มูลนิธิปิดทองฯ เผยผลงาน 3 ปีพัฒนาชุมชนตามแนวพระราชดำริ-เพิ่มรายได้เกษตรกร 237 %
ปิดทองหลังพระฯ โชว์ผลงาน 3 ปี พัฒนาชุมชนชายขอบน่าน-อุดร-โป่งลึกบางกลอย เพิ่มรายได้ 237% เผยนายกฯเห็นชอบยกร่างระเบียบสำนักนายกฯพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ-ปฏิบัติจริง สู่ระบบราชการ
เร็วๆนี้ ที่โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดแถลงข่าว ‘ก้าวสู่ปีที่ 4 ปิดทองหลังพระฯ ชุมชนพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน’ โดยม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดฯ นับแต่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 52 ว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้น้อมนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งครอบคลุม ๖ มิติ คือ น้ำ ดิน ป่า เกษตร พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อม มาส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่จ.น่าน จ.อุดรธานี และสร้างต้นแบบการพัฒนาที่ประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ต.ห้วยสัก จ.เชียงราย ร่วมกับมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์
โดยผลจากการดำเนินการโครงการต้นแบบทั้ง 3 แห่งพบว่าประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้ทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร เช่น พื้นที่โครงการต้นแบบ จ.น่าน ในพื้นที่ 5 ตำบล ซึ่งเดิมเป็นจังหวัดที่มีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ดินเสื่อมด้วยสารตกค้างจากการใช้สารเคมีเกษตรเข้มข้น ชาวบ้านยากจนเป็นหนี้สิน เมื่อได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพตามแนวพระราชดำริจากมูลนิธิฯ ปัจจุบันผลผลิตข้าวของชาวน่านเพิ่มขึ้นจากเดิม 39 ถังต่อไร่ เป็น 64 ถังต่อไร่ มีการปลูกพืชหลังนา ที่ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านยอด อ.สองแคว มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 237 จาก 1.2 หมื่นบาทต่อปี(2553) เป็น 4.2 หมื่นบาท ต่อปี (2554) และมีเงินออมมากขึ้นถึงร้อยละ 940 หนี้สินลดลงร้อยละ 10.38
ขณะที่จ.อุดรธานี ผลของการพัฒนาปรับปรังระบบน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายซึ่งเดิมยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรในพื้นที่จึงมีน้ำใช้ตลอดปี ประกอบกับการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน ทำให้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี มูลค่าผลผลิตข้าวปี 2555 เพิ่มจาก 3.9 ล้านบาท เป็น 13 ล้านบาท ผลผลิตข้าวเพิ่มจาก 35 ถังต่อไร่ เป็น 60 ถังต่อไร่ และมีรายได้จากการขายสุกรเหมยซานแล้วกว่า 1 ล้านบาท โดยมีกองทุนที่เกิดจากความคิดของชาวบ้าน 9 กองทุน ที่เชื่อมโยง เอื้อประโยชน์แก่กันครบวงจร
“ความสำเร็จที่ได้รับการพิสูจน์จากโครงการต้นแบบ ทำให้หน่วยงานที่เคยร่วมงานด้วย คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นำปรัชญา และวิธีการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มากำหนดเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดินปี 2555-2558 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 ภายใต้ชื่อแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว
โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับหลายส่วนราชการ ได้แก่ กองทัพบก กษ. มท. ทส. และจังหวัดเพชรบุรี ในการแก้ไขปัญหาของชาวกะหร่าง บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับอุทยานกรณีการจำกัดสิทธิการทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนอดอยาก ทำมาหากินลำบาก จนกระทั่งทุกอย่างได้รับการคลี่คลาย และชาวกะหร่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ทำแปลงผัก และพัฒนาระบบน้ำให้เข้าถึงครัวเรือน
แผนงานสำคัญต่อไปของมูลนิธิฯนอกจากจะกำหนดพื้นที่ขยายผลทุกภูมิภาคไว้รวม 10 จังหวัดแล้ว (ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก น่าน สิงห์บุรี เพชรบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และเลย) ในปี 2556 มูลนิธิฯจะร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดต่างๆและกองทัพบก เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่โครงการตามพระราชดำริในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 2 อีก 25 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดเพิ่มเติมด้วย
“ปี 2556 จะเป็นก้าวสำคัญของปิดทองหลังพระฯ ในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริให้เป็นระบบปกติของราชการ หมายความว่าการทำงานของราชการจะยึดตามแนวทางของปิดทองฯ ที่จะต้องพัฒนาด้วยการปฏิบัติจริงและวัดผลได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วขณะนี้ โดยสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำลังยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่เชิงประยุกต์ขึ้น ” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระกล่าว