วิกฤตขาดหมอชนบท สู่การจัดพวงบริการเครือข่าย รพ. “แก้ปัญหาได้จริง?”
ความจริงที่ซ้ำซากคือ “วิกฤติขาดหมอและเครื่องมือแพทย์ในชนบท” บางโรงพยาบาลแม้กระทั่งไส้ติ่งยังผ่าตัดไม่ได้... นโยบายจัดพวงบริการของ รมว.สธ.จะแก้ปัญหาได้หรือไม่? อย่างไร?
ปัญหาที่จับต้องได้ในทุกโรงพยาบาลชุมชนคือ คนไข้จำนวนมากได้รับการรักษาช้า ... โดยเฉพาะปัญหาความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง
กองเจียร ภูสถาน หนึ่งในผู้ป่วยเบาหวาน มีความกังวลขณะที่รอพบแพทย์ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย โดยโรงพยาบาลแห่งนี้มีขนาดเล็ก และตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตแดนประเทศลาวเท่าใดนัก
“ผมยังไม่รู้เลยว่าเท้าซ้ายของผมจะโดนตัดหรือไม่ หากต้องตัดจริง ก็อยากตัดที่นี่แหละไม่อยากไปไกลบ้าน แต่คงถูกส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย เพราะที่นี่ไม่มีหมอที่จะผ่าให้ หมอไม่เพียงพอ” กองเจียร ชาวนาในวัย 53 ปี อยู่ในอาการทุรนทุรายเพราะติดเชื้อที่เท้าข้างซ้ายจากโรคเบาหวาน ระบุ
โรงพยาบาลดังกล่าวขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ประจำทั่วไปไม่กล้าที่จะผ่าตัดให้ สภาพที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ไม่ต่างกับโรงพยาบาลชุมชนอีกกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ
ทั่วประเทศมีศัลแพทย์ 2,390 คน ส่วนวิสัญญีแพทย์มี 1,299 คน จำนวนนี้แยกออกทำงานในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลในเขตเมืองแทบทั้งสิ้นแน่นอนว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลย่อมขาดแคลน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ยังแสดงให้เห็นอีกว่า แต่ละปีมีการยื่นแสดงความประสงค์ของรับการผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชนถึง 700-1000 ราย แต่นั่นก็ไม่สามารถกระทำได้ ท้ายที่สุดคนไข้ก็ถูกยื้อการรักษา กระทั่งต้องตัดสินใจไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่แออัอและต้องรอคิวนาน
สำหรับห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนปัจจุบันนี้ อยู่ในสภาพไม่สู้ดีนัก หากไม่ถูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์ ก็ถูกนำไปใช้รักษาเพียงโรคที่ไม่ซับซ้อน เช่น การคลอดบุตรตามธรรมชาติ หรือการทำแผลทั่วๆ ไป
นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ฉายภาพว่าเป็น รพ.ขนาดเล็ก ทว่ากลับต้องดูแลให้การรักษาพยาบาลทั้งชาวไทยและชาวลาวที่ข้ามฝั่งมา เป็นเหตุให้ตกอยู่ในสภาพแออัด ทางเดียวที่จะช่วยเหลือคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการบริการขั้นสูงคือส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ขนาดใหญ่
ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง โดยให้ทุนศึกษาและกลับมาใช้ทุนโดยการทำงานในโรงพยาบาล แต่ข้อเท็จจริงคือนักเรียนทุนส่วนใหญ่เลือกจ่ายเงินชดเชยแล้วผันตัวไปทำงานในโรงพยาบาลเขตเมืองและโรงพยาบาลเอกชนแทน และมักจะไม่เลือกทุนการศึกษาสาขาแพทย์เฉพาะทางที่เมื่อให้การรักษาแล้วมีโอกาสถูกฟ้องร้องจากคนไข้ได้ เช่น สูตินารีแพทย์
รพ.สมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่ง รพ.ที่เคยประสบปัญญาเดียวกัน แต่สามารถใช้ระบบบริหารจัดการและความสัมพันธ์อันดีกับโรงพยาบาลอื่นๆแก้ปัญหาได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ด้วยการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับโรงพยาบาลจำจำจังหวัด เชียงรายประชานุเคราะห์
กล่าวคือ การแชร์ทรัพยากรกรระหว่างโรงพยาบาลขนาดเล็กกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถลดความแออัดของ รพ.ขนาดใหญ่ แก้ปัญหาขาดแพทย์ใน รพ.ขนาดเล็ก และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว
นพ.ธวัชชัย ใจคำวัง ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระญาณสังวร กล่าวว่า รพ.สามารถเปิดใช้ห้องผ่าตัดได้ตั้งแต่ปี 2553 โดยความร่วมมือของแพทย์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ที่ส่งแพทย์เฉพาะทางมาให้การรักษาฟรี เป็นเหตุให้ห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลสมเด็จฯ สามารถผ่าต้อกระจกและไส้เลื่อนได้ และอนาคตอันใกล้นี้ โรงพยาบาลสมเด็จฯ มีแผนขยายการบริการ โดยตั้งเป้าระยะสั้นว่าจะสามารถให้การรักษาผ่าตัดไส้ติ่งได้ด้วย
“การที่สามารถแชร์ทรัพยากรได้สำเร็จ เพราะความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล และเป็นความใจกว้างของแพทย์ที่มาให้ความร่วมมือ แม้ว่าจะเหนื่อยขึ้นแต่สามารถช่วยคนไข้ได้ทันท่วงที” คือกุญแจความสำเร็จจากประสบการณ์ตรงของ นพ.ธวัชชัย
นพ.พิชัย พงศ์มั่นจิต ศัลยแพทย์ทั่วไป รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ หนึ่งในแพทย์ที่อุทิศตัวมาช่วยผ่าตัดยังโรงพยาบาลสมเด็จฯ กล่าวว่าผ่าตัดมาแล้วกว่า 300 ราย ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาของผู้ป่วยจากเดิมที่ต้องรอเป็นปี เหลือเพียง 2-3 เดือน เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไข้ โดยลักษณะพิเศษของโรงพยาบาลแห่งนี้คือคนไข้จะมาจากพื้นที่ใดก็ได้ แม้ว่าสิทธิ์จะอยู่ในโรงพยาบาลต้นสังกัดอื่นก็สามารถรับการรักษาได้ ส่วนการเบิกค่าใช้จ่ายจะให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อเจรจาจากโรงพยาบาลต้นสังกัดผู้ป่วยเอง
มาถึงภาพใหญ่ระดับประเทศ กลาง ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มีดำริว่า ภายใน 1 เม.ย. จะเริ่มนโยบายโรงพยาบาลพวงบริการเดียวกันพร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะรวมโรงพยาบาล 5-6 จังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้าเป็นพวงบริการเดียวกันเพื่อดูแลประชาชนพวงละประมาณ 5 ล้านคน หลักการคือจะนำทรัพยากรทั้งสถานที่ บุคลากร เตียงนอน ห้องผ่าตัด เครื่องมือแพทย์มาแบ่งกันใช้ ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนที่เดิมแพทย์ไม่กล้าผ่าตัดโรคง่ายๆ เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดคลอด ต่อไปก็จะให้แพทย์จาก รพ.ขนาดใหญ่เดินทางไปผ่าตัดให้ที่โรงพยาบาลชุมชน ผู้ป่วยก็จะได้รับบริการรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวผ่าตัดนาน และไม่ต้องเดินทางไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลใหญ่
"นอกจากนี้ยังจะมีการจัดซื้อยารวมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนตึก รพ.ไหนว่างก็แบ่งให้ รพ.ที่แน่นใช้ หรือใช้เตียงร่วมกันได้ โดยไม่ต้องสร้างตึกใหม่ และจะเพิ่มเบี้ยกันดารตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น โดยให้อยู่ในค่าแรงของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย"นพ.ประดิษฐ กล่าว
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นด้วยกับนโยบายการแลกเปลี่ยนยาระหว่างโรงพยาบาลเพราะจะทำให้ รพ.อำเภอสามารถรักษาผู้ป่วยได้ด้วยตัวเองไม่ต้องไปเพิ่มความหนาแน่นใน รพ.จังหวัด แต่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำว่า ยาประเภทใดอยู่โรงพยาบาลใดบ้าง เพื่อให้สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศได้จริงๆ
แม้ว่าหลักการและแนวนโยบายจัดพวงบริการของ รมว.สธ.จะสวยหรูดูน่าสนับสนุนยิ่ง แต่คำถามที่เกิดคือ อะไรเป็นหลักประกันว่าแพทย์เฉพาะทางซึ่งมีคิวงานแน่นขนัดจะเดินทางมารักษาคนไข้ที่ รพ.ชุมชน และห้องผ่าตัดใน รพ.ชุมชนมีความพร้อมพอสำหรับการเปิดบริการในโรคที่มีความซับซ้อนแล้วหรือ? และการเกลี่ยแพทย์ดังว่าจะไม่กระทบกับคนไข้อีกจำนวนมากที่แออัดกันใน รพ.ขนาดใหญ่หรือ?
คำถามต่อมาคือกระทรวงสาธารณสุขเตรียมมาตรการหรือปรับแผนการให้บริการทางการแพทย์ในรูปแบบใดเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบคนไข้ใน รพ.ขนาดใหญ่ พร้อมๆไปกับการช่วยเหลือ รพ.ขนาดเล็ก มิเช่นนั้นแล้วการแก้ปัญหาหนึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม
รูปธรรมการช่วยเหลือกันระหว่างโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งอาศัยจิตอาสาคงใช้ได้ในเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่ แต่หากจะมองถึงการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และเครื่องมือในโรงพยาบาลชนบททั้งระบบ คงต้องอาศัยนโยบาย ซึ่งนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ความพร้อม ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นชัดเจน .