"อดีตบีอาร์เอ็น" เล่าประวัติ "ฮัสซัน ตอยิบ" แจงเหตุเชื่อมั่น "ทักษิณ" – เคยบินถกดูไบ
เสียงวิจารณ์และคำถามที่เกิดขึ้นทันทีภายหลังการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ของหัวหน้าส่วนราชการที่คุมงานด้านความมั่นคงของไทย กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็น ในข้อตกลงริเริ่มเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ก็คือ คนที่มาปรากฏตัวและร่วมลงนามนั้นเป็น "ตัวจริงหรือเปล่า?"
นับจากวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ.2556 ซึ่งเป็นวันจับมือลงนามที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก จนถึงวันนี้ก็ 1 สัปดาห์แล้ว แต่คำถามและข้อข้องใจต่างๆ ก็ยังมิคลายลง โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่สุดคือ "ตัวจริงหรือเปล่า?"
"ทีมข่าวอิศรา" จึงขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากบทสัมภาษณ์พิเศษอดีตแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือที่เรียกกันในหมู่คนรู้จักว่า อาแซ ตอยิบ เพื่อบอกเล่าประวัติของนายฮัสซัน และเส้นทางของขบวนการบีอาร์เอ็น บางช่วงบางตอนทำให้เห็นถึงการทำงานขยายฐานมวลชนของขบวนการปฏิวัติมลายูองค์กรนี้ และที่สำคัญที่สุดคือเบื้องหลังของกระบวนการสันติภาพที่กำลังก่อร่างขึ้นท่ามกลางความสงสัยใคร่รู้ของผู้คนจำนวนมาก
การพูดคุยสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสัมภาษณ์ทั้งหมดใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี และถอดความโดย "ทีมข่าวอิศรา" โดยอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้นี้ ขอใช้นามแฝงว่า "นายโฮป" เขาออกจากขบวนการมานานพอสมควรจากความจำเป็นทางครอบครัว
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลหลายแหล่งที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบ รวมถึงแนวร่วมรุ่นใหม่ในพื้นที่ ล้วนยืนยันตรงกันว่า "นายโฮป" คือผู้ที่เคยร่วมหัวจมท้ายอยู่กับขบวนการบีอาร์เอ็นในยุคหนึ่งจริง
O อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ เป็นใคร?
นายฮัสซัน ตอยิบ คือคนเดียวกับ อาแซ ตอยิบ เคยมีตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. (ผู้นำทางทหาร) ของขบวนการบีอาร์เอ็นรุ่นที่ 13 ฉะนั้น อาแซ ตอยิบ จึงเป็นตัวจริง คิดว่าหลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงก็น่าจะมีเสียงตอบรับที่ดีสำหรับฝ่ายขบวนการ เพราะอาแซ ตอยิบ ถือเป็นมือหนึ่ง สถานะของเขารองจากหัวหน้าพรรค คือ สะแปอิง บาซอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ซึ่งข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็นโดออร์ดิเนต) และ สะแปอิง บาซอ ให้ความไว้วางใจและนับถือ อาแซ ตอยิบ มาก
O ทำไมหลังลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่จึงยังมีความรุนแรงอยู่?
เหตุการณ์ก็จะไม่สงบลงทันทีหลังจากพูดคุย เพราะใครๆ ก็รู้ว่าคนที่ก่อเหตุในพื้้นที่ไม่ได้มีบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว แน่นอนจะต้องมีเหตุระเบิด เหตุยิงรายวันเหมือนเดิมไปอีกระยะ จนกว่าฝ่ายขบวนการจะเห็นความจริงใจของรัฐ และรัฐเองได้แสดงความจริงใจออกมาจริงๆ ถ้าถึงตอนนั้นเหตุการณ์ในพื้นที่อาจจะเบาบางลง แต่คงไม่ถึงขั้นสงบไปทั้งหมดเลย เพราะไม่ใช่บีอาร์เอ็นเท่านั้นที่ก่อเหตุในพื้นที่
O อยากให้เล่าประวัติของ ฮัสซัน ตอยิบ
ผมรู้จัก อาแซ ตอยิบ ตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน สมัยบีอาร์เอ็นแตก (ราวปี พ.ศ.2520) และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นขบวนการใหม่ ตอนนั้นเมื่อขบวนการแตกก็ทำให้แต่ละคนแยกย้ายไปทำภารกิจของตนเอง ตอนที่อยู่ข้างใน (หมายถึงในขบวนการ) อาแซ ตอยิบ เคยเล่าให้ฟังว่าเขาเริ่มเข้าขบวนการตั้งแต่อายุ 18 ปี ตอนแรกๆ ไปเรียนที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับการวางตัวว่าให้กลับมาผู้นำสายกองทัพ เมื่อเรียนจบก็กลับประเทศไทย อยู่ได้ไม่นานก็ไปมาเลเซียเพื่อรับตำแหน่ง
สมัยนั้นการเดินทางจะใช้เรือเป็นหลัก ผมเป็นคนไปรับเขาที่ท่าเรือบ่อยๆ ตอนนั้นคนในพื้นที่ยังไม่ได้รู้จัก อาแซ ตอยิบ ว่าเป็นคนในขบวนการ และเขาเองก็ไม่ได้ใช้ชื่อ อาแซ ตอยิบ ส่วนใหญ่เราใช้ชื่อสัตว์เป็นรหัสหรือฉายาเวลาทำงานให้กับขบวนการ
เท่าที่จำได้ อาแซ ตอยิบ เล่าว่าช่วงที่อยู่ในพื้นที่ (ฝั่งไทย) เขาเดินสายสอนหนังสือแทบทุกปอเนาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการตระเวนสอน และยังได้ก่อตั้งโรงเรียนตาดีกาขึ้นมา ทำให้ในพื้นที่มีการเรียนการสอนระบบตาดีกา ต่อมาคนในพื้นที่เริ่มรู้จักเขา ทำให้เขาต้องไปอยู่มาเลเซีย โดยไปลงเรือที่ท่าเรือปัตตานี แถวๆ หนองจิก (อำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี)
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ก็นานมากแล้วที่ไม่ได้เจอกัน เชื่อว่า อาแซ ตอยิบ ยังคงเปิดร้านรับจ้างขูดมะพร้าวเพื่อไปทำกะทิ เพราะตอนที่ขบวนการแตก หลายคนก็ทำงาน ขายลูกชิ้นบ้าง ขายปลาบ้าง ต่อมาเมื่อฟื้นขบวนการก็อยู่กันปกติ ไม่ได้หลบซ่อน
O กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?
ผมไม่ทราบจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน แต่รู้ว่าการเปิดเวทีพูดคุยทำให้คนในขบวนการชื่นชมทักษิณมาก (หมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย) เพราะเป็นผู้ชายคนแรกที่กล้ามาพูดคุยกับบีอาร์เอ็น และทำให้สังคมโลกรู้ว่าจริงๆ แล้วรัฐไทยยอมรับว่าขบวนการนี้มีอยู่จริง ไม่ได้ลอยๆ อย่างในอดีต
O ทำไมที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไทยบางส่วนระบุว่า ฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนนำพูโล โดยเฉพาะช่วงที่เข้าพบและพูดคุยกับคุณทักษิณที่มาเลเซียเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว?
จริงๆ เขาเป็นแกนนำบีอาร์เอ็นตลอด ไม่เคยเปลี่ยน แต่รัฐมั่วเอง ไปใส่ประวัติว่าเป็นพูโล ตอนนี้มาเลย์ก็ยืนยันแล้วว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น รัฐเองก็น่าจะเข้าใจแล้ว
O กระบวนการสันติภาพหลังจากนั้นเป็นอย่างไร?
จริงๆ ครั้งแรกของการพูดคุยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ช่วงปีสองปีนี้ จริงๆ เกิดขึ้นมานานแล้ว ครั้งแรกที่มีการพูดคุยระหว่างทักษิณกับกลุ่มของ อาแซ ตอยิบ ไปคุยกันที่ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยมีคนของดูไบเป็นคนกลาง และหลังจากนั้นก็มีการคุยกันอีกหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่สาม ไม่ได้คุยในประเทศที่เขาหลบซ่อน (หมายถึงฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้เป็นที่พำนัก เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)
O ทำไมขบวนการบีอาร์เอ็นถึงไว้ใจคุณทักษิณ ทั้งๆ ที่มีกระแสว่าคนสามจังหวัดไม่เอาอดีตนายกฯคนนี้?
สาเหตุที่เขาไว้วางใจทักษิณ และไม่ได้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมองว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางยอมตามข้อเสนอของขบวนการได้เลย แต่สำหรับทักษิณ มีการแหกโค้งและข้ามช่องโหว่ต่างๆ ได้ ทักษิณมีข้อดีตรงจุดนี้ และเมื่อทักษิณยอมพูดคุย ทำให้แกนนำเชื่อในตัวทักษิณ และยอมที่จะพูดคุยด้วย เพราะขบวนการเองก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง อยากให้เกิดความสงบสุข
O เป้าหมายสุดท้ายของขบวนการคืออะไร คือแผ่นดินปัตตานีใช่หรือไม่?
เราวางหลักการเอาไว้ว่าจริงว่าต้องแผ่นดินเท่านั้น จุดจบทั้งหมดต้องแผ่นดิน แต่ถ้าหากรัฐมีความจริงใจ ทำอะไรให้หลายๆ อย่างแก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรม เป้าหมายสูงสุดของขบวนการอาจไม่ใช่แผ่นดินก็ได้
ผมอยากให้หลายๆ คนเข้าใจ เพราะการที่ทุกคนให้ความหมายว่าต้องแผ่นดินเท่านั้น มันจะต้องหมายถึงการเสียเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก จะต้องมีการแตกหัก และขบวนการเองก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะแลกเลือดเนื้อของพี่น้องเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการหรือในสิ่งที่ทางกลุ่มปักธง
O ทำไมบีอาร์เอ็นถึงเคยแตกมาครั้งหนึ่ง?
ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ไม่ไว้วางใจกัน แกนหลักๆ ก็ต้องหนีไปมาเลย์ อยู่อย่างอดอยาก จากนั้นพวกเขาก็ไปหา สะแปอิง บาซอ ปรากฏว่าสะแปอิงให้กำลังใจ บอกกับพวกเขาว่า พระเจ้าจะไม่ให้เราตายเพราะอด ทุกคนได้ฟังแล้วก็มีกำลังใจและเดินหน้าต่อ จนสามารถต่อสู้ได้จนถึงทุกวันนี้
O โครงสร้างของบีอาร์เอ็นประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง?
สูงสุดคือศาสนา รองลงมาคือพรรค และคนที่อยู่สูงสุดแต่ใต้พรรค คือ สะแปอิง บาซอ แขนซ้ายของ สะแปอิง คือ อาแซ ตอยิบ ดูแลฝ่ายทหาร แขนขวาคือฝ่ายมหาดไทย แต่ผมไม่ขอออกชื่อ คนเหล่านี้อยู่นอกประเทศไทย และมีรองที่อยู่ในพื้นที่ คอยรับนโยบายจากทางพรรค แล้วก็กระจายลงไปยังระดับจังหวัด อำเภอ จากนั้นฝ่ายปฏิบัติก็จะแบ่งงานกันว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่
O ทำไมถึงออกจากขบวนการ?
ตอนนั้นแม่ของภรรยาเสียชีวิต และภรรยามีน้องที่พิการ ต้องดูแล เมื่อแม่เขาตายก็ไม่มีใครช่วยดูแล ภรรยาก็บอกว่าต้องกลับบ้านแล้วนะ (ขณะนั้นนายโฮปกับภรรยาอยู่มาเลเซีย) จากนั้นภรรยาก็กลับบ้าน ผมก็คิดอยู่นาน สุดท้ายก็ตามกลับมา
ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าขบวนการสั่งการจากข้างนอกได้ และตัวเราเองก็แก่แล้ว จึงขอวางมือ ก็เข้าไปคุยกับข้างใน เขาก็ว่าวางมือก็ได้ แต่รู้ใช่ไหมว่าควรทำอย่างไร ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า และหลังจากนี้ข้างในจะไม่เชื่อถืออีกแล้ว ผมก็รับปาก หลังจากนั้นก็กลับมา และอยู่ในพื้นที่ตลอด แต่ก็ยังทราบข่าวคราวของพรรคพวกเป็นระยะ
O การพูดคุยสันติภาพมองว่ามีความหวัง แล้วมาตรการที่รัฐเตรียมเอาไว้สำหรับกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างใน อย่างมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คิดว่าพอไปได้หรือไม่?
เรื่องข้อเสนอ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติหลังจากพูดคุยเจรจาคงต้องมาคุยกัน แต่เรื่องมาตรา 21 ผมเห็นว่าสมัยก่อนรัฐก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กันนี้สมัยแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ (มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ให้ผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่วางอาวุธกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย) มันเคยมีปัญหาเมื่อระดับนโยบายสั่งว่าให้ใช้ระบบนี้ ระดับข้างล่างอยากจะทำผลงานก็เลยต้องมีค่าหัว (หมายถึงต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หากจะเข้ากระบวนการ) ในอดีตเขาทำกันแบบนี้
ฉะนั้นถ้ารอบนี้ที่เปลี่ยนมาใช้มาตรา 21 ยังมีปัญหาแบบเดิมอีก จะไม่มีอะไรดีขึ้น เท่าที่ผมทราบ เริ่มกระบวนการยังไม่ทันไรก็เริ่มมีค่าหัวแล้ว มีค่าจัดฉากหลายๆ อย่าง มีการนำคนที่ไม่ได้เป็นขบวนการแต่อ้างว่าเป็น ถึงขนาดซื้ออาวุธไปฝัง แล้วบอกว่าเป็นอาวุธปืนที่เตรียมใช้ก่อเหตุรุนแรง ถ้ารัฐทำแบบนั้น มาตรา 21 จะล้มเหลวไม่ได้ผล เพราะคนที่ออกมาไม่ใช่ของจริง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายโฮป (นามสมมติ) อดีตแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
หมายเหตุ : ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นการสัมภาษณ์พิเศษ เนื้อความต่างๆ ที่พาดพิงถึงบุคคลที่สามหรือองค์กรต่างๆ จึงเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่ความเห็นของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา