องค์กรระหว่าง ปท.ร่วมค้านเอฟทีเอไทย-ยุโรป กันสิทธิเข้าถึงยา-เมล็ดพันธุ์
องค์กรระหว่างประเทศด้านสุขภาพ ร่วมออกแถลงการณ์ “ค้านเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป” หวั่นทริปส์กีดกันคนไทย-ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยา-ผูกขาดเมล็ดพันธุ์
วันที่ 6 มี.ค.56 เฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล, อ๊อกซ์แฟม และ แอคชั่น อเก้นส์ เอดส์ เยอรมนี ออกแถลงการณ์ร่วม “การเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหภาพยุโรปและไทย: ชะตากรรมสำหรับการเข้าถึงยาจะเป็นเช่นไร” ใจความว่าระหว่าง 4-6 มี.ค. นายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาการค้าของไทยอยู่ระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลส์เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มต้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียูอย่างเป็นทางการ จากประสบการณ์การเจรจาของสหภาพยุโรปที่มีก่อนหน้า มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดจากความตกลงด้านการค้าเสรีนี้ต่อการเข้าถึงยาในประเทศไทยและภูมิภาค
“จุดยืนของสหภาพยุโรปด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาในเอฟทีเอก่อนหน้า รวมทั้งการเจรจาระหว่างอียูกับอาเซียนที่ล้มเหลวชี้ให้เห็นว่าอียูจะผลักดันให้ไทยยอมรับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิน ไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา” น.ส.เทสเซล เมลลีมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายด้านนวัตกรรมและการเข้าถึงยาของ เฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
แถลงการณ์ ระบุอีกว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเกินเลย รวมถึงการถ่วงเวลาเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญ เพื่อรักษาสิทธิการผูกขาดตลาดคงราคายาให้สูงมากต่อไป ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา ข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบทริปส์พลัสที่เกิดในเอฟทีเอของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดน้อยลง นำไปสู่การขึ้นราคายา ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่ออินเดีย ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา และภาคประชาสังคม จนทำให้สภายุโรปตัดสินใจคว่ำความตกลงด้านการต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (ACTA) ที่มีการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากเกินซึ่งจะไปทำลายการแข่งขันของยาชื่อสามัญ
องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขในยุโรป, สภายุโรป, ยูเอ็นเอดส์, ยูเอ็นดีพี,คณะกรรมาธิการด้านนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร, คณะกรรมาธิการด้านเอชไอวี/เอดส์และกฎหมาย ของสหประชาชาติ, นักวิชาการด้านทรัพย์สอนทางปัญญาระดับโลก และองค์การอนามัยโลก ต่างยอมรับว่าการเชื่อมโยงกันระหว่างเนื้อหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าทริปส์พลัส จะให้ประโยชน์แก่ผู้ทรงสิทธิมากจนเกินไป ขณะที่เกิดผลลบต่อการเข้าถึงยา
น่ากังวลว่าการเจรจาเอฟทีเอ สหภาพยุโรปจะเรียกร้องให้ไทยต้องยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ภายใต้เนื้อหาเช่นนี้ บรรษัทยาสามารถอ้างว่ากฎระเบียบด้านสุขภาพของรัฐบาลส่งผลลบต่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้บรรษัทยาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย โดยอ้างว่ามาตรการส่งเสริมการเข้าถึงยาของรัฐบาล เช่น การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ส่งผลลบต่อการลงทุนทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นนี้อาจเป็นการข่มขู่ที่น่ากลัวและเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยอาจไม่กล้า ออกมาตรการในการลดราคายา ซึ่งธนาคารโลกประมาณการว่าถ้ารัฐบาลไทยใช้สิทธิตามสิทธิบัตร จะลดราคายาต้านไวรัสเอ็ดส์สูตรสองได้ร้อยละ 90 ประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ได้ถึง 3.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2568
ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมไทยได้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐบาลในการเจรจากับสหภาพยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อราคายา เมล็ดพันธุ์ และผลิตผลการเกษตรในประเทศไทย โดยระบุว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาสังคมในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ที่จัดโดยรัฐสภาไทยเป็นการหลอกลวง โดยภาคประชาสังคมมีจุดยืนเรียกร้องว่าสหภาพยุโรปควรละเว้นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ และเลิกใช้เอฟทีเอเป็นเครื่องมือสนับสนุนผลประโยชน์ทางการค้าของอุตสาหกรรมยาอย่างผิดๆ โดยทำลายโอกาสทางนวัตกรรมและการเข้าถึงยาในประเทศไทย
“การตั้งกำแพงการผูกขาดจะทำให้ความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพและการพัฒนาดำรงอยู่ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประเทสกำลังพัฒนา” น.ส.เลย์ลา โบดอกซ์ แห่ง อ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว.
ที่มาภาพ : http://www.raisuknirundorn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539311380&Ntype=1