กรมชลฯย้ำลุ่มเจ้าพระยางดนาปรังรอบ2 ห่วงน้ำไม่พอ
กรมชลฯขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยางดทำนาปรังรอบ2อย่างเคร่งครัดจนสิ้นฤดูแล้ง เผยปริมาณน้ำใช้การได้เหลือเพียง 24 % สงวนไว้อุปโภค-บริโภค
วันที่ 5 มี.ค. 56 ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,925 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกัน โดยมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2555 จำนวน 7,214 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ประมาณ 18,000 ล้านลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,173 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,373 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,337 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,487 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 536 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 493 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 359 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 356 ล้านลบ.ม.
ทั้งนี้เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 9,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกันจำนวน 6,800 ล้านลบ.ม. จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 600 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลบ.ม. ล่าสุด(5 มี.ค. 56) มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,804 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งหมดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำอีก 2,196 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนฯ
ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(1 มี.ค. 56) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 10 ล้านไร่ เกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้ที่ 9.60 ล้านไร่
โดยจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องสงวนไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การผลิตน้ำประปา และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก ในระยะเวลาของฤดูแล้งที่เหลืออยู่อีก 2 เดือน จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมมือกันงดทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้ได้ตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน
ที่มาภาพ ::: http://www.dailynews.co.th/thailand/168466