สถิติไฟใต้ มิ.ย.ถึง ส.ค. ทหารยันรอมฎอนปีนี้ไม่รุนแรงกว่าปีที่แล้ว
สุเมธ ปานเพชร / นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คือเดือน มิ.ย.ถึง ส.ค.2553 สถิติการเกิดเหตุรุนแรงค่อนข้างทรงตัว และยังคงมีความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง โดยยอดรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.ใกล้แตะ 4,100 ศพ
มิ.ย. - 51 เหตุร้าย ตาย 20 เจ็บ 93
เหตุการณ์ความไม่สงบในรอบเดือน มิ.ย.2553 เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งสิ้น 51 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงรวม 113 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 93 ราย
เหตุการณ์รุนแรงจำนวน 51 เหตุการณ์ แยกตามพื้นที่ในระดับอำเภอและจังหวัดได้ดังนี้
ปัตตานี 18 เหตุการณ์ เกิดขึ้นใน อ.สายบุรี 5 เหตุการณ์ อ.ทุ่งยางแดง 4 เหตุการณ์ อ.โคกโพธิ์ 3 เหตุการณ์ อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.กะพ้อ อำเภอละ 1 เหตุการณ์
ยะลา 16 เหตุการณ์ เกิดขึ้นใน อ.เมือง 6 เหตุการณ์ อ.รามัน 4 เหตุการณ์ องบันนังสตา 3 เหตุการณ์ อ.กรงปินัง 2 เหตุการณ์ อ.ธารโต 1 เหตุการณ์
นราธิวาส 16 เหตุการณ์ เกิดขึ้นใน อ.บาเจาะ 4 เหตุการณ์ อ.รือเสาะและ อ.ระแงะ อำเภอละ 3 เหตุการณ์ อ.ยี่งอ อ.ศรีสาคร และ อ.เจาะไอร้อง อำเภอละ 2 เหตุการณ์
สงขลา 1 เหตุการณ์ ในพื้นที่ อ.เทพา
หากแบ่งตามลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพื้นที่เกิดเหตุ สามารถจำแนกได้ดังนี้
ลอบยิง 29 เหตุการณ์ แยกเป็น จ.ปัตตานี 12 เหตุการณ์ ยะลา 8 เหตุการณ์ นราธิวาส 9 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด 22 เหตุการณ์ แยกเป็น จ.ปัตตานี 6 เหตุการณ์ ยะลา 8 เหตุการณ์ นราธิวาส 7 เหตุการณ์ และสงขลา 1 เหตุการณ์
ด้านเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 113 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 93 รายนั้น แยกตามจังหวัด กลุ่ม และอาการของเหยื่อความรุนแรงได้ดังนี้
ปัตตานี 27 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 8 ราย ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 10 ราย
ยะลา 57 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 10 ราย ประชาชน เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 41 ราย
นราธิวาส 20 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ประชาชน เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 8 ราย
สงขลา 9 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 2 ราย ประชาชนบาดเจ็บ 7 ราย
ก.ค. - 44 เหตุร้าย ยอดตายเกือบ 7 ปีจ่อ 4,100 ศพ
เหตุการณ์ความไม่สงบในรอบเดือน ก.ค.2553 เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลารวมทั้งหมด 44 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 40 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมาถึงสิ้นเดือน ก.ค. อยู่ที่ 4,090 ราย
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค.จำนวน 44 เหตุการณ์ สามารถแยกตามพื้นที่เกิดเหตุในระดับอำเภอและจังหวัดได้ดังนี้
ปัตตานี 13 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.หนองจิก 4 เหตุการณ์ อ.ยะหริ่ง และ อ.โคกโพธิ์ อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.ปะนาเระ อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ยะรัง และ อ.มายอ อำเภอละ 1 เหตุการณ์
ยะลา 12 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บันนังสตา 4 เหตุการณ์ อ.ยะหา 3 เหตุการณ์ อ.ธารโต 2 เหตุการณ์ อ.เมือง อ.รามันและ อ.กรงปินัง อำเภอละ 2 เหตุการณ์
นราธิวาส 19 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะแนะ 4 เหตุการณ์ อ.รือเสาะ 3 เหตุการณ์ อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง อำเภอละ 2 เหตุการณ์ อ.เมือง อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร และ อ.สุไหงโก-ลก อำเภอละ 1 เหตุการณ์
ทั้งนี้ หากจำแนกตามลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพื้นที่เกิดเหตุ สามารถแยกได้ดังนี้
ลอบยิง 29 เหตุการณ์ เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี 12 เหตุการณ์ ยะลา 6 เหตุการณ์ นราธิวาส 11 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด 15 เหตุการณ์ เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี 1 เหตุการณ์ ยะลา 6 เหตุการณ์ นราธิวาส 8 เหตุการณ์
ขณะที่เหยื่อความรุนแรงทั้งเสียชีวิตและได้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 69 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 40 รายนั้น แยกตามจังหวัด กลุ่ม และอาการของเหยื่อความรุนแรงได้ดังนี้
ปัตตานี 13 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 1 ราย ประชาชนเสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 6 ราย
ยะลา 21 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ประชาชน เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 3 ราย
นราธิวาส 35 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 18 ราย ประชาชน เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 6 ราย
ส.ค. - 48 เหตุร้าย พตท.อ้างเรื่องส่วนตัว 16 เหตุ
ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ. พตท.) ระบุว่า เหตุรุนแรงตลอดเดือน ส.ค.2553 เพราะที่เป็นคดีความมั่นคง ไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เกิดขึ้นทั้งสิ้น 48 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงรายวัน 35 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 11 เหตุการณ์ และก่อกวน 2 เหตุการณ์ ส่วนเหตุรุนแรงที่เป็นเรื่องส่วนตัวมีทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์
ข้อมูลจาก ศจฉ.พตท. ยังรวมยอดผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงนับตั้งแต่ 1 ม.ค.2547 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2553 มีผู้เสียชีวิต 4,036 ราย แยกเป็นศาสนาพุทธ 1,658 ราย อิสลาม 2,263 ราย ไม่ระบุศาสนา 115 ราย บาดเจ็บรวม 7,085 ราย แยกเป็นศาสนาพุทธ 4,347 ราย อิสลาม 2,255 ราย และไม่ระบุศาสนา 483 ราย
ทหารยันรอมฎอนปีนี้ไม่แรงกว่าปีที่แล้ว
แหล่งข่าวจาก ศจฉ.พตท. กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ ซึ่งระยะหลังเกิดเหตุรุนแรงถี่ขึ้นว่า หากพิจารณาเชิงสถิติเทียบกับปี 2552 เหตุรุนแรงในปีนี้ถือว่าเยอะกว่าปกติ แต่หากนับเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ก็ไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะช่วงใกล้สิ้นสุดเดือนรอมฎอนปีที่แล้วก็เกิดเหตุรุนแรงถี่เหมือนปีนี้ ช่วงเวลาการเกิดเหตุก็คล้ายคลึงกันหมด ต่างกันตรงที่ว่าปีนี้เกิดเหตุระเบิดมากกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200
อย่างไรก็ตาม พตท.ได้รับการแจ้งเบาะแสจากพี่น้องประชาชนมากกว่าเดิมมาก ทำให้สามารถป้องกันเหตุรุนแรงได้จำนวนหนึ่ง และลดความสูญเสียลง จะเห็นว่าเหตุระเบิดเกิดขึ้นเยอะ แต่ความสูญเสียมีไม่มาก มีผู้บาดเจ็บไม่เยอะ และที่สำคัญไม่เกิดเหตุใหญ่ตามที่ฝ่ายก่อความไม่สงบวางเป้าไว้
สำหรับสถิติการเกิดเหตุร้ายช่วงเดือนรอมฎอน นับจากวันที่ 11 ส.ค.2553 (ก่อนเริ่มวันแรกของเดือนรอมฎอน) จนถึงวันพุธที่ 8 ก.ย. เกิดเหตุรุนแรงทั้งหมด 85 เหตุการณ์ เทียบกับปีที่แล้วถือว่าใกล้เคียงกัน โดยปี 2552 ตลอดเดือนรอมฎอนอยู่ที่ 96 เหตุการณ์
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตารางแสดงสถิติเหตุร้ายและความสูญเสียประจำเดือน ก.ค.2553
2 ตารางแสดงสถิติเหตุร้ายและความสูญเสีย ประจำเดือน มิ.ย.2553