จับตาโยธาฯยกร่างกม.ผังเมืองใหม่ดึงผังปท.2600วางกรอบพัฒนาอุตฯ-ละเมิดสิทธิชุมชน
นักวิชาการหวั่นโยธาฯร่างกม.ผังเมืองใหม่ ดึงผังปท.พ.ศ.2600 บังคับแนววางผังจังหวัด – ให้ความชอบธรรมอุตฯขยาย ชี้ตัวอย่าง ‘ท่าเรือปากบารา’ ละเมิดสิทธิชุมชน เล็งร่วมคปก.ยกร่างฯประชาชนประกบ
นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราถึงข้อกังวลในการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย(มท.)กำลังดำเนินการยกร่างอยู่ว่า จากการศึกษาสาระในร่างพ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่พบว่ามีการนำผังประเทศพ.ศ. 2600 (ดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/Y4Bmvz) ซึ่งไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวางมาบังคับใช้เป็นกรอบการวางผังเมืองรวมจังหวัดและผังเมืองรวมในระดับย่อยลงไป เช่น ในมาตรา 31 ซึ่งระบุว่า เมื่อผังประเทศใช้บังคับ โครงการพัฒนาของรัฐด้านกายภาพ ต้องสอดคล้องกับผังประเทศ และการตั้งงบประมาณต้องสอดคล้องกับผังประเทศ
แม้ปัจจุบันกรมโยธาฯจะอ้างว่าผังประเทศพ.ศ. 2600 เป็นผังเพียงนโยบายซึ่งไม่ได้บังคับใช้ตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงแล้วในผังประเทศมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเจาะจงถึงในระดับโครงการ เช่น กำหนดให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วแม้จะมีการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่เรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศและการท่องเที่ยวชายฝั่ง แสดงให้เห็นว่าโครงการก่อสร้างไม่ผ่านกระบวนการยอมรับและมีส่วนร่วมของคนในท้องที่ โดยเชื่อว่าหากต่อไปผังประเทศถูกรับรองการนำมาใช้โดยชอบธรรมตามพ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ที่จะแก้ไขจะยิ่งทำให้ชุมชนถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น
“ผังประเทศไม่ควรนำมาใช้เป็นแนวบังคับการพัฒนาของพื้นที่ย่อยโดยไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ขณะนี้มีหลายโครงการที่นำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามผังประเทศมาใช้เป็นข้ออ้างประกอบการทำอีไอเอ(การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม)จนผ่าน แม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน” นางภารณีกล่าว
นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีในการยกร่างพ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ มีแนวคิดว่าภาคประชาชนจะร่วมกันเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯประกบร่างฯของกรมโยธาฯซึ่งมีสาระรองรับผังประเทศพ.ศ.2600 ดังกล่าว แต่หากยกร่างไม่ทัน ภาคประชาชนอาจเสนอความคิดเห็นต่อสภาฯผ่านกระบวนการของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้การทำผังเมืองรวมจังหวัดทั่วประเทศนับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2545 ให้กรมโยธาฯเร่งจัดทำผังประเทศ ผังภาค และผังเมืองรวมจังหวัดนั้น ขณะนี้มี 8 จังหวัด ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต สิงห์บุรี สระบุรี เชียงใหม่ ยโสธร นครนายก ปราจีนบุรี และราชบุรี
ขณะอีก 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ซึ่งขั้นตอนการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดใกล้สิ้นสุด แต่กรมโยธาฯได้สั่งให้มีการทบทวนการทำผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ตามข้อเรียกร้องของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอ้างว่าผังฯขัดต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์และมีพื้นที่เกษตรกรรมมากเกินไปไม่สอดคล้องกับความจริง ขณะที่ความเห็นอีกด้านจากภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดต่างๆโดยเร็วแล้วจึงแก้ไขภายหลัง เพื่อไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ช่องว่างของกฎหมายขยายพื้นที่รุกที่ทำกินทางเกษตรและชุมชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :::
-'จี้โยธาอุดช่องโหว่อุตฯขยายระหว่างรอผังเมืองใหม่-ชงแก้ผังปท.2600' http://bit.ly/YkmreF
-‘ไม่เชื่อตัวเลขพื้นที่อุตฯโคราชแค่ 1% –ติงโยธาฯไม่ใช้กม.คุ้มครองพื้นที่เกษตร’ http://bit.ly/15rahrR
-‘อุตฯหวั่นพื้นที่เกษตร-ชุมชนรุกอุตสาหกรรม ร้อง มท.ทบทวนผังเมืองใหม่’ http://bit.ly/XTDLqA
-ทุนรุกซื้อพื้นที่สีเขียวเมืองชลฯ 6 พันไร่ เล็งสร้างนิคมอุตฯ ฉวยจังหวะโยธาฯชะลอผังเมือง http://bit.ly/X0Ff47
-'นักวิชาการแนะเร่งทำผังชุมชน หวั่นผังเมือง จว.ล้อผัง ปท.2006 เอื้อพื้นที่สีม่วง' http://bit.ly/Xc2uX4
-'ชี้โยธาฯถ่วงผังเมืองโคราช-ชลฯ+8จว.เอื้อทุนการเมือง-อุตสาหกรรม' http://bit.ly/WjadWI