ครม.เห็นชอบ 9 มาตรการเร่งด่วนแผนแม่บทปราบปรามค้ามนุษย์
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ แผนแม่บทเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2556 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กองทัพเรือ) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครองและผู้ว่าราชการจังหวัด) กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) กระทรวงแรงงาน (กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว)
สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พม. เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี 2556 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการใช้จ่ายหรือปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าวโดยด่วนตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ส่วนเรื่องอัตรากำลังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร.
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานดังกล่าวทั้งหมด รายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าให้ พม. ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำกับดูแลและบูรณาการการดำเนินการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อกำหนดหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนในการจัดทำศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในลักษณะเบ็ดเสร็จ (One-Stop-Service) ได้โดยด่วน และสามารถส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปได้โดยเร็ว
สาระสำคัญของแผนแม่บทเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2556 ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ 9 ข้อ ดังนี้
1. การค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงาน
2. การดูแลแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์
3. การปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
4. ระบบการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
5. การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี
6. การอนุญาตให้ผู้เสียหายอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราว [ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551]
7. การค้ามนุษย์กับการท่องเที่ยว
8. การให้ข้อมูลและภาพลักษณ์ของประเทศไทย
9. ทรัพยากรในการดำเนินงานตามแผนแม่บทเร่งด่วน