จำนำข้าว!! นโยบายเพาะ “เชื้อรา” ระเบิดเวลาก่อมะเร็งตับ จริงหรือ ?
ว่าด้วยเรื่อง...โครงการรับจำนำข้าว ที่นับว่าเป็นนโยบายหนึ่ง ที่มีองค์กร หน่วยงานและสื่อต่างชาติให้ความสนใจจับตามอง เพราะแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูเท่าใด รัฐบาลก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าต่อ โกยข้าวเข้าสต็อกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่น รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ (FAO) คาดว่า ปีนี้ ประเทศไทยจะมีสต็อกข้าวสารเพิ่มขึ้นเป็น 18.2 ล้านตัน อาจทำให้ไม่มีโกดังเก็บผลผลิตจากโครงการรับจำนำข้าวที่แพงกว่าราคาตลาดโลก
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 - 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่รัฐบาลริเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ได้ซื้อข้าวเปลือกแล้ว 29 ล้านตัน คาดว่า รัฐบาลมีข้าวเก็บไม่ต่ำกว่า 17-18 ล้านตัน
ในส่วนประเด็นสต็อกข้าวล้นนอนกองในโกดัง ก็มีการคาดการณ์กันด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ถึงจะระบายข้าวได้หมด ไหนยังมีความเสี่ยงสูงที่ข้าวจะเสื่อมคุณภาพลง กลายเป็น "ข้าวเน่า" อย่างที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วง
เก็บรักษาข้าวอย่างไร...
เริ่มต้นตั้งประเด็น จากการเก็บรักษาข้าวปริมาณมากๆ ในสต็อก... เจ้าของตลาดกลางข้าวเปลือกที่ใหญ่ที่สุด นางวาสนา อิศรานุรักษ์ ลูกสาวกำนันทรง (ทรง องค์ชัยวัฒนะ) หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ "ท่าข้าวกำนันทรง" ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้าวว่า
สำหรับ "ข้าวเปลือก" จะมีกรรมวิธี "ลดความชื้น" โดย
1.ตากแดด
2.เข้าเครื่องลดความชื้น
ลูกสาวกำนันทรง ยอมรับว่า ในอดีตข้าวเปลือกมีความชื้นน้อยกว่า เนื่องจากมีวิธีการผลิตแตกต่างจากปัจจุบัน ที่เป็นการเก็บเกี่ยวบนพื้นฐานที่มีความชื้น เช่น เกี่ยวตอนยังเปียก หรือขณะที่มีฝนตก ฉะนั้น ข้าวเปลือกในปัจจุบันที่เข้ามาในมือพ่อค้าจึงมีความชื้นสูงมาก ต้องนำออกมากลับด้านตากแดดจึงจะเสียหายน้อยที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่เพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น
ส่วนการเก็บรักษา "ข้าวสาร" จะนำใส่ในกระสอบ แต่วิธีการเก็บที่ดีที่สุดเพื่อรักษาคุณภาพข้าว ต้องใช้ไซโล แต่ก็ต้องลงทุนสูงมาก
เมื่อถามว่า หากการเก็บรักษาไม่ดี มีโอกาสที่ข้าวจะเสื่อมคุณภาพ เน่า หรือมีเชื้อรามากน้อยแค่ไหนนั้น นางวาสนา อธิบายว่า โครงการรับจำนำ จะมีขั้นตอนการประมูลโดยภาครัฐและบริษัทรับจ้าง "อบยา" และเซอร์เวเยอร์ โดยใช้พลาสติกคลุมข้าวแล้วอัดยาเข้าไป ฉะนั้น หากมีการอบยาตามกำหนด คุณภาพยาดี และปริมาณเหมาะสม จะบำรุงรักษาข้าวให้มีสภาพดี
อย่างไรก็ตาม เธอเห็นด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่ในภาพใหญ่ การที่ข้าวในสต็อกมีปริมาณมากในปัจจุบันจะดูแลรักษาลำบาก ยุ่งยาก และมีโอกาสเน่าเสียหาย เสื่อมคุณภาพ หรือมีเชื้อราได้มากเช่นกัน
แบบไหนที่เรียกว่า "ข้าวเน่า"
"ข้าวเน่า" เสื่อมคุณภาพหรือไม่?? แค่ตาเห็น มือสัมผัส ดมกลิ่นก็รู้แล้ว... นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ติดตามแกะรอยขั้นตอนของการจำนำข้าว ให้ข้อมูลในการวัดคุณภาพข้าวง่ายๆ ที่ประชาชนตาดำๆ ก็ทำได้
ข้าวสาร เขาบอกว่า ต้องเป็นเม็ดใส ผิวมัน ขนาดตามชนิดของข้าว ไม่มีกลิ่นหืน แต่หากข้าวเสื่อมคุณภาพ สีของข้าวเปลี่ยนไป ขุ่น เหลือง เมล็ดหัก มีกลิ่นหืน เมื่อจับจะมีฝุ่นข้าวหรือมีรังหนอน ตาดูจมูกดมก็เห็นความเปลี่ยนแปลง
ยิ่งถ้าได้กลิ่นหืนรุนแรง ก็ชัดเจนว่า "ข้าวเน่า" ซึ่งชาวบ้าน มักจะเรียกว่า ข้าวฟันหนู หรือข้าวพระ
ส่วนข้าวเปลือก ในรอบโครงการนี้นับว่าปัญหาน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลสั่งสีแปรข้าวภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารก็ดูแลรักษายากไม่ต่างกัน และมีความเสี่ยงที่จะเสียหายมากกว่าข้าวเปลือกด้วยซ้ำไป
แต่สำหรับการเสื่อมคุณภาพที่ "มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า" เช่น เชื้อรา มีมากน้อยเพียงใดนั้น นพ.วรงค์ ชี้ว่า ต้องส่งเข้าห้องแล็บอย่างเดียว แต่การตรวจวัดค่อนข้างมีราคาสูง และมักใช้กับข้าวที่ส่งออก
ส่วนข้าวภายในประเทศ เขาก็ยังไม่แน่ใจว่า มีการตรวจหรือไม่
ระวัง!! ข้าวขึ้นรา คร่าชีวิต
ขณะที่นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี และอดีตกรมการสภาวิจัยแห่งชาติ มั่นใจว่า การที่ข้าวถูกเก็บไว้ในสต็อกนานๆ จะมีผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในโกดังนานๆ เชื้อราจะชอบ ยิ่งเมื่อข้าวขึ้นรา ก็จะยิ่งขายไม่ออก และเมื่อบริษัทเอกชนในประเทศก็ซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อมาสีเป็นข้าวขาวบรรจุถุงขาย ข้าวเปลือกที่สีเป็นข้าวสารบรรจุถุงนั้น จะมีเชื้อราตกอยู่ในข้าวสารเต็มไปหมด!!
ยิ่งเวลานี้คนไทยทั้งประเทศบริโภคข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งก็คือข้าวที่มีเชื้อราทั้งนั้น...
และเพื่อให้เข้าใจความสำคัญของปัญหาสารพิษจากข้าวขึ้นรา อันเป็นผลพวงของนโยบายจำนำข้าว นพ.บรรจบ ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพิษของเชื้อรา โดยคัดจาก "ห้องสมุดการแพทย์แห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US National Library of Medicine, National Institute of Health) ดังนี้
"เมล็ดข้าวชนิดต่างๆ มะเดื่อ น้ำมันเมล็ดพืช ลูกนัต ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกมาก ที่เป็นวัตถุดิบอย่างดีอำนวยแก่การเติบโตของเชื้อรา และปล่อยสารพิษของเชื้อราดังกล่าวออกมา โอกาสอำนวยแก่ความสามารถในการแพร่พันธุ์และเกิดการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซินมีมากมายหลายรูปแบบเหลือเกิน บางครั้งข้าวที่ยังไม่ทันเก็บเกี่ยวก็เริ่มจะติดเชื้อราเสียแล้ว โดยเฉพาะถ้าข้าวกระทบกับสภาวะความชื้น"
ปัญหาในเชิงปฏิบัติที่พบบ่อยกว่านั้นคือ ข้าวที่ถูกเก็บไว้ในโกดังตามยะถากรรม เอื้ออำนวยแก่การขึ้นราได้เป็นอย่างดี ตัวแปรสำคัญของกระบวนการเก็บข้าวในโกดัง ก็เริ่มต้นจากความชื้นในเมล็ดข้าวเอง และความชื้นสัมพัทธ์ในพื้นที่นั้น
ข้าวขึ้นราไปเลี้ยงสัตว์ สารพิษยังหมุนเวียน
การปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซินถูกพบว่า สัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการตายของปศุสัตว์ และยังมีผลโดยตรงที่ทำให้ข้าวปนเปื้อนเชื้อราดังกล่าว มีราคาตกต่ำอีกด้วย ไม่ว่าจะเอาไปเลี้ยงสัตว์หรือขายส่งออกก็ตาม
มีการค้นพบอีกว่า นมวัวอาจเป็นแหล่งแพร่พิษอะฟลาท็อกซินทางอ้อมก็ได้
กล่าวคือ เมื่อเอาข้าวขึ้นราไปเลี้ยงวัว สารพิษนี้จะหมุนเวียนภายในตัวสัตว์ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีจากสารพิษ อะฟลาท็อกซิน B1 กลายเป็นสารพิษ อะฟลาท็อกซิน M1
สารพิษอะฟลาท็อกซินสัมพันธ์กับการต้องพิษและการเกิดมะเร็งทั้งในคนและสัตว์ เรียกทางศัพท์วิชาการว่า "การต้องพิษอะฟลาท็อกซิน(Aflatocicoses)"
การต้องพิษอะฟลาท็อกซินเฉียบพลันอาจถึงกับตายได้
การต้องพิษเรื้อรังก่อให้เกิดมะเร็ง ภูมิต้านทานตกต่ำ และโรคที่ค่อยๆเป็นไปอีกหลายชนิด ตับเป็นเป้าหมายสำคัญของพิษอะฟลา
งานวิจัยพบว่า ถ้าเลี้ยงเป็ดไก่ ปลา หนูทดลอง หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็ล้วนเกิดภาวะตับพังอันเกิดจากพิษอะฟลา B1 สัตว์แต่ละชนิดจะมีแนวโน้มต้องพิษมากน้อยต่างกัน และยังขึ้นกับอายุ เพศ น้ำหนักตัว อาหารที่กิน การสัมผัสพิษ และจำนวนพิษของพิษที่สัมผัส และกลไกทางเภสัชวิทยาของสารพิษเหล่านี้ด้วย
มีงานวิจัยนับจำนวนพันๆชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับพิษอะฟลา ทั้งในห้องทดลองและในพืชพันธุ์ทางเกษตรกรรมชนิดต่างๆ หลักฐานที่พบเกี่ยวกับพิษอะฟลาที่เกิดกับมนุษย์เราเป็นลักษณะการก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่าการต้องพิษแบบเฉียบพลัน การต้องพิษอะฟลาจากอาหารที่กินถือเป็นสาเหตุอันสำคัญยิ่งยวดของการเกิดมะเร็งตับ โดยเฉพาะถ้าใครมีโรคไวรัสตับอักเสบบีอยู่ด้วย ด้วยการศึกษาทางระบาดวิทยาแบบฉบับพบว่า มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พิสูจน์ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของมะเร็งตับกับปริมาณพิษอะฟลาที่กินเข้าไปกับอาหาร
แต่การศึกษาเหล่านี้ยังไม่สามารถกำหนดแน่ชัดลงไปถึงปริมาณสารพิษจำนวนเท่าไหร่ที่รับเข้าไปในตลอดชีวิตของคนนั้นๆ อันจะทำให้เกิดมะเร็งตับขึ้น อุบัติการณ์ของมะเร็งตับแพร่หลายอย่างมากในหลายๆประเทศ ประเทศที่พบมะเร็งตับมากที่สุดได้แก่ ประเทศจีน ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย และอีกหลายประเทศในแอฟริกา
ยังมีหลักฐานอีกว่า พิษอะฟลาก่อให้เกิดมะเร็งตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากตับด้วย ที่สำคัญคือปอด
มีการวิจัยทางระบาดวิทยาชิ้นหนึ่งในฮอลแลนด์ ศึกษาในคนงานที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับถั่วลิสง คนงานเหล่านี้ต้องสูดหายใจฝุ่นที่ปนเปื้อนพิษอะฟลาB1 ผลวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดมะเร็งระบบทางเดินหายใจและมะเร็งทั่วไปอื่นๆ ในกลุ่มที่สัมผัสกับฝุ่นพิษมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสฝุ่นพิษ ผลยืนยันว่า ผู้ที่มีประวัติหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นพิษอะฟลา มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดได้มากกว่า
นักวิจัยชื่อเดเกอร์(Deger) รายงานถึงขั้นว่า ผู้ทำงานวิจัยสองคนที่ขูดแผ่นโครมาโตกราฟที่วิจัยพิษอะฟลา ก็เกิดมะเร็งปอดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ มีรายงานว่าพิษอะฟลาก่อให้เกิดมะเร็งอื่นๆ นอกตับอีกหลายอวัยวะรวบรวมโดยเคาลอมบี(Coulombe)
ดำเนินเกษตรกรรมอย่างรับผิดชอบแก้ได้
วิธีการที่จะควบคุมพิษจากเชื้อราเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วต้องเน้นที่การป้องกัน ได้แก่ ดำเนินเกษตรกรรมอย่างมีความรับผิดชอบ การตากผึ่งผลิตผลทางเกษตรให้แห้ง
มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่เน้นหนักเรื่องการป้องกันการปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้ ตั้งแต่ก่อนการเก็บเกี่ยว
การวิจัยก้าวไปถึงขั้นที่ว่าจะต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานการติดเชื้อรา มีการวิจัยถึงขั้นพันธุวิศวกรรมศาสตร์เพื่อใส่ยีนที่ต่อต้านเชื้อราลงในพันธุ์ข้าวด้วย การใช้สารทางชีวภาพช่วยควบคุมเชื้อรา หรือใช้กระบวนการปรับสภาพยีนเป้าหมาย (targeting regulatory genes) ของเชื้อราที่สร้างพิษ
อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีหนึ่งวิธีใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะการติดเชื้อราพิษมักจะปนเปื้อนเข้าสู่อาหารเป็นอาจิณ หลีกเลี่ยงกันแทบไม่หวาดไม่ไหว
"มีแต่จะใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการคัดแยกสินค้าเกษตรที่ปนเปื้อนเชื้อราพิษเหล่านี้ออกไปจากอาหารที่สนองเข้าสู่ชุมชน ด้วยกระบวนการคัดกรองและควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเท่านั้น"
เหล่านี้คือหลักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในระดับสากล ที่รัฐบาลทุกประเทศควรมีความระวังระไวต่อสุขภาพของประชาชนของตน แล้วรัฐบาลนี้จัดการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง" นพ.บรรจบ ผู้เปิดประเด็นปัญหาสารพิษจากข้าวขึ้นรา ผลพวงนโยบายจำนำข้าว ฝากให้คิดทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นพ.บรรจบ ฉะรบ.เลือดเย็นฆ่าคนไทย 'จำนำ' ทำข้าวค้างสต๊อกนาน ราขึ้น ก่อมะเร็งตับ