ไฟใต้ 7 ปีจบแค่คดีเดียว...ยธ.เสนอตั้ง "กรมพิเศษ" สางคดีความมั่นคง
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 7 นอกจากจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันมากกว่า 1 หมื่นคนแล้ว ยังพบปัญหาด้านการจัดการคดีความมั่นคงที่มีความล่าช้า ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเพียง 1 คดี และศาลยังพิพากษายกฟ้องอีกต่างหาก
ทั้งนี้ สถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2553 มีคดีอาญาเกิดขึ้นรวม 72,731 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,439 คดี พิจารณาเฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมากถึง 5,688 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 76.46 ส่วนคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด มีเพียง 1,751 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.54 ในจำนวนนี้จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,227 คดี และจับกุมไม่ได้ 524 คดี
การดำเนินการกับคดีความมั่นคง 7,439 คดีนั้น ในชั้นพนักงานสอบสวน มีคดีที่งดการสอบสวนเพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมากถึง 5,081 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 68.30 สั่งฟ้อง 1,480 คดี คิดเป็นร้อยละ 19.90 สั่งไม่ฟ้อง 188 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.53 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 690 คดี หรือร้อยละ 9.28
ในชั้นอัยการ มีคดีที่ผ่านการพิจารณาและอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งสิ้น 6,749 คดี สั่งคดีแล้ว 5,493 คดี แยกเป็นสั่งงดการสอบสวน (เพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด) จำนวน 4,597 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.69 มีความเห็นสั่งฟ้องเพียง 625 คดี หรือร้อยละ 11.38 สั่งไม่ฟ้อง 271 คดี หรือร้อยละ 4.93 และอยู่ระหว่างการพิจารณา 1,256 คดี หรือร้อยละ 18.61
ในชั้นศาล มีคำพิพากษาคดีความมั่นคงแล้ว 238 คดี จำเลย 440 คน แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย 135 คดี จำเลย 216 คน ยกฟ้อง 103 คดี จำเลย 224 คน เท่ากับมีคดียกฟ้องสูงถึงร้อยละ 43 โดยคดีส่วนใหญ่อยู่ในศาลชั้นต้น รองลงมาคือศาลอุทธรณ์ และมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเพียง 1 คดี คือคดีลอบวางระเบิดรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์บอมบ์) ที่หน้าบริษัทพิธานพาณิชย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อต้นเดือน ม.ค.2547 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเสียชีวิต 2 นาย ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้บังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีความมั่นคง" ที่ จ.ตรัง โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยร่วมระดมสมอง และได้ข้อสรุปว่า ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลประมาณ 500 คดี โดยกำหนดกรอบให้การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นใช้เวลาการพิจารณาเท่ากับคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คือ 1 ปี 6 เดือน
นอกจากนั้น ยังเสนอให้ตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" เพื่อสะสางคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ ซึ่งกรมนี้จะทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อคลี่คลายคดีความมั่นคงที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อลดปัญหาการยกฟ้องคดี หรือหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ โดยอาจกำหนดให้เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ต้องยุบเลิกเมื่อจบสิ้นภารกิจแล้ว ขณะที่ตำรวจก็ทำหน้าที่ดำเนินการเฉพาะคดีอาญาทั่วไปซึ่งก็มีมากกว่า 6 หมื่นคดีตลอดเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดข้อมูลและข้อเสนอทั้งหมดถูกส่งถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังจากนี้ก็ต้องรอลุ้นกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมที่ชายแดนใต้หรือไม่
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมายเหตุ : ติดตามรายละเีอียดและบทสัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในตอนต่อไป เร็วๆ นี้