กรมชลฯ เตือนน้ำน้อย ปีนี้ลุ่มน้ำชี ไม่ควรทำนาปรัง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(7 มี.ค. 56) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 41,730 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ ขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำที่นำมาใช้การได้คงเหลืออยู่ 18,231 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าในหลายๆปีที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 129 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 267 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 167 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 44 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 123 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในช่วงต้นฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประกาศให้งดเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 แห่ง ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยมาก ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี , เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น , เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ , เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนดังกล่าว จะเน้นการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศน์ เป็นหลัก ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนร่วมมือกันใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้จัดสรรไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ตลอดในฤดูแล้ง
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2555/2556 เฉพาะในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุด(7 มี.ค. 56) มีการใช้น้ำไปแล้ว 990 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำอีก 539 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ อนึ่ง จากการติดตามสภาพการเพาะปลูกฤดูแล้งปีนี้ พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ตั้งแต่บริเวณท้ายฝายยโสธร-พนมไพร ลงมา มีการทำนาปรังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำในลำน้ำชีลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนให้เกษตรกรให้ความร่วมมืองดทำนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงของผลผลิตที่อาจจะเสียหายจากปัญหาการขาดแคลนน้ำได้