ครม.เคาะแผนลงทุน 2 ล้านล้าน วาง 3 ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน
ครม.เห็นชอบยุทศาสตร์ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนก่อสร้างพื้นฐานประเทศ ชงให้ ก.คลังกู้กลางเดือน มี.ค. วางงบหลักพัฒนาระบบราง สร้างรถไฟฟ้า 10 สายหลัก – 4 เส้นทางความเร็วสูง
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบยุทธศาสตร์การลงทุนก่อสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคมและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาระบบราง ในสัดส่วนร้อยละ 80 ของวงเงินทั้งหมด ส่วนถนนใช้เงินประมาณร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นเรื่องทางน้ำ และอื่น ๆ โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างทั้งหมด 4.2 ล้านล้านบาท
โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งของประเทศระหว่างปี 2556-2563 ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่งทางถนนมาสู่การขนส่งต้นทุนต่ำ วงเงิน 309,564 ล้านบาท 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่งไปประเทศในภูมิภาค 954,757 ล้านบาท และ 3.พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งให้คล่องตัว วงเงิน 672,503 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ความเร็วเฉลี่ยรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 39 กม.ต่อชั่วโมงเป็น 60 กม.ต่อชั่วโมง และการขนส่งโดยสารมีความเร็วเพิ่มจาก 60 เป็น 100 กม.ต่อชั่วโมง และช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
"แผนการลงทุนหลักๆ ทั้งการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-พัทยา และรถไฟฟ้า 10 เส้นทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงมอเตอร์เวย์เส้นทางสำคัญเชื่อมจังหวัดต่างๆ เช่น บางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่- กาญจนบุรี จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 7 ปีข้างหน้า"
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ได้ยกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ให้กระทรวงการคลังกู้ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม และเสนอสภาฯ ในปลายเดือนมีนาคม เป็นวาระที่ 1 จากนั้นจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อเสนอสภาเป็นวาระที่ 2 ตามขั้นตอนปกติของสภาฯ ซึ่งการยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อทำเป็นโครงการเร่งด่วน และเป็นแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน
ในส่วนแผนการกู้เงิน นายชัชชาติ ยืนยันว่าสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะคุมวงเงินกู้เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้สาธารณะ เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี และหลังจากระบบสาธารณะก่อสร้างเสร็จ จะลดต้นทุนการขนส่งจากร้อยละ 15 ของจีดีพี เหลือร้อยละ 13.2 ของจีดีพี ขณะที่มาเลเซียมีต้นทุนการขนส่งร้อยละ 13 และสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 9 ซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้การรถไฟไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการลงทุนส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหารจัดการ โดยจะตั้งหน่วยงานพิเศษมาดูแลอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคม ณ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เพื่อให้ส่วนราชการที่มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไปร่วมเผยแพร่และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน พร้อมทั้งจัดเวทีสัมมนา และรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ