7 ปีไฟใต้...กับปัญหาใหญ่ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปีนั้น ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันนอกจากการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่ดูจะไร้ผล ทั้งๆ ที่ทุ่มเทงบประมาณลงไปกว่า 1.45 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การบริหารจัดการคดีความมั่นคงในพื้นที่ และประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจนถึงวันนี้ ผ่านมา 7 ปีเศษแล้ว ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมชี้ชัดว่า คดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นแทบจะรายวันในพื้นที่ ศาลฎีกาเพิ่งจะพิพากษาถึงที่สุดไปเพียงคดีเดียว หนำซ้ำยังพิพากษายกฟ้องด้วย
นั่นจึงทำให้เกิดวาทกรรมว่า “7 ปีไฟใต้ ใช้งบแสนล้าน จบแค่คดีเดียว แถมเอาผิดใครไม่ได้” สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ทั้งระบบ จำเป็นต้องได้รับการ “ยกเครื่อง” เป็นการด่วน
เปิดสถิติคดีความมั่นคง
คดีอาญาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งไล่ยิง ไล่ฆ่า ลอบวางระเบิด และวางเพลิงตลอด 7 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เป็น “คดีความมั่นคง” ทั้งหมด โดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้แยกแยะคดีเหล่านี้ออกเป็นคดีอาญาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กับ “คดีความมั่นคง” ที่น่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบ
ผลของการแยกแยะโดยใช้ข้อมูลการสืบสวนสอบสวน สรุปว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีคดีอาญาเกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งสิ้น 77,865 คดี เป็นคดีความมั่นคง 7,680 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 9.86
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในจำนวนคดีความมั่นคง 7,680 คดีนั้น เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 5,872 คดี รู้ตัวผู้กระทำความผิดแค่ 1,808 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 23.54 ในจำนวนนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1,264 คดี หลบหนี 544 คดี
งดสอบสวนเพียบ-ศาลยกฟ้องเกือบครึ่ง
เมื่อไล่ดูคดีความมั่นคงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต่างๆ พบว่าคดีที่ผ่านมือพนักงานสอบสวน 7,680 คดี เป็นคดีที่สั่งงดการสอบสวนไปแล้วเพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 5,269 คดี สั่งฟ้อง 1,536 คดี สั่งไม่ฟ้อง 210 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 665 คดี
ในชั้นอัยการ พบว่ามีคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว 655 คดี สั่งไม่ฟ้อง 299 คดี
ในชั้นศาลพบว่า มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 256 คดี ในจำนวนนี้พิพากษาลงโทษ 140 คดี หรือร้อยละ 54.69 ยกฟ้อง 116 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 45.31
คดีในชั้นศาลนั้นส่วนใหญ่อยู่ในศาลชั้นต้น รองลงมาคือศาลอุทธรณ์ และมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเพียง 1 คดี คือคดีลอบวางระเบิดรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์บอมบ์) ที่หน้าบริษัทพิธานพาณิชย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2547 (หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเพียง 4 วัน) ทำให้มีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเสียชีวิต 2 นาย โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย
เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพสูงนั้น มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลและศาลพิพากษายกฟ้องเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคดีที่ศาลยกฟ้องถึงร้อยละ 45.31 หรือเกือบครึ่ง
ชำแหละปัญหากระบวนการยุติธรรมใต้
ข้อมูลจากการสัมมนาระดมความคิดเห็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งในส่วนกลางและที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สรุปปัญหาสำคัญๆ ของกระบวนการยุติธรรมได้ดังนี้
1.คดีความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่มีประจักษ์พยาน หลักฐานในสำนวนจึงมีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน หลายๆ คดีเป็นคำรับสารภาพในชั้นซักถาม (ช่วงควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งเป็นเพียงการ “ให้ถ้อยคำ” ตามกฎหมาย ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้
2.จากการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนหลายๆ สำนวนจากหลายๆ ท้องที่ พบว่าคำบรรยายฟ้อง 5-6 หน้าแรกเป็นก๊อปปี้เดียวกัน ทั้งพฤติการณ์ ข้อหา และอัตราโทษ เช่น ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน อั้งยี่ซ่องโจร เป็นต้น ต่างกันแต่เพียงชื่อผู้ต้องหาเท่านั้น จึงน่าเชื่อว่ามีการใช้คำบรรยายฟ้องชุดเดียวกันในหลายๆ สำนวน ทั้งๆ ที่แต่ละสำนวนน่าจะมีพฤติการณ์แห่งคดีแตกต่างกัน
3. จำเลยส่วนใหญ่ราว 80% ตกเป็นจำเลยเพียงเพราะมีคำซัดทอดจากการปิดล้อมตรวจค้นและคำให้การในชั้นซักถามของพยานหรือผู้ต้องหาคนอื่น โดยไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือวัตถุพยานอื่นรองรับเลย ทั้งๆ ที่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 226/3 บัญญัติเอาไว้ว่า ห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่า ยกเว้นมีพยานหลักฐานอื่นรองรับ
4. ข้อมูลจากตำรวจเองระบุว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนมีปัญหา เพราะตำรวจส่วนหนึ่งไม่อยากอยู่ในพื้นที่ นายตำรวจระดับหัวหน้าสถานีก็หาคนที่เชี่ยวชาญงานสอบสวนแทบไม่ได้เลย ทำให้การทำสำนวนคดีมีปัญหา
5. ทัศนคติของตำรวจไทยยังเชื่อเรื่องคำรับสารภาพเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ ป.วิอาญาฉบับใหม่บัญญัติห้ามไม่ให้เชื่อคำรับสารภาพหรือคำซัดทอดอย่างเดียวแล้ว
ล่าช้าทุกคดี 5 ปียังไม่จบ
6. การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเป็นไปอย่างล่าช้า และผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากถูกยื่นฟ้องในคดีที่มีโทษสูงถึงประหารชีวิต (กบฏแบ่งแยกดินแดน ฯลฯ) ผู้ต้องหาส่วนใหญ่จึงต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในชั้นสอบสวนเพื่อรอฟ้อง หรือในชั้นศาลเพื่อรอสืบพยาน บางคนใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะได้เริ่มสืบพยานนัดแรก
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเริ่มสืบพยานแล้ว พยานโจทก์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่มักขาดนัด ไม่ยอมขึ้นเบิกความตามนัด เนื่องจากหลายคนย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว ทำให้คดีถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ คดีจำนวนมากใช้เวลา 3-5 ปียังไม่จบ หรือจบแค่ศาลชั้นต้น พอถึงชั้นอุทธรณ์และฎีกาก็ถูกคุมขังต่อเพราะไม่ได้รับการประกันตัว
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 514 คน การยื่นประกันตัวก็ต้องใช้หลักทรัพย์สูงมาก ราวๆ 7-8 แสนบาท เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ซึ่งที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้พยายามให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว ล่าสุดศาลอนุมัติให้ปล่อยชั่วคราวประมาณ 20-30 คน
เสนอตั้ง “กรมสอบสวนคดีมั่นคง”
ความพยายามในการ “ยกเครื่อง” กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้มีมาตลอด โดยล่าสุดกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำเอกสารรายงานสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้บังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีความมั่นคง" ซึ่งเป็นเวทีที่ได้ระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้
1. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลประมาณ 500 คดี โดยกำหนดกรอบให้การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นใช้เวลาการพิจารณาเท่ากับคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คือ 1 ปี 6 เดือน
2. เสนอให้ตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" เพื่อสะสางคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ ซึ่งกรมนี้จะทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อคลี่คลายคดีความมั่นคงที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อลดปัญหาการยกฟ้องคดี หรือหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ โดยอาจกำหนดให้เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ต้องยุบเลิกเมื่อจบสิ้นภารกิจแล้ว ขณะที่ตำรวจก็ทำหน้าที่ดำเนินการเฉพาะคดีอาญาทั่วไปซึ่งก็มีมากกว่า 6 หมื่นคดีตลอดเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือบทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคลี่คลายคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนสมัยก่อน ทั้งๆ ที่คดีในภาคใต้จำเป็นต้องใช้บุคลากร กฎหมาย และเครื่องไม้เครื่องมือของดีเอสไออย่างมาก เพราะเป็นคดีที่ไม่มีประจักษ์พยาน ไม่มีพยานบุคคล แต่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในแง่อาวุธที่ใช้ และการกระทำในลักษณะขบวนการ
“เมื่อก่อนดีเอสไอเคยเข้าไปร่วมคลี่คลายคดีปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง (ปี 2547) จนสามารถออกหมายจับผู้ก่อเหตุได้ทั้งเครือข่าย รวมถึงนายสะแปอิง บาซอ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบด้วย แต่ปัจจุบันนี้บทบาทของดีเอสไอดูจะน้อยลงไป จึงเห็นว่าสมควรตั้งกรมสอบสวนคดีความมั่นคงขึ้น เพื่อรับผิดชอบคดีความมั่นคงในภาคใต้ทั้งหมด และสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบ เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
1 เนื้ัอหาบางส่วนของงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค.2553 หน้า 1-2
2 ภาพแรกจากแฟ้มภาพศูนย์ข่าวอิศรา (ถ่ายโดย อาทิตย์ เคนมี) ภาพที่ 2 ภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จากอินเทอร์เน็ต