ประกันสังคม เผยผลตอบแทนการลงทุน 40,304 ล้านบาท
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยผลการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปจัดหาผลประโยชน์ปี 55 ที่ผ่านมา สร้างผลตอบแทนได้ถึง 40,304 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 40,000 ล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนปี 56 เน้นกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการลงทุน กองทุนประกันสังคม สำหรับในปี 55 ที่ผ่านมาสถานะเงินลงทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 991,837 ล้านบาท ประกอบด้วย
- กองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 862,055 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตน จำนวนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ ที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่ายบำนาญชราภาพในปี 57
- กองทุนกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 58,326 ล้านบาท
- กองทุนกรณีว่างงาน 70,189 ล้านบาท
- กองทุนมาตรา 40 จำนวน 1,267 ล้านบาท
เงินลงทุนทั้งหมดนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูง (ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน) จำนวน 784,001 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ เงินฝากธนาคาร หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ) จำนวน 207,836 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของเงินลงทุน
ผลตอบแทนการลงทุน ในปี พ.ศ. 2555 กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน จำนวน 40,304 ล้านบาท (ประกอบด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตร และกำไรจากการขายตราสารหนี้ จำนวน 32,548 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนจำนวน 7,756 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 4,242 ล้านบาท อัตราผลตอบแทน 12 เดือน ย้อนหลัง (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2555)อยู่ที่ร้อยละ 7.23 ต่อปี โดยคิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขายและเพื่อค้าตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 105
ทั้งนี้ นับตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเมื่อปี 2533 กองทุนประกันสังคมมีเงินสมทบสะสมจำนวน 716,435 ล้านบาท เงินดังกล่าวได้นำไปลงทุนและได้รับผลตอบแทนสะสมจำนวน 275,402 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 7.41% ต่อปี (คิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขายและเพื่อค้าตามมาตรฐานบัญชี 105)
แผนการลงทุนปี 2556 สำหรับปีนี้สำนักงานประกันสังคมคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยน่าจะเติบโตร้อยละ 4.8 จากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างจำกัด โดยมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ แต่ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาระหนี้ในยุโรป
จากการคาดหมายดังกล่าว ประกอบกับสภาวะดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก สำนักงานประกันสังคมจึงมีแผนที่จะกระจายการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ จากเดิม 2.5% เป็น 2.5 – 4.0 % ตราสารทุนต่างประเทศ สัดส่วนไม่เกิน 1.0% และการลงทุนทางเลือกอื่น โดยเน้นทรัพย์สินที่จับต้องได้ทั้งในและต่างประเทศ (ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์) จากเดิมที่มีไม่ถึง 1.0% เป็น 0.5 – 6.0 %