทำให้ศูนย์ฯมีรายได้ด้วยตัวเอง นำไปต่อยอดได้อีก
นายหนังเคล้าน้อย อดีตนักเล่านิทานยามราตรี ที่วันนี้ผันตัวเองมาเป็นครูภูมิปัญญา สืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ให้แก่คนรุ่นใหม่ กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวังว่า...
"ผมเชื่อมั่นว่า ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะไม่หายไป ถ้าเราช่วยกันอนุรักษ์ให้ถูกวิธี
ที่สำคัญคือต้องทำให้คนรุ่นใหม่ สนใจ และคนรุ่นเก่าที่มีความรู้ต้องช่วยการต่อยอดไปสู่คนรุ่นใหม่เหล่านั้น ถ้าสองส่วนนี้ไม่เชื่อมถึงกัน ก็จบ
แต่วันนี้ผมยังมีความหวัง เมื่อเห็นว่าอย่างน้อย เด็กเล็ก ๆ อย่างหลานชายผมก็สืบทอดหนังตะลุงต่อไปได้อีกคนแล้ว
ส่วนในภาคใต้ตอนนี้ก็ยังมีหนังตะลุงอยู่หลายคณะ และผมเชื่อมั่นเรื่องการแลกเปลี่ยนผสมผสานทางวัฒนธรรม ทุกวันนี้คนใต้แต่งงานกับคนอีสาน คนเหนือแต่งงานกับคนใต้ เขยอีสาน สะใภ้เหนือ ต่างก็ดูหนังตะลุงดูหมอลำเป็น เพราะเป็นเครือญาติกัน ดังนั้นศิลปะการแสดงท้องถิ่นเหล่านั้นคงจะอยู่ไปได้อีกนาน"
หลังศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงและมโนราห์ มีลำประโดงอยู่แห่งหนึ่ง ตอนนี้หนังเคล้าน้อย ปล่อยปลาไว้แล้วหลากหลายชนิด
พื้นที่ติดกันเป็นที่นาร้างหลายไร่ หนังเคล้าน้อยเปรยว่า ไม่อยากทิ้งไว้ให้มันให้เปล่าประโยชน์ เขากำลังคิดจะหว่านข้าว ออกรวงให้เป็นอาหารนก ไก่ กา เพียงหวังพลิกฟื้นพื้นที่ละแวกนี้...ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง.