ย้อนดูสถิติรุนแรง 5 เดือน...ไฟใต้ระอุ เหตุร้ายกระจาย พุ่งเป้าไทยพุทธเขตเมือง!
หากพิจารณาในแง่ความรู้สึก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปี 2554 รุนแรงมากขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ทำให้คำประกาศของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่ย้ำว่าภาพรวมของสถานการณ์ดีขึ้นนั้น ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่าความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ
จะว่าไปบรรยากาศในพื้นที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เสมือนหนึ่งเมฆฝนกำลังตั้งเค้า "ทีมข่าวอิศรา" จึงขอพาย้อนกลับไปดูสถิติเหตุรุนแรงนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ.2554
ไฟใต้ 7 ปีงบประมาณสังเวย 4,102 ศพ
นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553 ในทางราชการไทยถือว่าเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ คือปีงบประมาณ 2554 ฉะนั้นหน่วยงานความมั่นคงโดยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้สรุปสถิติความสูญเสียรวมนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 (ช่วงเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547) จนถึงวันที่ 31 ต.ค.2553 ด้วย
สถิติในภาพรวมพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 4,102 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,698 ราย อิสลาม 2,289 ราย ไม่ระบุศาสนา 116 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7,195 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,420 ราย อิสลาม 2,291 ราย ไม่ระบุศาสนา 483 ราย
ตุลาฯป่วน 82 ครั้ง นราธิวาสหนักสุด
สำหรับสถิติเหตุรุนแรงเฉพาะเดือน ต.ค.2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 82 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 51 ครั้ง เหตุระเบิด 29 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง วางเพลิง 1 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์ที่ได้รับการสรุปแล้วว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ (เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น ยาเสพติด ฯลฯ) เกิดขึ้น 21 ครั้ง
ทั้งนี้ สามารถแยกข้อมูลรายจังหวัดได้ดังนี้
ยะลา 18 ครั้ง เป็นเหตุยิง 14 ครั้ง เหตุระเบิด 4 ครั้ง
ปัตตานี 26 ครั้ง เป็นเหตุยิง 23 ครั้ง เหตุระเบิด 3 ครั้ง
นราธิวาส 37 ครั้ง เป็นเหตุยิง 14 ครั้ง เหตุระเบิด 21 ครั้ง เหตุก่อกวน 1 ครั้ง และเหตุวางเพลิง 1 ครั้ง
สงขลา 1 ครั้ง เป็นเหตุระเบิด
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับอำเภอจะพบสถิติเหตุรุนแรงดังนี้
ยะลา แยกเป็นอำเภอเมือง 5 ครั้ง อ.รามัน 10 ครั้ง อ.ยะหา 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 2 ครั้ง
ปัตตานี แยกเป็นอำเภอเมือง 4 ครั้ง อ.ยะรัง 3 ครั้ง อ.ยะหริ่ง 1 ครั้ง อ.ปะนาเระ 1 ครั้ง อ.หนองจิก 4 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ 4 ครั้ง อ.มายอ 1 ครั้ง อ.กะพ้อ 1 ครั้ง อ.สายบุรี 6 ครั้ง อ.ไม้แก่น 1 ครั้ง
นราธิวาส แยกเป็นอำเภอเมือง 4 ครั้ง อ.รือเสาะ 9 ครั้ง อ.เจาะไอร้อง 2 ครั้ง อ.สุไหงปาดี 3 ครั้ง อ.ยี่งอ 2 ครั้ง อ.บาเจาะ 2 ครั้ง อ.จะแนะ 3 ครั้ง อ.แว้ง 1 ครั้ง อ.สุคีริน 2 ครั้ง อ.สุไหงโก-ลก 2 ครั้ง อ.ตากใบ 1 ครั้ง อ.ศรีสาคร 2 ครั้ง อ.ระแงะ 4 ครั้ง
สงขลา เกิดที่ อ.จะนะ 1 ครั้ง
พฤศจิกาฯเหตุรุนแรงวูบเหลือแค่ 32 ครั้ง
เดือน พ.ย.2553 สถิติความสูญเสียรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2553 มียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,122 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,705 ราย อิสลาม 2,300 ราย ไม่ระบุศาสนา 117 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7,224 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,439 ราย อิสลาม 2,303 ราย ไม่ระบุศาสนา 483 ราย
สถิติเหตุรุนแรงเฉพาะเดือน พ.ย.2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 32 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิง 25 ครั้ง เหตุระเบิด 7 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์ที่ได้รับการสรุปแล้วว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 22 ครั้ง
ทั้งนี้ สามารถแยกข้อมูลรายจังหวัดได้ดังนี้
ยะลา 12 ครั้ง เป็นเหตุยิง 9 ครั้ง เหตุระเบิด 3 ครั้ง
ปัตตานี 6 ครั้ง เป็นเหตุยิงทั้ง 6 ครั้ง
นราธิวาส 12 ครั้ง เป็นเหตุยิง 9 ครั้ง เหตุระเบิด 3 ครั้ง
สงขลา 2 ครั้ง เป็นเหตุยิง 1 ครั้ง เหตุระเบิด 1 ครั้ง
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับอำเภอจะพบสถิติเหตุรุนแรงดังนี้
ยะลา แยกเป็นอำเภอเมือง 1 ครั้ง อ.รามัน 5 ครั้ง อ.กรงปินัง 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 4 ครั้ง อ.ธารโต 1 ครั้ง
ปัตตานี แยกเป็น อ.ยะรัง 2 ครั้ง อ.แม่ลาน 1 ครั้ง อ.หนองจิก 1 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ 1 ครั้ง อ.กะพ้อ 1 ครั้ง
นราธิวาส แยกเป็น อ.รือเสาะ 4 ครั้ง อ.สุไหงปาดี 2 ครั้ง อ.บาเจาะ 3 ครั้ง อ.ศรีสาคร 1 ครั้ง อ.ระแงะ 1 ครั้ง
สงขลา แยกเป็น อ.นาทวี 1 ครั้ง อ.สะบ้าย้อย 1 ครั้ง
ธันวาฯเหตุร้ายพุ่ง 46 ครั้ง ปัตตานีแชมป์
ณ เดือน ธ.ค. เดือนสุดท้ายของปี 2553 สถิติความสูญเสียรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,146 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,717 ราย อิสลาม 2,311 ราย ไม่ระบุศาสนา 118 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7,263 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,460 ราย อิสลาม 2,319 ราย ไม่ระบุศาสนา 484 ราย
สถิติเหตุรุนแรงเฉพาะเดือน ธ.ค.2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 46 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิง 39 ครั้ง เหตุระเบิด 6 ครั้ง เหตุวางเพลิง 1 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์ที่ได้รับการสรุปแล้วว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 27 ครั้ง
ทั้งนี้ สามารถแยกข้อมูลรายจังหวัดได้ดังนี้
ยะลา 9 ครั้ง เป็นเหตุยิง 8 ครั้ง เหตุระเบิด 1 ครั้ง
ปัตตานี 19 ครั้ง เป็นเหตุยิง 18 ครั้ง เหตุวางเพลิง 1 ครั้ง
นราธิวาส 17 ครั้ง เป็นเหตุยิง 13 ครั้ง เหตุระเบิด 4 ครั้ง
สงขลา 1 ครั้ง เป็นเหตุระเบิด
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับอำเภอจะพบสถิติเหตุรุนแรงดังนี้
ยะลา แยกเป็นอำเภอเมือง 4 ครั้ง อ.รามัน 2 ครั้ง อ.กรงปินัง 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 2 ครั้ง
ปัตตานี แยกเป็นอำเภอเมือง 3 ครั้ง อ.ยะรัง 3 ครั้ง อ.หนองจิก 4 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ 2 ครั้ง อ.มายอ 1 ครั้ง อ.กะพ้อ 2 ครั้ง อ.ทุ่งยางแดง 2 ครั้ง อ.สายบุรี 2 ครั้ง
นราธิวาส แยกเป็นอำเภอเมือง 1 ครั้ง อ.รือเสาะ 2 ครั้ง อ.เจาะไอร้อง 2 ครั้ง อ.สุไหงปาดี 1 ครั้ง อ.ยี่งอ 3 ครั้ง อ.บาเจาะ 3 ครั้ง อ.จะแนะ 2 ครั้ง อ.ระแงะ 3 ครั้ง
สงขลา เกิดขึ้นที่ อ.เทพา 1 ครั้ง
เปิดศักราชปี 54 เหตุร้ายพรวด 62 ครั้ง บึ้มถี่ยิบ
เดือน ม.ค. เดือนแรกของศักราชใหม่ 2554 สถิติความสูญเสียรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2554 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,186 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,737 ราย อิสลาม 2,331 ราย ไม่ระบุศาสนา 119 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7,321 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,491 ราย อิสลาม 2,346 ราย ไม่ระบุศาสนา 484 ราย
สถิติเหตุรุนแรงเฉพาะเดือน ม.ค.2554 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 62 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิง 44 ครั้ง เหตุระเบิด 16 ครั้ง เหตุก่อกวน 2 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์ที่ได้รับการสรุปแล้วว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 23 ครั้ง
ทั้งนี้ สามารถแยกข้อมูลรายจังหวัดได้ดังนี้
ยะลา 17 ครั้ง เป็นเหตุยิง 12 ครั้ง เหตุระเบิด 4 ครั้ง เหตุก่อกวน 1 ครั้ง
ปัตตานี 20 ครั้ง เป็นเหตุยิง 16 ครั้ง เหตุระเบิด 4 ครั้ง
นราธิวาส 24 ครั้ง เป็นเหตุยิง 15 ครั้ง เหตุระเบิด 8 ครั้ง เหตุก่อกวน 1 ครั้ง
สงขลา 1 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับอำเภอจะพบสถิติเหตุรุนแรงดังนี้
ยะลา แยกเป็นอำเภอเมือง 8 ครั้ง อ.รามัน 5 ครั้ง อ.ยะหา 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 2 ครั้ง อ.ธารโต 1 ครั้ง
ปัตตานี แยกเป็นอำเภอเมือง 6 ครั้ง อ.ยะรัง 3 ครั้ง อ.ยะหริ่ง 1 ครั้ง อ.ปะนาเระ 4 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ 1 ครั้ง อ.กะพ้อ 2 ครั้ง อ.ทุ่งยางแดง 1 ครั้ง อ.สายบุรี 2 ครั้ง
นราธิวาส แยกเป็นอำเภอเมือง 3 ครั้ง อ.รือเสาะ 1 ครั้ง อ.เจาะไอร้อง 3 ครั้ง อ.สุไหงปาดี 3 ครั้ง อ.บาเจาะ 3 ครั้ง อ.จะแนะ 4 ครั้ง อ.สุไหงโก-ลก 1 ครั้ง อ.ศรีสาคร 1 ครั้ง อ.ระแงะ 5 ครั้ง
สงขลา เกิดที่ อ.จะนะ 1 ครั้ง
ก.พ.54 ยอดตายรวม 7 ปีแตะ 4.2 พันราย!
ณ เดือน ก.พ.2554 สถิติความสูญเสียรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2554 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,223 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,755 ราย อิสลาม 2,349 ราย ไม่ระบุศาสนา 119 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7,418 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,568 ราย อิสลาม 2,366 ราย ไม่ระบุศาสนา 484 ราย
สถิติเหตุรุนแรงเฉพาะเดือน ก.พ.2554 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 52 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิง 36 ครั้ง เหตุระเบิด 15 ครั้ง เหตุก่อกวน 1 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์ที่ได้รับการสรุปแล้วว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 20 ครั้ง
ทั้งนี้ สามารถแยกข้อมูลรายจังหวัดได้ดังนี้
ยะลา 10 ครั้ง เป็นเหตุยิง 4 ครั้ง เหตุระเบิด 6 ครั้ง
ปัตตานี 27 ครั้ง เป็นเหตุยิง 21 ครั้ง เหตุระเบิด 5 ครั้ง เหตุก่อกวน 1 ครั้ง
นราธิวาส 15 ครั้ง เป็นเหตุยิง 11 ครั้ง เหตุระเบิด 4 ครั้ง
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับอำเภอจะพบสถิติเหตุรุนแรงดังนี้
ยะลา แยกเป็นอำเภอเมือง 3 ครั้ง อ.รามัน 3 ครั้ง อ.ยะหา 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 2 ครั้ง อ.เบตง 1 ครั้ง
ปัตตานี แยกเป็นอำเภอเมือง 4 ครั้ง อ.ยะรัง 3 ครั้ง อ.ยะหริ่ง 3 ครั้ง อ.ปะนาเระ 3 ครั้ง อ.หนองจิก 5 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ 4 ครั้ง อ.ทุ่งยางแดง 1 ครั้ง อ.สายบุรี 4 ครั้ง
นราธิวาส แยกเป็นอำเภอเมือง 2 ครั้ง อ.ยี่งอ 3 ครั้ง อ.บาเจาะ 1 ครั้ง อ.แว้ง 2 ครั้ง อ.ตากใบ 2 ครั้ง อ.ศรีสาคร 3 ครั้ง อ.ระแงะ 2 ครั้ง
วิเคราะห์ไฟใต้ 5 เดือนอิทธิพลเถื่อนผสมโรง
จากสถิติทั้งหมดที่ยกมา จะเห็นได้ว่าช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ต.ค.2553 ถึง ก.พ.2554) มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังสร้างความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตปกติของประชาชนค่อนข้างมาก
จากสถิติตัวเลขที่เก็บรวบรวมได้ พบว่าช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 274 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ลอบยิง 195 ครั้ง ลอบวางระเบิด 73 ครั้ง ก่อกวนรูปแบบต่างๆ 4 ครั้ง และการลอบวางเพลิง 2 ครั้ง
เมื่อเปรียบเทียบสถิติความรุนแรงใน 5 เดือนดังกล่าว พบว่าเดือน ต.ค.2553 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมากที่สุดถึง 82 เหตุการณ์ รองลงมาคือเดือน ม.ค.2554 จำนวน 62 เหตุการณ์ เดือน ก.พ.2554 จำนวน 52 เหตุการณ์ ตามด้วยเดือน ธ.ค.2553 จำนวน 46 เหตุการณ์ และเดือน พ.ย.2553 ต่ำที่สุดที่ 32 เหตุการณ์
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีก 113 เหตุการณ์ที่ผลสรุปทางด้านคดีของฝ่ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ฟันธงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในเกิดขึ้นหรือเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเหตุการณ์ในส่วนนี้มีสาเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัว และความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในธุรกิจผิดกฎหมาย
นราธิวาสอ่วมสุด-ไทยพุทธเขตเมืองตกเป็นเป้า!
หากพิจารณาแยกเป็นพื้นที่ จะพบว่า จ.นราธิวาส เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดถึง 105 เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.ปัตตานี 98 เหตุการณ์ จ.ยะลา 66 เหตุการณ์ และ จ.สงขลา 5 เหตุการณ์ ส่วนอำเภอที่มีการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุด คือ อ.รามัน จ.ยะลา 25 เหตุการณ์ รองลงมาคือ อำเภอเมืองยะลา 21 เหตุการณ์ อำเภอเมืองปัตตานี 17 เหตุการณ์ และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 16 เหตุการณ์
สถิติความสูญเสียในรอบ 5 เดือนพบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 121 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 57 ราย ศาสนาอิสลาม 60 ราย ไม่ระบุศาสนา 3 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 223 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 148 ราย อิสลาม 75 ราย และไม่ระบุศาสนา 1 ราย
นอกจากนั้นยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ การก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมาพุ่งเป้าไปยังพื้นที่เขตเมืองมากขึ้น และกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงคือกลุ่มประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธซึ่งอาศัยในเขตเมือง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม (ทั้งๆ ที่สถิติในอดีตจะน้อยกว่า) โดยที่ยอดผู้บาดเจ็บของประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธสูงกว่าอิสลามเกือบเท่าตัว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางเมืองยะลาเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2554 อีกหนึ่งเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองและย่านเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)