จี้กสทช. นิยาม ‘ทีวีสาธารณะ-ชุมชน’ ให้ชัด ป้องกันเอกชน-รัฐแฝงทำประโยชน์
เครือข่ายผู้บริโภคชี้ ‘ทีวีสาธารณะและชุมชนที่อยากเห็น’ ต้องบัญญัตินิยามสาธารณะ-ชุมชนชัด ป้องกันนายทุน-รัฐครอบงำ หวังผุดรายการรู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ
วันที่ 8 มี.ค. 56 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคกับทีวีดิจิตอล ครั้งที่ 1 เรื่อง ‘ทีวีสาธารณะและชุมชนที่อยากเห็น’ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค
สืบเนื่องจากกสทช. เตรียมเปลี่ยนผ่านการทดลองรับส่งสัญญาณออกอากาศทีวีจากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลภายในปี 56 ซึ่งจะมีการแบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล 48 ช่องรายการ ได้แก่ ประเภทช่องรายการบริการชุมชน 12 ช่อง, บริการสาธารณะ 12 ช่อง และบริการธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งแบ่งเป็นช่องรายการที่มีความละเอียดปกติ (เอสดี) 20 ช่อง และละเอียดสูง (เอชดี) 4 ช่อง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ช่องฟรีทีวีได้ประกาศตัวเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลกลางปีนี้แล้ว โดยจะทดลองออกอากาศด้วยระบบอนาล็อกคู่ขนานกับดิจิตอล มีช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ใช้ช่องดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ ส่วนช่อง 3,7 และ9 ใช้ช่องบริการชุมชน
นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า กสทช.ต้องควบคุมหลักเกณฑ์การมอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะและชุมชนอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และไม่ให้ตกอยู่ในการครอบครองของกลุ่มทุนขนาดใหญ่และหน่วยงานของรัฐ ประกอบกับต้องคัดสรรรายการที่มีคุณภาพนำเสนอสู่สาธารณะ มิใช่เหมือนฟรีทีวีปัจจุบันที่มีโฆษณาชวนเชื่อจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น กรณีโฆษณาส่งชิงโชคฝาชาเขียวยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ โดยลืมคำนึงว่าอาจก่อให้เกิดโรคตามมา อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ
นายพรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล ตัวแทนผู้บริโภค จ.เชียงราย กล่าวว่า แต่ละพื้นที่มีความต้องการรับรู้ข่าวสารแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การแต่งกาย แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับชมรายการที่ตอบสนองความต้องการ เพราะช่องรายการมักนำเสนอเนื้อหาที่แฝงไปด้วยการกระตุ้นบริโภคเป็นหลัก ทำให้ประชาชนที่ขาดความรู้หลงเชื่อได้ง่าย แม้กระทั่งช่องไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนมากนัก เนื่องจากผังรายการมีความหลากหลาย ดังนั้นกสทช.ต้องควบคุมผังรายการให้เกิดประโยชน์และป้องกันการแปลงร่างของกลุ่มทุนครอบครองใบอนุญาตฯ จนทำให้โอกาสของภาคประชาชนในการรับข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสมหลุดลอยไป
ด้านนายบุญจันทร์ จันทร์หม้อ เครือข่ายผู้บริโภคกลุ่มชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยกว่า 40 กลุ่ม ซึ่งมักตกเป็นจำเลยสังคมโดยไม่มีช่องทางได้ชี้แจง เช่น เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาหมอกควันหรือโลกร้อน จึงวิงวอนให้กสทช.จัดสรรช่องรายการที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มชาติพันธุ์ให้อยู่ในสัดส่วนช่องรายการสาธารณะหรือชุมชนด้วย เพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน กล่าวว่า หากเราอยากเห็นทีวีสาธารณะและชุมชนที่กระจายไปยังกลุ่มต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงของกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน และกสทช.ต้องไม่เน้นการออกแบบกลไกแข่งขันแบบเสรี เพราะจะทำให้คนที่มีความพร้อมกว่าได้สิทธิไป แต่ควรสร้างกรอบคิดที่นอกเหนือจากการแข่งขัน เพราะถ้าปล่อยให้มีการแข่งขันแบบเสรีจะไม่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรได้รับ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อจะต้องนำไปสู่การเกิดความเสมอภาคในกลุ่มผู้บริโภคให้ได้
ขณะที่น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธุ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กสทช.ต้องบัญญัตินิยามคำว่า สาธารณะ และชุมชน ให้ชัดเจน เช่น ช่องบริการสาธารณะที่เน้นด้านความมั่นคงของรัฐ ต้องไม่ใช่เรื่องของทหาร หน่วยงานราชการ แต่ต้องเป็นความมั่นคงของรัฐที่มีประชาชนมีส่วนร่วม นอกจากนี้เรียกร้องให้มีรายการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้แก่ผู้บริโภคให้รู้เท่าทันสื่อ โดยอาจออกเป็นระเบียบที่ชัดเจน ส่วนกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ก็ไม่ได้ระบุว่าสามารถขอได้รายละกี่ช่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการขอรับใบอนุญาตฯได้
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า จะนำเอาความคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน รวมทั้งสมาคมวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ยื่นข้อเสนอให้มีการออกใบอนุญาตช่องสาธารณะที่พิจารณาในแบบเนื้อหาสาระประโยชน์ โดยเบื้องต้นได้หลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ประเภท คือ1.ประเภทส่งเสริมความรู้ อาทิ การเกษตร การศึกษา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ 2. เพื่อความมั่นคงของรัฐ และ 3. ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งควรมีการกำหนดคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้คาดหวังว่าหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจะมีการแก้ไขให้ลงรายละเอียดมากกว่านี้ เช่น ทีวีสาธารณะที่ระบุเพียงว่าให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเเละองค์กรที่ไม่เเสวงหาผลกำไรก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กว้างเกิน