ถอดบทเรียน‘บ้านมั่นคง’ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเอเชีย-แปซิฟิก
เวที ‘สานพลังเครือข่ายที่อยู่อาศัยคนจนเมืองภูมิภาคเอเชีย’ เมื่อเร็วๆนี้ ได้รวมตัวคนจนไร้ที่ดิน 21 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม
21 ประเทศเอเชียแปซิฟิกที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ ออสเตรเลีย มองโกเลีย เนปาล แอฟริกา อูกันดา ฟิจิ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า กัมพูชา และไทย
ในส่วนของประเทศไทย ได้นำเสนอความสำเร็จ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ของรัฐบาลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้ดูแลกระบวนการ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภคและสินเชื่อ และให้ชุมชนบริหารจัดการเองผ่านกลุ่มออมทรัพย์ ตั้งแต่การสำรวจชุมชน จัดหาที่ดิน ออกแบบบ้านร่วมกับสถาปนิกชุมชน รวมถึงการก่อสร้างบ้าน
ซึ่งปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงเมือง ได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 70 จังหวัด 286 เมือง 1,722 ชุมชน ส่วนโครงการบ้านมั่นคงชนบทดำเนินการครอบคลุม 72 จังหวัด 273 อำเภอ 566 ตำบล 2,434 หมู่บ้าน 64,000 ครัวเรือน จำนวนนี้มีพื้นที่ดำเนินการเข้มข้นในรูปแบบเมืองจัดการตนเอง 69 เมือง
ในเวทีมีความเห็นร่วมที่น่าสนใจคือ ให้มีการจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับภูมิภาค เพื่อเป็นเครื่องมือในทำงานต่อยอดการพัฒนา เริ่มตั้งแต่การระดมทุนของแต่ละประเทศ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับภูมิภาคต่อไป
ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการพอช. มองว่าปัญหาชุมชนแออัดกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกมุมโลก โดยคาดการณ์มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคนที่ต้องอยู่อาศัยในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ขาดความมั่นคงในการอยู่อาศัย ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ของไทย เพราะเป็นการขับเคลื่อนที่อาศัยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา จนสามารถสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้นการร่วมมือของคนจนทั่วโลกจึงเป็นทิศทางที่ดีในการเริ่มต้นร่วมแก้ปัญหาชุมชนแออัด
ลออ ชาญกาญจน์ ตัวแทนเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลามีคนจนตั้งชุมชนบุกรุกอาศัยริมทางรถไฟกว่า 300 ครัวเรือน ประสบปัญหาด้านสาธารณูปโภค ทำให้มีการส่งตัวแทนเข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาเช่ารายปีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อมาเกิดกระแสข่าวเรียกคืนพื้นที่บุกรุกจากการรถไฟฯ ซึ่งพอช.ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเหลือชาวบ้าน โดยมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยของชุมชนและทำสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว 30 ปี จากเดิมสัญญาปีต่อปี ตนจึงมั่นใจว่าโครงการบ้านมั่นคงแก้ไขปัญหาคนจนได้จริง โดยการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการกันเองในชุมชน หากจะหวังให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือจัดการให้คงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
“จากที่เป็นชุมชนสลัม ก็มีการยกระดับขึ้นมา เช่น น้ำไม่เน่าเสีย ชาวบ้านไม่เป็นหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนรักษาดิน รักษาบ้าน เพื่อช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติ กองทุนหมุนเวียนระดับเมือง และกำลังพัฒนาเป็นธนาคารภาคประชาชน ชาวบ้านจะได้เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำได้อย่างเท่าเทียม”
ชิษณุชา อุทัยมา ตัวแทนกองทุนเมืองเกาะขวาง จ.จันทบุรี เล่าว่าชุมชนเข้าร่วมในโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 46 ราว 965 ครัวเรือน ซึ่งนอกจากการให้สินเชื่อออมทรัพย์พัฒนาด้านที่อยู่อาศัยแล้ว ยังขยายไปสู่โครงการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาบุคลากร ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรชุมชนระดับตำบลถึงระดับชาติ แม้จะเกิดปัญหาชาวบ้านไม่ส่งเงินสินเชื่อกองทุนตามกำหนด ก็มีระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นขั้นตอน โดยยึดหลักคนจนที่สุดต้องมีโอกาสอยู่ในชุมชน ด้วยวิธีการเรียกชาวบ้านที่ขาดส่งเงินมาเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกันว่ามีกำลังส่งได้เดือนละเท่าไหร่ ทั้งนี้อยากเสนอรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาคนจนไม่มีที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง ด้วยการบรรจุเข้าเป็นแผนพัฒนาประเทศ และผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายระดับภูมิภาคเอเชีย โดยร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) ในการขับเคลื่อนนโยบาย
สมหมาย วงศ์นคร มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศลาว กล่าวว่าการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนลาว เริ่มจากการรวมกลุ่มช้อนเงินและสหพันธ์แม่หญิงลาว จนสามารถจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ เช่น การแก้ปัญหาหนี้สิน ที่อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“เราอยากเห็นประชาชนลาวหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ซึ่งขบวนการชาวบ้านเป็นส่วนสำคัญ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ยังฝากความหวังกับภาครัฐ เช่น การนำลาวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน ด้วยการทำงานระหว่างเครือข่ายชาวบ้านกับภาครัฐ”
Mr.Semiti Qalowasa : National Coordinator People Community Network Fiji กล่าวว่า ประเทศฟิจิ ชุมชนชาวบ้านเริ่มปรับปรุงพัฒนาชุมชนด้วยตนเองก่อนโดยที่มีภาครัฐเข้ามาหนุนเสริมภายหลัง สิ่งที่อยากเห็นคือการพัฒนาสลัมทั้งเมืองไม่ใช่แก้เฉพาะจุดเฉพาะชุมชน ซึ่งเริ่มจากการสำรวจข้อมูล นำมาวิเคราะห์ และทำผังชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญกับการออมเงินของชุมชน เป็นการเริ่มระดมทุนของชุมชนเอง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนต่างๆทั้งเมือง
Mr.Phan Xuan Ha : Community leader in Hung Binh ward-Vinh City กล่าวว่า เวียดนามมีการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในประเทศและภูมิภาค โดยเริ่มจากการจัดลำดับความต้องการในแต่ละชุมชนซึ่งมีความต้องการการพัฒนาที่หลากหลาย การทำงานที่ผ่านมาทำให้ชุมชนเข้าใจเรื่องการรวมกลุ่มออมทรัพย์ ทำแผนของชุมชนร่วมกัน และสามารถเจราจาหารือกับภาครัฐได้ เช่น ชุมชนต้องการให้รัฐช่วยเรื่องงบประมาณ ส่วนชุมชนจะช่วยด้านแรงงาน ออกมาเป็นแผนชุมชนเมืองวิง จากการรวมตัวกันจัดทำแผนความต้องการเสนอภาครัฐ
Phon Saret ผู้แทนจากประเทศกัมพูชา กล่าวว่าชุมชนในกัมพูชามีการขับเคลื่อนพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัย เริ่มแรกมีการสำรวจพื้นที่ในชุมชน วิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงและวางผังระบุเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น ที่ดินเอกชน ที่ดินของรัฐ ซึ่งผังแต่ละพื้นที่ต้องระบุถึงปัญหาให้ชัดเจน จากนั้นจะเริ่มวางโครงการภายใต้การบริหารจัดการของชาวบ้าน โดยอาศัยพลังร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนต่างๆ
........................................................................
คนจนไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน มีอยู่ในทุกมุมโลกและกำลังขยายออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันของประเทศต่างๆในภูมิภาค ทั้งที่เป็นบทเรียนปัญหาและรูปธรรมความสำเร็จ จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะช่วยกันพัฒนาเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยฐานรากของชีวิตคน .