เวทีผังเมืองอุบลฯแนะดูประวัติศาสตร์-ทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนออกแบบ กันทุกรุกชุมชน
เวทีผังเมืองอุบลฯแนะดูประวัติศาสตร์เมือง-มิติทรัพยากรธรรมชาติก่อนออกแบบผัง-ไม่สนองตัณหากลุ่มทุน-ชาวบ้านต้องเข้าใจและมีส่วนร่วม เผยเปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างผังฯหลัง 14 มี.ค.
เร็วๆนี้ ที่จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพาน จากการสนับสนุนของ USAID และชาวบ้านชุมชนเมือง จัดเวทีผ่าประเด็น "ผังเมืองใหม่ใครกำหนด" นายกิตติ เริงวัย นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการทำผังเมืองว่า
ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวร้อยละ 90 ส่วนทาวเฮาส์มีไม่มาก โยธาฯจังหวัดจึงออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอุบลราชธานี ให้มีความหนาแน่นไม่เกิน 12 คนต่อไร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา สำหรับขั้นตอนการทำผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์วางผังร่างเตรียมนำเข้าที่ประชุมระดับจังหวัด ในวันที่ 14 มี.ค. 56 โดยหลังจากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน
ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานีมีการเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานปรับตัวรองรับไม่ทัน แต่หลายหน่วยงานที่มีส่วนในการร่วมวางผังเมืองกลับขาดการประสานงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีหากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางผังเมืองมากขึ้นจะยิ่งเป็นผลดี
โดยมองว่า ผังเมืองไทยยังใช้ทฤษฎียุคเก่าเกินไป โดยใช้การจราจรมาคาดการณ์ความหนาแน่น แล้วจึงขยายเมืองรองรับ แต่ยิ่งขยายถนนมาก รถก็เพิ่มขึ้นมาก เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายประเมินผลกระทบทางด้านการจราจร มีแต่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านนายเต็มบุญ ศรีธัญรัตน์ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น พูดถึงเรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญใช้ดูแลความปลอดภัยให้สังคม จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติ เช่น ใครเป็นผู้กำหนด กำหนดจากอะไร ทั้งการกำหนดตามกฎหมายตั้งแต่ส่วนกลางลงมาท้องถิ่น แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนค่อนข้างน้อย และกรณีการประกาศ เวลาประกาศออกมาแล้ว ประชาชนในพื้นที่ทราบเรื่องจริงหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ และการกำหนดสี บางครั้งไม่เป็นธรรม ทั้งการเวนคืนที่ดิน การสร้างตึกอาคารต้องถอยร่นจากถนนไปถึงสามเมตร กฎหมายระบุให้เวนคืนที่ดินด้วยความเป็นธรรม เช่น ชุมชนท่าวังหินในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ประชาชนอาศัยมาเจ็ดสิบปี แล้วให้ออกโดยจ่ายค่าเวรคืนแค่สองหมื่นบาท จึงไม่เป็นธรรม
นายสุกุล แสงดี ผู้นำชุมชนตำบลโพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ กล่าวว่า ผังเมืองมุ่งแต่เรื่องทำถนน จน ลืมเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ที่ทิ้งขยะ ต้องการสร้างเมือง แต่ไม่มีที่ทิ้งขยะ เมืองก็เน่า เพราะปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีที่ทิ้งขยะที่เดียว ต้องให้องค์การบริส่วนตำบล และเทศบาลมีเทศบัญญัติควบคุมมลภาวะ ถ้า อบต.เทศบาลไหนไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่ควรยกระดับหน่วยงานขึ้นไปเรื่อยๆเพราะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชน
นายสมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีผู้เข้าร่วมรับฟังระบุว่าผัง เมืองฉบับโยธาธิการดูศักดิ์สิทธิ์ น่าเกรงขาม แต่ลืมมองผ่านมิติทางสังคม
"อุบลราชธานีเป็นเมืองชุ่มน้ำ ฤดูน้ำ น้ำขึ้น แต่เดี๋ยวมันก็ไป ต่อไปจะต้องอยู่กับน้ำอย่างไร ต้องดูประวัติศาสตร์ทำไมเมืองอุบลราชธานีมาตั้งอยู่ริมน้ำ แล้วจึงวางผังเมืองโดยคำนึงถึงมิติทางธรรมชาติด้วยไม่ใช่ใช้วิธีการเทคนิคชั้นสูงอย่างเดียวและเป็นเมืองที่มีมือที่สามเป็นผู้ กำหนด จึงเป็นการโตแบบไม่มีทิศทาง ซึ่งมือที่สามชอบ จึงต้องสร้างประเด็นนี้ ให้เป็นมิติทางสังคมเพื่อช่วยกันจับตาดู” นายสมหมายกล่าว