เปิดเบื้องหลัง "พูดคุยดับไฟใต้" เงื่อนไขแรกลดใช้กฎหมายพิเศษ!
การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เป็นเพียงกิจกรรมหน้าฉาก
เพราะสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือเบื้องหลังการถ่ายทำ และเงื่อนไขแรกที่แต่ละฝ่ายยื่นให้แก่กัน รวมทั้งการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
เริ่มจากสถานที่ที่ใช้ในการพบปะพูดคุย แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยว่า การพบปะกันเกิดขึ้นที่โรงเรียนตำรวจของมาเลเซีย ขณะที่ข่าวอีกบางแหล่งระบุว่าเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย จากนั้นจึงมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออต กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยให้การรับรองการพูดคุยลักษณะนี้
"ฮัสซัน"คนนราฯ-ลงนามพร้อมพูดคุย
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เข้าร่วมพูดคุยกับ นายฮัสซัน ตอยิบ และพวก เล่าให้ฟังว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเรียบร้อย และได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ โดย นายฮัสซัน ตอยิบ ได้ลงนามด้วยตัวเอง
"นายฮัสซันเป็นคนสุภาพมาก พูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เขาบอกว่าบ้านเกิดอยู่ที่นราธิวาส และเคยเรียนหนังสือในโรงเรียนไทย นายฮัสซันบอกกับคณะพูดคุยว่า คงจะต้องมีการพูดคุยกันแบบนี้อีกหลายครั้ง เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่"
เจ้าตัวยันเป็นบีอาร์เอ็น-ผบ.ทบ.ไฟเขียว
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบประวัติของนายฮัสซัน พบว่าเคยเป็นแกนนำองค์กรพูโล ไม่ใช่บีอาร์เอ็น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า ก็มีข่าวหลายกระแส แต่จากการพบปะกันล่าสุด นายฮัสซันยืนยันว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
"กระบวนการพูดคุยทั้งหมดได้รายงานให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับทราบทุกขั้นตอน ซึ่งท่านก็เห็นด้วย และได้ให้นโยบายว่าควรเดินหน้าพูดคุยกับคนที่ไม่มีหมายจับ เพราะในกลุ่มที่มีหมายจับหรือมีการกระทำผิดกฎหมายอาญาจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย"
เตือนใต้ป่วนต่อจากกลุ่มต้าน-ภัยแทรกซ้อน
รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"แน่นอนว่าในห้วงเวลานับจากนี้จะต้องมีการก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้างจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือพวกภัยแทรกซ้อนต่างๆ ที่เสียผลประโยชน์ (กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด) ซึ่งกลุ่มเหล่านี้น่าจะร่วมผสมโรงก่อเหตุรุนแรง ก็ต้องฝากถึงประชาชนคนไทยให้มีความเข้าใจและอดทนกับการดำเนินกระบวนการสันติภาพต่อไป" พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ
เปิดเนื้อหา "ข้อตกลงพูดคุยสันติภาพ"
สำหรับเนื้อหาในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process นั้น ระบุเอาไว้สั้นๆ ว่า "รัฐบาลไทยได้แต่งตั้ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.เป็นประธานกลุ่มงานสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรามีความมุ่งหวังที่จะร่วมกันสร้างกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างและมีอัตลักษณ์แตกต่างจากรัฐ ในฐานะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ขณะที่มาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก และจัดหามาตรการเพื่อความปลอดภัยของสมาชิกกลุ่มที่ร่วมกันทำงานนี้กระทั่งสิ้นสุดกระบวนการ"
ท้ายเอกสารระบุว่ามีการลงนามกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 ก.พ.2556 โดยผู้แทนฝ่ายไทยที่ลงนามคือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ คือ อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ (Ustaz Hassan Taib) โดยมีตราประทับของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสัญลักษณ์ของขบวนการบีอาร์เอ็น
อนึ่ง บีอาร์เอ็น คือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2503 แต่ต่อมาในปี 2520 เกิดความแตกแยกทางความคิดของกลุ่มแกนนำ จึงมีการแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ บีอาร์เอ็น คองเกรส บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และบีอาร์เอ็น อูลามา
จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทย เชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต มีส่วนอย่างมากกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 9 ปีมานี้ แต่ที่น่าสังเกตก็คือแทบไม่เคยปรากฏชื่อ นายฮัสซัน ตอยิบ เกี่ยวพันกับขบวนการบีอาร์เอ็น หรือบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ยกเว้นการถูกพูดถึงในฐานะบุคคลใกล้ชิดของแกนนำบางรายในอดีตเท่านั้น
"ทวี"บอกข้อตกลงล็อคห้ามแยกดินแดน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า เอกสารที่ลงนามร่วมกัน เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า การพูดคุยและแนวทางที่จะทำให้เกิดสันติภาพต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เท่ากับว่าเป็นการปิดทางความพยายามแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า อีก 2 สัปดาห์นับจากนี้ จะมีการเปิดเวทีพูดคุยกันอีกครั้ง โดยอาจใช้สถานที่ในประเทศมาเลเซีย ในฐานะที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการพูดคุย
เปิดเงื่อนไขแรกลดการใช้กฎหมายพิเศษ
แหล่งข่าวที่เข้าร่วมในวงพูดคุยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ. เผยว่า ทั้งสองฝ่ายมีการพูดกันถึงแนวทางการลดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายของนายฮัสซันเสนอให้ฝ่ายความมั่นคงไทยลดการใช้กฎหมายพิเศษลง โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และการปิดล้อม ตรวจค้น ซึ่งถือเป็นมาตรการเข้มที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
"กลุ่มที่เข้าร่วมพูดคุยบอกว่า หากลดความเข้มของการใช้กฎหมายพิเศษลง ก็จะส่งผลดีต่อสถานการณ์ โดยจะสามารถควบคุมให้ความรุนแรงเกิดน้อยลงได้" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า กลุ่มที่มากับนายฮัสซัน มีแกนนำที่เป็นสุภาพสตรีด้วย เท่าที่ทราบเป็นหัวหน้าคอมมานโดฝ่ายสตรีที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ดี แกนนำรายนี้ยังคงสงวนท่าที พูดน้อย เชื่อว่าการพูดคุยในครั้งต่อๆ ไป บรรยากาศจะดีขึ้นตามลำดับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process