5ปมกังขาเจรจาดับไฟใต้...สันติภาพชนชั้นนำ "อยุติธรรม"ยังไม่ถูกแก้
ผ่านไปแล้วท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนาหู สำหรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น อย่างชื่นมื่น
หลังจากข่าวความสำเร็จในมุมมองของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยบางปีกเผยแพร่ออกไป หลายเสียงไม่เชื่อว่ากระบวนการนี้จะทำให้เกิดสันติภาพได้จริง ยิ่งปรากฏชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เกิดการพูดคุย ยิ่งทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่านี่อาจเป็นเพียงการ "สร้างภาพทางการเมือง" หรือใช้ "การตลาดนำการเมือง" อีกครั้ง ตามแนวถนัดของอดีตนายกฯและทีมงานหรือไม่
คำอธิบายของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ สมช.และตัวแทนหน่วยงานความมั่นคง ดูเหมือนถูกล็อคเอาไว้หมดแล้ว เพราะเล่าเหมือนกันทุกขั้นตอน สรุปก็คือ
- กระบวนการพูดคุยเริ่มขับเคลื่อนกันตั้งแต่ช่วงที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อ 20 ก.พ.2555 มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน โดยให้เลขาธิการ สมช.ของทั้งสองฝ่าย (National Security Council chief) เป็นคณะทำงาน
- หลังจากเดือน ก.พ.2555 มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง คณะทำงานของเลขาธิการ สมช.ประสานงานกับสันติบาลมาเลเซียอย่างใกล้ชิด
- การเดินทางเยือนมาเลเซียของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เมื่อ 8-10 ม.ค.2556 ได้มีการประมวลผลการดำเนินงานเรื่องนี้อีกครั้ง กระทั่งได้ตัวผู้นำกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่จะเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
- วันที่ 22-23 ก.พ.2556 คณะทำงานนำโดย พล.ท.ภราดร เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทั้งหมด โดยเน้นประเด็นที่ว่า ฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" หรือ Facilitator ไม่ใช่ "ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย" หรือ Mediator และได้ยกร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วไม่มีปัญหา จึงนัดวันพูดคุยและลงนาม
- การเลือกวันที่ 28 ก.พ.2556 เป็นวันลงนาม เพื่อให้สอดรับกับการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกฯยิ่งลักษณ์ และถือโอกาสดังกล่าวแถลงจุดยืนของรัฐบาลไทยว่ามุ่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้สันติวิธี
- มีการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่เลขาธิการ สมช.ลงมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยที่มาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก"
ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนกระบวนการจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่อยู่ร่วมในกระบวนการ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามหรือข้อกังขาจากหลายฝ่ายที่รัฐบาลต้องตอบเพื่อสร้างความเข้าใจและความชัดเจนให้กับสังคมไทยในฐานะเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ดังนี้
1.นายฮัสซัน ตอยิบ (ในหนังสือลงนามฯ เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ หรือ Ustaz Hassan Taib) เป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ตามที่อ้างจริงหรือไม่ และมีอิทธิพลกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบันแค่ไหน เพราะจากการสืบค้นข้อมูลเปิดในอดีต แม้กระทั่งในเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดัง พบว่านายฮัสซันถูกระบุว่าเป็นแกนนำกลุ่มพูโลเก่า
2.นายฮัสซัน ตอยิบ เคยตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อราวเดือน มี.ค.ปีที่แล้วว่าร่วมอยู่ในวงพูดคุยเจรจาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหลายคน ณ โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นได้เกิดเหตุคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และที่ อ.เมือง จ.ยะลา ในวันที่ 31 มี.ค.2555 มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้มีคำถามว่าหลังการพูดคุยครั้งล่าสุดที่มีนายฮัสซันเป็นแกนนำเช่นกัน มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงเช่นนั้นอีก
3.นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เปิดแถลงข่าวแสดงตัวเป็นผู้นำที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วยตัวเอง ระหว่างเปิดแถลงข่าวผลการประชุมประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 5 ร่วมกับนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย ในวันที่ 28 ก.พ.2556 โดยเป็นการอ่านเอกสารที่เตรียมไว้แล้วสำหรับการแถลงข่าว ขณะที่การแถลงของนายกฯยิ่งลักษณ์ในโอกาสเดียวกันกลับไม่มีประเด็นเหล่านี้ เท่ากับว่ามาเลเซียได้ช่วงชิงการนำและผลประโยชน์ทางการเมืองในกระบวนการสันติภาพหรือไม่
4.หากกระบวนการพูดคุยสันติภาพดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจริง เหตุใดกองทัพภาคที่ 4 จึงไม่ทราบเรื่องมาก่อน โดยเฉพาะ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในวันที่มีการพูดคุยถึงขั้นลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยระดับพื้นที่ที่รับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง
ส่วนการเดินทางไปมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็เป็นการไปเพียงในนาม และร่วมนั่งแถลงข่าวพร้อมกับนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ข่าววงในแจ้งว่าคณะทำงานได้พยายามทำความเข้าใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ และจะให้บทบาทกองทัพร่วมเป็นผู้นำในกระบวนการพูดคุยครั้งต่อๆ ไป
5.การปรากฏตัวให้สัมภาษณ์รายการข่าวโทรทัศน์ของ นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานองค์กรพูโล เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ.2556 มีข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ประสานงานให้ เพื่อสร้างกระแสการพูดคุยเจรจาให้เกิดขึ้นก่อนลงนามจริงในวันที่ 28 ก.พ. โดยหลังจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวออกอากาศ ได้มีการนำคลิปวีดีโอการสัมภาษณ์มาโพสต์ในเว็บไซต์ของสำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.ด้วย
จากข้อกังขาทั้ง 5 ประเด็น และการปรากฏชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยที่ นายนาจิบ ราซัก ผู้นำรัฐบาลมาเลย์ แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างแข็งขัน ทั้งๆ ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการแสวงหาความร่วมมือแทบจะไร้ผลในทางปฏิบัติมาโดยตลอด ทำให้น่าคิดว่ากระบวนการลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพเป็นการจัดฉากเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ลงตัวของผู้นำทั้งสองประเทศหรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่ามาเลเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐบาลนายนาจิบจะหมดวาระภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แต่รัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องคะแนนนิยม โดยเฉพาะพื้นที่เลือกตั้งของรัฐทางตอนเหนือของประเทศที่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงอาจมีการเร่งผลักดันวาระสันติภาพในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างภาพว่าเป็นผู้นำกระบวนการสันติภาพของภูมิภาค (หลังจากเคยแสดงบทบาทมาแล้วในกรณีฟิลิปปินต์กับกลุ่มอิสลามโมโร) และช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทยมาเลเซียซึ่งมีคนมลายูมุสลิมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ฝ่ายไทย รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกโจมตีมาตลอดเกี่ยวกับความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเปิดดีล "พูดคุยสันติภาพ" ย่อมได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะในทางทฤษฎีแล้วกระบวนการพูดคุยไม่มีอะไรผิด แต่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (หากมีความจริงใจและไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงทางการเมือง)
อีก 2 สัปดาห์นับจากนี้จะมีการเปิดเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการ ซึ่งฝ่ายไทยได้ตั้งคณะทำงาน 4 คน คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นหัวหอกในการเดินงานต่อไป โดยจะขยายวงพูดคุยด้วยการดึงฝ่ายปกครองและฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมในกระบวนการด้วย พร้อมมอบบทบาทให้กองทัพในหมวกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับรู้และตัดสินใจว่าจะพูดคุยกับใครในห้วงเวลาใด
แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อกระบวนการถูกพัฒนาไปถึงขั้นตอนการ "ยื่นเงื่อนไข" เพื่อยุติความรุนแรง เช่น เงื่อนไขการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือการยกเลิกหมายจับของผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งหมด ฯลฯ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะรับเงื่อนไขใดได้บ้าง...เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ชื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะประชาชนคนไทยทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ดูจะอยู่นอกวงสถาปนาสันติภาพครั้งนี้
และอะไรคือหลักประกันว่าจะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวพัน โดยเฉพาะการสร้างภาพ "เจรจาสันติภาพ" ที่ขีดกรอบเฉพาะกลุ่มบุคคลชั้นนำของทั้งสองฝ่าย (รัฐไทยและฝ่ายขบวนการ) โดยที่ปัญหาพื้นฐานโดยเฉพาะปมความไม่เป็นธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขเลยแม้แต่น้อย
ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์ มะรอโซ จันทรวดี ซึ่งพาพรรคพวกไปโจมตีฐานทหารที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยครอบครัวอ้างว่ามีความคับแค้นกรณีตากใบเป็นแรงขับดัน และชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ยกให้เป็น "ฮีโร่" ยังมิทันจางหายจากความสนใจของสังคมไทยด้วยซ้ำไป!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม นายอาวัง จาบะ หรือญาบัติ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นสองแกนนำบีอาร์เอ็น และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ระหว่างร่วมวงพูดคุยสันติภาพที่ประเทศมาเลเซีย