เปิดสถิติศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. "ตำรวจ"แชมป์ถูกชาวบ้านร้องเรียน
เคยติดตามสถิติ "เจ็บ-ตาย-หม้าย-กำพร้า" จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มามากแล้ว คราวนี้ลองมาดูสถิติที่เกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และระดับการยอมรับของพี่น้องประชาชนกันบ้างดีกว่า
เมื่อเร็วๆ นี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) แถลงว่า ในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้วางระบบการบริหารและขับเคลื่อนการอำนวยความเป็นธรรม โดยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ พัฒนาระบบการตรวจสอบข้อเท็จจริง และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอำนวยความเป็นธรรม ปรากฏว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 ถึงเดือน ก.ย.2553 ได้ดังนี้
O รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จำนวน 1,488 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติจำนวน 1,112 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 74.73 อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 367 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 25.27
O เรื่องที่มีการร้องเรียนร้องทุกข์มากที่สุด คือขอความช่วยเหลือ จำนวน 736 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 49.46 ร้องเรียนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 252 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 16.94 ร้องเรียนเรื่องอื่นๆ จำนวน 199 เรื่อง หรือร้อยละ 13.38 ขอความเป็นธรรม จำนวน 155 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10.41 และแจ้งเบาะแส จำนวน 146 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 9.81
O จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ จ.ยะลา จำนวน 496 เรื่อง รองลงมาคือ จ.ปัตตานี จำนวน 383 เรื่อง จ.นราธิวาส จำนวน 299 เรื่อง จ.สงขลา จำนวน 194 เรื่อง จังหวัดอื่นๆ จำนวน 88 เรื่อง และ จ.สตูล จำนวน 28 เรื่อง
O หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รองลงมาคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามลำดับ
O ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ สายด่วนสันติสุข 1880 จำนวน 971 เรื่อง จดหมายจ่าหน้าซองถึง ผอ.ศอ.บต.และ ตู้ปณ. 88 จำนวน 260 เรื่อง ทางโทรศัพท์, โทรสาร อีเมล เว็บไซต์ จำนวน 175 เรื่อง ร้องเรียนด้วยตนเอง จำนวน 68 เรื่อง และช่องทางอื่นๆ จำนวน 14 เรื่อง
ผอ.ศอ.บต.เผยด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2554 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ โดยขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาการบริการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ให้มีการบริการที่อบอุ่น เต็มใจบริการ ถูกต้อง รวดเร็ว และพัฒนาระบบการตรวจสอบข้อเท็จจริงรวมทั้งประสานการแก้ไขปัญหา โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 6 ล้านบาทให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์อำนวยความเป็นธรรมอำเภอจำนวน 37 ศูนย์ ในการจ้างบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรม ทั้งยังมีชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่เพื่อประสานกับผู้ร้องและมีคำตอบให้ผู้ร้องภายใน 3 วันนับตั้งแต่ที่ได้รับเรื่องด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพ ผ่านการตกแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยฝ่ายศิลป์ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา