สภาพัฒน์ฯ เสนอย้ายชุมชนหนีมลพิษมาบตาพุด
สถานการณ์มลพิษมาบตาพุดยังวิกฤต สภาพัฒน์ฯ เสนอย้ายชุมชนหนี เอ็นจีโอชวนเฝ้าระวัง ‘อุตฯ ทวาย’ กระทบแหล่งอาหารไทย จี้รัฐดูแลคดีสังหารผู้ใหญ่จบฉะเชิงเทรา
วันที่ 1 มี.ค. 56 ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา ม.คุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น ร่วมกับศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดประชุมระหว่างประเทศ ‘การสื่อสารความเสี่ยง:แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจากพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา มาบข่า และบ้านฉาง จ.ระยองเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ขณะเดียวกันกลับประสบปัญหาเกิดสารปนเปื้อนแพร่กระจายในท้องถิ่น จนประชาชนต้องทยอยออกจากพื้นที่ แต่ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนตระหนักต่อการแก้ไขปัญหา แม้จะได้รับการตอบสนองจนเกิดระบบติดตามการปล่อยมลพิษในอากาศ น้ำ การกัดเซาะชายฝั่งทะเล แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการลงทุนอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการแก้ไขปัญหามาบตาพุดจะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งหากการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จ จะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและเป็นอุปสรรคในการเปิดพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมหลักแห่งใหม่ของประเทศในระยะต่อไป
ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาอย่างจริงจัง เรื่อง การโยกย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งปล่อยมลพิษออกมาไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อตรวจวัดมลพิษในพื้นที่รวมทุกโรงงานแล้ว กลับพบค่าเกินมาตรฐาน การแก้ไขโดยการลดและขจัดมลพิษอาจใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะที่การย้ายชุมชนออกจากพื้นที่อาจใช้งบประมาณน้อยกว่า โดยอาจกำหนดเป็นการดำเนินการในระยะยาวและต้องมีการสำรวจความเห็นของประชาชนด้วย
ศ.ดร.ฮานาดะ มาซาโนริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา ม.คุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น กล่าวว่า ไทยมีข้อด้อยในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดกับแหล่งอุตสาหกรรม จึงเอื้อต่อการปล่อยของเสียได้ง่าย ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถโต้แย้งกับนักวิชาการหรือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่า การศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของไทยยังไม่เข้มข้นและสอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มักสนับสนุนพวกพ้องในระบบทุน จึงไม่แน่ใจว่าในอนาคตระบบดังกล่าวจะยังสามารถนำมาใช้ได้อีกหรือไม่ สำหรับระบบการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและมลพิษอุตสาหกรรมยังมีน้อยและไม่บังคับใช้จริงจัง
ผศ.ปราณี พันธุมสินชัย อดีตคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการเปิดเผยข้อมูลอีเอชไอเอต่อสาธารณชนแล้ว แต่ประชาชนยังขาดความเข้าใจศัพท์ทางเทคนิคต่าง ๆ องค์กรอิสระจึงเข้ามาช่วยตีความเนื้อหา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนการกำหนดบทลงโทษแหล่งอุตสาหกรรมที่กระทำความผิดนั้นไม่ควรกำหนดเพดานอัตราจ่ายขั้นสูง เช่น ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เพราะเมื่อระยะเวลาล่วงเลยไป ค่าเงินดังกล่าวจะต่ำลง ผู้ประกอบการจึงละเลยได้ง่าย แต่ควรเปลี่ยนกำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำ เช่น ปรับขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท เพื่อศาลจะได้ตีความปรับสูงสุดได้ตามความเหมาะสม
“ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 4 เสา ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม แต่น่าแปลกใจว่าไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมบรรจุในหลักการจริงจัง แล้วจะถามหาความยั่งยืนของประชาชนในภูมิภาคได้อย่างไร” อดีตคกก.สิ่งแวดล้อมฯ กล่าว
นางภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า ชุมชนตกเป็นเหยื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของชาติ มิใช่การเสียสละอย่างที่กล่าวอ้าง โดยเฉพาะกรณีมาบตาพุด ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ควรมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดอีก นอกจากนี้การสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมทวายของไทย โดยยอมให้มีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบผ่านพื้นที่ของประเทศเรา จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารได้ เพราะอาจมีสารพิษรั่วไหล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการเสนอความเห็นให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งผลักดันนโยบายลดมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบทิ้งและกำจัดไม่ถูกวิธี โดยควรให้นิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งมีบ่อฝังกลบขยะสารพิษเอง (1 นิคมฯ 1 บ่อกลบขยะ) และรัฐบาลควรให้ความดูแลชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านการก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะในชุมชน เพราะเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้เร่งติดตามตัวคนร้ายที่สังหารนายประจบ เนาวโอภาส อายุ 42 ปี (ผู้ใหญ่จบ) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ภายหลังเป็นแกนนำต่อต้านการทิ้งกากอุตสาหกรรมและขยะเคมีพิษจนเสียชีวิตด้วย.
ที่มาภาพ:http://www.matichon.co.th/online/2009/03/12372036431237204114l.jpg