ลัดเลาะสวนยาง เยือนค่ายมวย "ครูหีด" ครูสอนดี จ.กระบี่ (1)
7-8 มีนาคม กรุงเทพฯ ฝนตกทำอากาศหนาวผิดฤดู ขณะที่ภาคใต้ก็ยังมีฝนเป็นปกติ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) นำสื่อมวลชนลงสู่จังหวัดกระบี่ ชายฝั่งอันดามันเยี่ยมชมพื้นที่ศึกษาแนวทางการดำเนินชีวิตของครูสอนดี จ.กระบี่ สองท่าน คือ "ครูหีด เอียดภิรมย์ ครูมวยไทย" และ "ครูเคล้าน้อย โรจนเมธากุล ครูหนังตะลุงและมโนราห์"
__________________________________
กลางสวนยางพาราเขียวชอุ่ม ลึกจากถนนสายอ่าวลึก-พระแสง หรือทางหลวงสาย 4035 เข้ามาราวหนึ่งกิโลเมตรด้วยถนนลูกรังกว้างขนาดรถยนต์แล่นสวนกันไม่ได้ ใครจะนึกว่า วันนี้จะได้เห็นเวทีมวยขนาดมาตรฐาน พร้อมด้วยอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกระสอบทราย นวม ไปจนถึงแผ่นป้ายบอกตำราแม้ไม้มวยไทย และแผ่นป้ายเขียนคติ-คำสั่งสอนของ "ครู" ผู้เป็นเจ้าสำนัก
ทั้งหมดนี้ คือ ค่ายมวยที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาของต้นยางพารา แห่งชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่
นานหลายสิบปีมาแล้ว คนทั่วไปอาจรู้จักกันดีในนาม "ค่ายมวยครูหีด เอียดภิรมย์" แต่ในวันนี้ได้ยกระดับเป็น "ศูนย์ส่งเสริมศิลปะแม่ไม้มวยไทย" ซึ่งจะเป็นอย่างในวันนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่มี "ครูหีด เอียดภิรมย์" เป็นผู้อุทิศตนให้ทั้งชีวิต
ครูหีด เอียดภิรมย์ ในวัย 78 ปี เล่าว่า สมัยยังเด็กได้รับการฝึกหัดมวยจากอาจารย์เสือที่จังหวัดพัทลุง ในอดีตเคยชกมวยคาดเชือกมาก่อน ต่อมาได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านทุ่งพัฒนาเมื่อ 35 ปีก่อน หลังจากนั้น 3-4 ปี ก็ได้ใช้สถานที่บ้านของตัวเอง เป็นที่ฝึกสอนมวยให้กับลูก ๆ และเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน โดยฝึกสอนกันบนพื้นดิน ใช้อุปกรณ์ที่ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น กระสอบทรายก็ทำจากถุงปุ๋ยยัดขี้เลื่อยหรือแกลบผสมทรายแล้วใช้เชือกมัดแขวนกับต้นไม้ หรือนำเสาไม้มาทำเป็นไม้กางเขนออกแล้วใช้กระสอบทรายแขวน เพื่อให้เยาวชนที่มาเรียนได้ใช้ฝึกซ้อม
"ผมดึงเอาเด็กที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง เด็กยากจนหรือเด็กมีปัญหาครอบครัว ให้มาอยู่ แล้วสอนวิชามวยให้ หลัง ๆ เด็กมาสมัครเอง ผมก็สอนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไรเลย มาตั้งแต่แรกจนถึงทุกวันนี้"
ครูหีดบอกปณิธานอันแน่วแน่ของตน คือ การสอนวิชามวยให้เยาวชนโดยไม่เรียกเก็บเงินใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีค่าใช่จ่ายที่ต้องแบกรับ แต่ครูหีดบอกว่า สวนยางที่มีอยู่หลายสิบไร่ ก็พอจะมาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้
เพราะสิ่งที่หวังสูงสุดก็คือ หวังให้เยาวชนได้สืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทยไม่ให้สูญหาย และให้เยาวชนได้นำมวยไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต โดยเฉพาะการเป็นอาชีพที่ใช้เลี้ยงตัวเองได้
ครูหีดได้สอนเด็ก ทำให้ค่าย ว.รุ่งนิรันดร์ เป็นที่รู้จักกันในภาคใต้ มีนักมวยจากปลายพระยาขึ้นไปปรากฏบนเวทีระดับประเทศหลายเวที นักมวยในค่ายได้แชมป์ระดับประเทศบ่อยครั้ง รวมทั้งลูกชายทั้งหมดของครูหีดซึ่งได้ประสบความสำเร็จในอาชีพนักมวยเป็นที่รู้จักอย่างดีในนาม "ตระกูลมวยไทยคนเหล็ก 7 สีกระบี่"
ส่วนเยาวชนหลายคนสามารถชกมวยเป็นอาชีพ หารายได้ส่งตัวเองเรียน มีรายได้ส่งให้ครอบครัว
ด้วยผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นที่ประจักษ์ชัดมายาวนาน ภาครัฐจึงได้เข้ามาสนับสนุนในเวลาต่อมา โดยนายจเร ปานจีน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปลายพระยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการได้รู้จักกับครูหีด เอียดภิรมย์ จนนำมาสู่การสนับสนุนค่ายมวยของครูหีดโดยเทศบาลตำบลปลายพระยาว่า เดิมทีตนเป็นคนชอบดูมวยตู้อยู่ก่อนแล้ว และชื่นชอบนักมวยฝีมือดีคนหนึ่ง คือ "รุ่งโรจน์ ศักดิ์ถวิล" ทราบว่าเป็นนักมวยชาวกระบี่ ด้วยความสนใจจึงสืบสาวมาจนพบว่า นักมวยคนนี้คือลูกชายของครูหีดนั่นเอง
ประกอบกับในปี 2555 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ดำเนินโครงการ ยกย่องเชิดชู "ครูสอนดี" ทางเทศบาลตำบลปลายพระยา จึงได้คัดเลือกครูดีในชุมชน ส่งชื่อครูหีด เอียดภิรมย์ เข้าเสนอ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนดี ด้านครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และ "ครูผู้ได้รับทุนครูสอนดี" ของจังหวัดกระบี่ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้ได้งบประมาณจำนวนหนึ่งมาพัฒนาค่ายมวยให้มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม จนได้ระดับมาตรฐาน
ในทางกายภาพ ทางเทศบาลได้ปรับปรุงเส้นทางถนนลูกรังความยาวกว่า 1 กิโลเมตร พร้อมทั้งเดินสายไฟฟ้ากำลังต่ำเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีไฟฟ้า ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ และเทศบาลตำบลปลายพระยาได้ช่วยจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมศิลปะแม่ไม้มวยไทย เน้นการอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ ส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถนำทักษะ เทคนิค ประสบการณ์จากการฝึกฝนไปประกอบอาชีพได้ โดยทุกวันนี้มีเยาวชนมาอยู่ฝึกหัดมวยที่ค่ายครูหีดประมาณ 20 คน
อย่างไรก็ตาม ขั้นชื่อว่าชกมวย สิ่งที่ควบคู่กันมาก็คือการ "เจ็บตัว" พ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายจึงเป็นห่วงไม่อยากให้ลูกมาหัดชกมวย เพราะกลัวลูกจะเจ็บตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ "ไกรชิต เอียดภิรมย์" บุตรชายครูหีด อดีตนักมวยชื่อ "รุ่งเพชร ว.รุ่งนิรันดร์" ปัจจุบันเป็นครูฝึกประจำค่าย ดูแลฝึกสอนเยาวชน 10 กว่าคน ตั้งแต่เวลา 17:00-19:00 น.หลังเลิกเรียนของทุกวันบอกว่า
"ใจจริงก็ไม่มีใครอยากให้เด็กเจ็บตัว อยากให้มองประโยชน์ที่เด็กจะได้มากกว่า ไม่ได้หวังให้เด็กไปเป็นนักมวยอาชีพทุกคน แค่อยากให้เด็กมาซ้อม เพื่อออกกำลังกาย เอาไว้ใช้ป้องกันตัว และให้มีอะไรทำดีกว่าไปยุ่งกับยาเสพติดมากกว่า" บุตรชายครูหีดเผย
สอดคล้องกับคำพูดของนายเอกวัฒน์ ชุมศรีจันทร์ อายุ 18 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.5 นักมวยในค่ายที่มีฝีมือ เป็นนักชกอาชีพในชื่อ เพชรทวีศักดิ์ ว.รุ่งนิรันดร์ เล่าว่า เหตุที่มาเลือกเรียนมวยไทย เพราะเพื่อนใกล้บ้านยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมเปิดเผยถึงค่าตัวในการชกต่อไฟต์ด้วยว่า ขณะนี้ค่าตัวอยู่ที่ 28,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว เขาเหลือรายได้เกือบสองหมื่นบาท ไว้ส่งเสียตัวเองเรียน และช่วยเหลือครอบครัวได้ด้วย
"ส่วนความฝันสูงสุดในอนาคต คือการได้เป็นแชมป์ในเวทีมวยมาตรฐานสากลระดับประเทศ อย่างเวทีลุมพินี และเวทีราชดำเนิน" เพชรทวีศักดิ์ ว.รุ่งนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้ายกับเรา ด้วยแววตามีประกาย.....
พรุ่งนี้ตามอ่านเรื่องราว "ครูเคล้าน้อย โรจนเมธากุล ครูหนังตะลุงและมโนราห์" เป็นตอนจบ