คนจนอาเซียน ร้องรัฐบาลทำจริง “นโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน”
เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย ร้องรัฐบาลหนุนงบเพิ่ม ‘บ้านมั่นคง’ ดันตั้งเครือข่ายคนจนเมืองเอเชีย-แปซิกฟิก ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาคนจนไร้บ้านเป็นวาระชาติ
วันที่ 27 ก.พ. 56 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘สานพลังเครือข่ายองค์กรชุมชนคนจนเมืองในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก’ โดยกล่าวว่าปัญหาความยากจนและที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตประชาชน การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงจะนำไปสู่การมีสาธารณูปโภคและสภาพแวดล้อมที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ง่ายและต้องใช้เวลานาน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ไทยใช้ขับเคลื่อนคือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนรวมตัวเป็นเครือข่าย ตั้งแต่การสำรวจปัญหา ออกแบบ วางแผน และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ
“ชาวบ้านมีจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าทำให้ชุมชนเข้มแข็งลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาตนเองได้อ แทนที่จะรอให้ภาครัฐเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ได้ทันกับปริมาณปัญหาที่สั่งสมมานาน เช่น โครงการบ้านมั่นคงนั้น มีชาวบ้านในกระบวนการราว 90,000 คน ทำให้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยได้กว่า 300 เมืองทั่วประเทศ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มตัวแทนจากชาติต่างๆเรียกร้องให้เกิดการผลักดันโครงการบ้านมั่นคงให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันของประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง ซึ่งรมว.พม.รับปากจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อไป
นายอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ตัวแทนเครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่าปัจจุบันชุมชนบ้านมั่นคงบางพื้นที่ เริ่มประสบปัญหาโดยเฉพาะงานด้านก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการฯ จากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นนอกจากการปรับเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมและการผ่อนชำระหนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอด้วย
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการจัดการปัญหาคนจนไร้ที่อยู่อาศัยของไทยกับประเทศอื่น พบว่าไทยยังมีการขับเคลื่อนที่ดีกว่า เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา แอฟริกา อินเดีย ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร
"อยากให้เครือข่ายคนจนไร้ที่อยู่อาศัยผนึกกำลังและกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนช่วยเหลือกัน จัดตั้งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคต่อไป" ตัวเเทนเครือข่ายบ้านมั่นคง กล่าว
ขณะที่นางสมหมาย วงศ์นคร ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมือง ประเทศลาว กล่าวว่ามีการรวมตัวของ 500 ชุมชนสร้างเครือข่ายด้านการจัดการที่อยู่อาศัยในประเทศลาว จัดตั้งกองทุนทางการเงินจนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามในระดับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาลในหลายประเทศยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน.