ชำแหละคดีกรือเซะ-28 เมษาฯ กับปัญหากระบวนการ "ไต่สวนการตาย"
เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เหตุการณ์กรือเซะ" นั้น เป็นอีกกรณีหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามทั้งในแง่ของความล่าช้าและประสิทธิภาพในการค้นหาความจริง จะว่าไปจนถึงปัจจุบันนี้...ผ่านมา 7 ปีแล้ว แทบไม่มีใครรู้รายละเอียดเลยว่าคดีความที่เป็นผลจากเหตุการณ์ร้ายในวันนั้นมีกี่คดี และแต่ละคดีคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว
ย้อนรอยโศกนาฏกรรม 28 เมษาฯ
"เหตุการณ์กรือเซะ" ที่คนสนใจปัญหาภาคใต้เรียกกันจนติดปาก แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานีแห่งเดียวเท่านั้น เพียงแต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย แต่ยังมีความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีกนับสิบจุด ตามการบุกโจมตีป้อมจุดตรวจของกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคน ไล่เรียงได้ดังนี้
พื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 6 จุด ได้แก่
1.จุดตรวจบ้านเนียง ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ขึ้นกับ สภ.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
2.หน่วยที่ตั้งทหาร กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน 4) ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา
3.สภ.กิ่ง อ.กรงปินัง จ.ยะลา
4.ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4202 บ้านกาจะลากี หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
5.ฐานปฏิบัติการชุดมวลชนสัมพันธ์ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 บ้านบาโงย ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา
6.ชุดสันตินิมิตรที่ 403 บ้านบัวทอง หมู่ 2 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา
พื้นที่ จ.ปัตตานี มี 3 จุด ได้แก่
1.จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี
2.จุดตรวจเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
3.สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
พื้นที่ จ.สงขลา มี 1 จุด ได้แก่ จุดตรวจบริการประชาชน บริเวณตลาดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์และวัยรุ่นมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่มีมีดกับกริชเป็นอาวุธ เฮโลกันบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจรวม 10 แห่งดังกล่าว และเกิดการปะทะกันกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ สร้างความสูญเสียทั้งสองฝ่ายถึง 108 ชีวิต จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 7 ปีไฟใต้
คับแค้นในใจมิเคยคลาย
"เหตุการณ์กรือเซะ" ล่วงผ่านมาถึง 7 ปีแล้ว แม้คนไทยส่วนใหญ่จะเริ่มหลงลืมกันไป แต่คนในพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่ลืม เพราะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ลึกล้ำ เกี่ยวพันทั้งปมประวัติศาสตร์ ศาสนา และความไม่สงบ
ปัทมา หีมมินะ เครือข่ายกลุ่มด้วยใจ และแกนนำชาวบ้านจาก อ.สะบ้าย้อย ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย เผยความรู้สึกว่า สำหรับคนสะบ้าย้อยแล้ว เหตุการณ์ในวันนั้น (เยาวชนทีมฟุตบอลสะบ้าย้อยเสียชีวิตทั้งหมด 19 คน) ชาวบ้านไม่อยากพูดถึงกันแล้ว เพราะพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ พูดไปก็ไม่มีใครฟังความเจ็บปวดของชาวบ้าน เช่นเดียวกับเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นในบ้านของพระเจ้า (มัสยิด) ชาวบ้านยังคงจดจำภาพที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในบ้านของพระเจ้าได้ ทุกคนตั้งคำถามว่าไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุยอมมอบตัว
"ชาวบ้านยังมีความคับแค้นอยู่ แต่ไม่แสดงอะไรออกมามาก" ปัทมา บอก
แกนนำกลุ่มด้วยใจ กล่าวอีกว่า หลังเหตุการณ์ร้ายผ่านไป ยังมีปัญหาเรื่องการเยียวยาด้วย เพราะส่วนใหญ่เท่าที่เห็นก็แก้กันในห้องประชุม ในห้องแอร์ ไปสัมมนากี่ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ พาไปเที่ยว ก็ได้แค่เที่ยว ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องสิทธิพลเมืองหรือการต่อสู้เพื่อสันติภาพ
"รัฐทำให้เหมือนว่าประชาชนฉลาดน้อยลง เพราะมุ่งแต่ส่งเสริมให้ไปเที่ยว ไปดูอาชีพ อยากให้เรื่องนี้จบสักที แต่ตอนนี้เรื่องคงยังวนไปเวียนมาไม่คืบหน้า เหมือนกับว่าภาครัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา" ปัทมา กล่าว
"ไต่สวนการตาย" กับกลไกพิการ
ดังที่เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ผลสะเทือนจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯ ที่ทุกฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความรู้สึก "ไม่เป็นธรรม" หรือ "อยุติธรรม" ที่ชาวบ้านได้รับ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ในเหตุการณ์กรือเซะซึ่งหมายถึงเหตุปะทะและความรุนแรงจากทุกพื้นที่นั้น มีการ "ไต่สวนการตาย" ซึ่งเป็นกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 ทุกคดีฝ่ายประชาชนผู้สูญเสียได้แต่งทนายเข้าร้องคัดค้าน ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยจะมีทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตที่อาจจะต้องการทราบรายละเอียดของการเสียชีวิตของญาติของตน
อย่างไรก็ดี ผลของกระบวนการไต่สวนการตายทั้งหมดยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้ เช่น กรณีเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะที่มีผู้เสียชีวิต 32 ราย และเหตุการณ์ที่ป้อมตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย ซึ่งมีเยาวชนนักฟุตบอลเสียชีวิต 19 ราย มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ชุดที่ปฏิบัติงานอยู่ในขณะนั้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่กระบวนการต่อเนื่องจากการไต่สวนการตายกลับไม่เดินหน้า
"ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ ในเหตุการณ์ที่สะบ้าย้อยมีหลักฐานว่าบาดแผลเกิดจากการยิงระยะเผาขนในลักษณะที่เยาวชนบางส่วนยอมแล้วและอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัว แต่หลังคดีไต่สวนการตาย พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาว่าเห็นควรสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือไม่ กลับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรม เมื่อเป็นแบบนี้ทางญาติผู้เสียชีวิตก็ไม่มีกำลังจะไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือฟ้องคดีอาญาเองได้ จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน" พรเพ็ญ กล่าว
รู้จักกระบวนการ "ไต่สวนการตาย"
อนึ่ง กระบวนการไต่สวนการตายที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 150 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่วงดุลการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) เพราะให้อำนาจศาลไต่สวนการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ (วิสามัญฆาตกรรม) หรือตายระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่
ป.วิอาญา มาตรา 150 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ทั้งนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
วิสามัญฆาตกรรมท่วม-สั่งไม่ฟ้องเกือบทุกคดี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่า คดีความมั่นคงที่พนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องมีจำนวน 152 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมถึง 103 คดี จากจำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมทั้งหมด 121 คดี
ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ให้ข้อมูลล่าสุดเอาไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า จำนวนผู้ต้องหาที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมมีทั้งสิ้น 133 ราย เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจำนวน 364 หมาย
พรเพ็ญ เห็นว่า การที่ตัวเลขคดีวิสามัญฆาตกรรมค่อนข้างสูง และเกือบทั้งหมดยังไม่ถูกสั่งฟ้องขึ้นสู่ศาล ทั้งๆ ที่หลายคดีคำสั่งศาลกรณีไต่สวนการตายชี้ค่อนข้างชัดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการไต่สวนการตาย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้นำคำสั่งไต่สวนการตายโยงไปถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นกระทำเกินกว่าเหตุ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผู้กระทำต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
"คนทำงานด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเห็นว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น เช่น การตรวจสถานที่เกิดเหตุ การชันสูตรพลิกศพ และการผ่าพิสูจน์ศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตในระหว่างการปะทะ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งในการไต่สวนการตายในชั้นศาลของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อาจบกพร่องและไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีเหล่านี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ญาติไม่สามารถแสวงหาหลักฐานพยานเพื่อยืนยันความเชื่อหรือสิ่งที่ตนเองเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้าข่ายเกินกว่าเหตุได้ จนทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยื่นมือเข้ามาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตได้"
"ผลของความคลุมเครือเหล่านี้ได้นำไปสู่การสร้างข่าวลือที่ก่อให้เกิดความแตกแยกและชิงชังระหว่างญาติหรือชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็เชื่อมั่นในการกระทำของตนในการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ" พรเพ็ญ ระบุ
เพื่อความยุติธรรมหรือแค่ "พิธีกรรม"
จากการสำรวจข้อมูลของศาลจังหวัดยะลา พบว่าตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2553 มีคดีไต่สวนการตายทั้งหมด 77 คดี ผู้เสียชีวิตทั้งหมดรวม 114 ราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและถูกระบุชื่อจำนวน 37 ราย ที่เหลือผู้เสียหายไม่สามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ได้
จำนวนคดีทั้งหมดนั้น แบ่งเป็นประเภทคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 42 คดี อื่นๆ 26 คดี ไม่ทราบประเภทคดี 9 คดี ประเภทการเสียชีวิต แยกเป็นเพราะเหตุปะทะหรืออ้างว่าต่อสู้ 50 คดี ป่วย 21 อื่นๆ 6 คดี มีเพียง 5 คดีที่มีการตั้งทนายความยื่นคัดค้านในนามของญาติผู้เสียชีวิต
พรเพ็ญ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในระยะเวลา 7 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ มีเพียงไม่กี่คดีที่มีการร้องคัดค้านหรือขอเข้าร่วมซักถามพยานโจทก์จากฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิต ตัวเลขจากศาลจังหวัดยะลาแค่ 5 คดีจาก 77 คดี ผลก็คือในคดีที่ไม่มีการร้องคัดค้าน ส่วนใหญ่จะมีการระบุไว้ในคำพิพากษาเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลว่าญาติไม่ติดใจเอาความ เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างเอาไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีด้วย
"สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการตาม ป.วิอาญามาตรา 150 ส่วนใหญ่เป็นการกระทำในเชิงพิธีกรรมเพื่อให้บรรลุตามที่กฎหมายกำหนด แต่ขาดการตรวจสอบจากฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการ หรือไม่อยากเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดเป็นช่องว่างนำไปสู่การละเมิดสิทธิได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ และมีสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่านอกระบบกฎหมายอย่างง่ายดาย ทั้งยังขาดการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่นๆ เพราะโดยส่วนใหญ่ศาลจะสามารถรับฟังพยานจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติการตามหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น" พรเพ็ญ กล่าว
และทั้งหมดนี้คือความจริงในกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่ค่อยมีใครได้รับรู้ กับ "ความเป็นธรรม" ที่ครอบครัวผู้สูญเสียยังตามหา...ในวาระที่โศกนาฏกรรมกรือเซะผ่านมาครบ 7 ปีเต็ม!
--------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพป้ายหน้ามัสยิดกรือเซะที่มีรอยกระสุน จากบล็อคโอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/sigreebinmamak/2009/11/03/entry-1