วาดะห์ฟื้น-"อารีเพ็ญ"แจง 4 ข้อที่คนชายแดนใต้ต้องการ
"พวกเราไม่ใช่ซุปเปอร์แมน" และ "อย่าคาดหวังอะไรกับพวกเรามาก" เป็น 2 ประโยคสำคัญจากปาก อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มวาดะห์ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในงานแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้จะเป็นคำพูดที่อาจถูกย้อนจากบางคนว่า "อ้าว! แล้วจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทำไม?" แต่นัยยะแห่ง 2 ประโยคนี้น่าจะทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า ปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานนั้น ไม่อาจแก้ไขได้โดยใช้หลักคิด "อัศวินม้าขาว" แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างแท้จริง
ตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่ได้นั่งสนทนากับอารีเพ็ญที่บ้านย่านประดิพัทธ์ กรุงเทพมหานคร ในฐานะอดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย อยู่ในแวดวงการเมืองมานานเกือบ 30 ปี พบความจริงว่าปัญหาภาคใต้ยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากแต่รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี และยังสอนมวยตรงๆ ว่า รัฐมนตรีที่รับผิดชอบต้องหมั่นลงพื้นที่ด้วย
ขณะที่จังหวะก้าวเที่ยวนี้ของ "กลุ่มวาดะห์" ซึ่งแทบจะถูกกลืนหายไปกับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งมาเกือบ 1 ทศวรรษ ย่อมมีเหตุผลทางการเมืองของกลุ่มรองรับอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
O เส้นทางของกลุ่มวาดะห์กับการเมืองไทยเป็นอย่างไร?
กลุ่มวาดะห์จริงๆ ตั้งขึ้นในปี 2528 ตอนนั้นเราสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ มี คุณวีระ มุสิกพงศ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์) เป็นเลขาธิการพรรค คุณวีระสัญญาว่าถ้าได้ ส.ส. 5 คนจะมี 1 เก้าอี้รัฐมนตรี เราได้ 6 คน คุณวีระก็ทำตามที่รับปาก
ระบบพรรคประชาธิปัตย์ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค สรุปก็เสนอชื่อ คุณเด่น โต๊ะมีนา (แกนนำและผู้ก่อตั้งกลุ่มวาดะห์) กับคุณวีระ เป็นรัฐมนตรี แต่พอถึงเวลาประกาศชื่อกลับเป็นคุณวีระ กับคุณสุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เมื่อเราไปทวงถาม ทางพรรคก็อ้างว่าข้างบนไม่เอา (หมายถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) แต่พอเราไปถามผู้ใหญ่ที่นับถือ กลับได้รับการยืนยันว่าทางพรรคเสนอไป 2 ชื่อเท่านั้น ไม่มีชื่อคุณเด่น
จากจุดนั้นทำให้คุณเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกัน) พาพวกเราแตกออกมาเป็นกลุ่ม 10 มกราฯ
O คำจำกัดความของวาดะห์คืออะไร?
คำว่าวาดะห์แปลว่า "เอกภาพ" ในที่นี้หมายถึงกลุ่มปัญญาชนมุสลิมกลุ่มแรกที่เสนอตัวทำงานการเมืองระดับรัฐสภา หากเราย้อนดูตั้งแต่ปี 2475 ตำแหน่ง ส.ส.ใน 3 จังหวัดบางสมัยเป็นคนพุทธทั้งหมดก็มี แต่พอเลือกตั้งปี 2480 ส.ส.สามจังหวัดใต้เป็นมุสลิมทั้งหมด แต่จุดด้อยของ ส.ส.มุสลิมคือภาษาไทยอ่อน บางคนจบแค่ ป.4 แต่มีความรู้ทางศาสนา
จุดเปลี่ยนคือยุคปี 2520 เป็นต้นมา มีคนมลายูที่จบปริญญาลงสมัคร ส.ส. คุณวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ลงสมัครปี 2522 สังกัดพรรคกิจสังคม แต่การเมืองไทยจะได้เป็น ส.ส.ต้องจ่าย จะมีอำนาจต้องจ่าย เราไม่มีทุนแต่มีพวก การอยู่กระจัดกระจายกันคนละพรรคทำให้ไม่มีเอกภาพ
อย่างเช่นปี 2526 คุณเด่นก็ได้เป็น ส.ส.พรรคชาติไทย แต่เป็น ส.ส.จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงคนเดียวของพรรค จึงไม่สามารถทำให้พรรคหันมาสนใจได้
หลังจากนั้นคุณเด่นจึงชักชวนคนที่มีพลังมาพูดคุยกัน ตอนแรกก็ประมาณ 20 คน ประชุมกันที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ก็ระดมความเห็นกันว่าจะเข้าพรรคไหน จริงๆ เสียงส่วนใหญ่อยากเข้าพรรคก้าวหน้าของ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน (อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร) เพราะนโยบายโดนใจพวกเรา โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่เราก็พิจารณาอีกด้านหนึ่งว่า พรรคก้าวหน้าเริ่มอ่อนแอ กระทรวงมหาดไทยก็คัดค้านอย่างแข็งขันในเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจเข้าพรรคใหญ่ดีกว่า ก็ไปเข้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีปัญหากันอย่างที่เล่าให้ฟังตอนต้น ทำให้ออกไปอยู่กับกลุ่ม 10 มกราฯ
O เท่าที่ศึกษาประวัติของกลุ่มวาดะห์ หลังออกจากประชาธิปัตย์แล้ว ก็ไปร่วมกับกลุ่ม 10 มกราฯตั้งพรรคประชาชน จากนั้นก็ไปอยู่พรรคเอกภาพ ผ่านงานมาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ช่วงไหนที่ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดของกลุ่ม
คิดว่าเป็นช่วงหลังหมดยุค รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ปี 2534-2535) บิ๊กจิ๋ว (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ตั้งพรรคความหวังใหม่ กลุ่มวาดะห์ก็เข้าไปร่วม เลือกตั้งสมัยแรกเป็นฝ่ายค้าน สมัยที่ 2 ได้เป็นรัฐบาล คุณเด่นได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เลือกตั้งปี 2538 คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ คุณวันนอร์ก็ได้เป็นรัฐมนตรี เลือกตั้งปี 2549 บิ๊กจิ๋วเป็นนายกฯ คุณวันนอร์ก็ได้เป็นประธานรัฐสภา
ถือว่าพวกเราทำงานได้มากที่สุดในยุคที่อยู่กับพรรคความหวังใหม่ พวกเราสร้างผลงานเอาไว้มากมาย พิมพ์หนังสือได้เป็นเล่มๆ
O จุดเด่นของกลุ่มวาดะห์ต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร?
การก่อเกิดของวาดะห์ทำให้คนในสามจังหวัดหันมาสนใจระบบรัฐสภามากขึ้น ต้องยอมรับว่าคนในพื้นที่ถูกโฉลกกับการต่อสู้อยู่แล้ว พอวาดะห์ประสบความสำเร็จ คนก็เอนเอียงมาทางพวกเรา คือเลือกแนวทางต่อสู้แบบรัฐสภา แต่พวกสุดโต่งก็ยังมีอยู่ เพียงแต่มวลชนของเรามีมากกว่า โดยเฉพาะตอนที่วาดะห์เข้มแข็ง
แต่กระแสก็มาตีกลับเมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 (4 ม.ค.ที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไร้อง จ.นราธิวาส) พวกเราโดนข้อหา นัจมุดดิน อูมา ถึงกับถูกฟ้อง ผมกับคุณเด่นก็โดนขออนุมัติหมายจับ แต่ศาลไม่อนุมัติ
ระบบการข่าวของไทย เขารู้จักคุณเด่นในฐานะหัวหน้ากลุ่มวาดะห์คนแรก และเป็นลูกของคนที่เรียกร้องเอกราช (หะยีสุหลง) ทั้งที่จริงๆ แล้วท่านหะยีสุหลงไม่ใช่กบฏ ท่านเรียกร้องการปกครองตนเอง แต่หน่วยข่าวก็รายงานตลอด ประชุมกลุ่มของเราเรื่องการเมือง เขาก็หาว่าเป็นการประชุมแบ่งแยกดินแดน
ตอนนัจมุดดินขึ้นศาล เราเห็นหลักฐานในสำนวนทั้งหมดถึงได้รู้ว่าเวลาเราประชุมพรรค เขาก็อ้างว่าเราประชุมแยกดินแดน แต่สุดท้ายอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี) ให้การต่อศาลว่า กอ.รมน.ไม่มีหลักฐานว่าพวกเราเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ปัญหาคือตำรวจที่ทำคดีมาจากที่อื่น เขาไม่รู้ข้อเท็จจริง เราร่วมมือกับแม่ทัพมาตลอด ก่อนเหตุการณ์ตากใบ 2 เดือน (เหตุการณ์ตากใบเกิดเมื่อ 25 ต.ค.2547) มีม็อบที่สุไหงปาดี (จ.นราธิวาส) ผมกับนัจมุดดินเป็นคนไปเคลียร์ ต้นเหตุของม็อบคือผู้หญิงมุสลิมเดินทางไปกรีดยาง จู่ๆ ก็มีทหารเดินผ่านมา จังหวะนั้นเขาไปเหยียบอะไรก็ไม่รู้แล้วกระเด็นใส่ขาจนได้รับบาดเจ็บ เขาก็เข้าใจว่าทหารยิง ก็เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้น เราก็ไปช่วยเคลียร์ว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น
ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ตากใบ ผมกับนัจมุดดินอยู่กรุงเทพฯ 9 โมงเช้าแม่ทัพโทรถึงผม บอกว่าอยากให้ช่วย ผมก็ให้พรรคพวกเข้าไปไกล่เกลี่ย ต้นเหตุของตากใบเริ่มจากการปล้นปืน ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) แล้ว ชรบ.ถูกดำเนินคดีตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น ก็มีการประท้วงขอให้ปล่อยตัว ชรบ.
พรรคพวกผมทั้งๆ ที่เป็นระดับ ส.จ.ในพื้นที่ แต่ชาวบ้านมาจากที่อื่น ทำให้ไม่รู้จัก เราก็แนะนำให้ทหารตรึงกำลังไว้ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงถือศีลอด พอ 6 โมงเย็นมุสลิมทุกคนต้องกินข้าว แต่ก็เกิดเรื่องเสียก่อน
ตั้งแต่เหตุการณ์ตากใบก็ยากที่จะเยียวยา ความรู้สึกของชาวบ้านคือเราอยู่ในรัฐบาล ทำไมถึงช่วยอะไรไม่ได้ ชาวบ้านไม่พอใจอย่างแรง ทั้งเหตุการณ์กรือเซะ (28 เม.ย.2547) และตากใบ เป็นรัฐบาลแล้วไม่เห็นช่วยอะไร
O หลังจากนั้นวาดะห์ก็สอบตกมาตลอด (ตั้งแต่เลือกตั้งใหญ่ปี 2548) ยิ่งช่วงหลังรัฐประหารปี 49 เหมือนกลุ่มแตก คุณวันนอร์และคนใกล้ชิดยังอยู่พรรคไทยรักไทย (ต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย) ส่วนอีกหลายคนไปอยู่พรรคมาตุภูมิ แต่ก็สอบตก แล้วรอบนี้กลับมารวมกันได้อย่างไร?
เราเห็นแล้วว่าถ้าเราแยกกันก็จะพ่ายแพ้ เราเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของแต่ละเขตมาดู (การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 กลุ่มวาดะห์สอบตกทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 9 จาก 11 เก้าอี้) จะพบว่าถ้าเอาคะแนนของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยกับมาตุภูมิ (กลุ่มวาดะห์กระจายไปสังกัด 2 พรรคนี้) มารวมกัน เราชนะประชาธิปัตย์ถึง 5-6 เขต
O แล้วครั้งนี้จะไปสังกัดพรรคไหน?
ทางกลุ่มอยากให้เป็นพรรคเพื่อไทย เป็นเสียงจากเวทีสัมมนาสมาชิกกลุ่มเมื่อครั้งที่ผ่านมา (17 ก.พ.) เพราะถ้าเราได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลก็จะช่วยชาวบ้านได้มาก
O เป็นไปได้ไหมที่กลุ่มวาดะห์ด้านหนึ่งก็แอบช่วยเหลือขบวนการแบ่งแยกดินแดน อีกด้านหนึ่งก็เล่นการเมืองระบบรัฐสภา?
เป็นไปไม่ได้ เรายึดสันติวิธี การเดินสองขาไม่เกิดประโยชน์ ชาวบ้านสับสน ถ้าเราจะทำ จะใช้ความรุนแรง เราจะเล่นการเมืองทำไม เพราะการเล่นการเมืองคือการอยู่ที่สว่าง ผีชอบอยู่ที่มืด
O แต่ในส่วนของคุณอารีเพ็ญเอง ก็มีพี่ชายคือ คุณรอมลี อุตรสินธุ์ (เสียชีวิตแล้ว) ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหมือนกัน?
พี่ชายผมถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าขบวนการเลย (หัวเราะ) จริงๆ แล้วผมและพี่น้องคนอื่นๆ ไม่ได้สนิทกับพี่ชายเท่าไร เพราะน้าที่อยู่มาเลเซียเอาไปเลี้ยงตั้งแต่ 7 ขวบ ผมมีพี่น้อง 10 คน รอมลีไปอยู่มาเลย์ตั้งแต่เด็กและไปเรียนจบที่อินโดนีเซีย จึงห่างกับพี่น้องอีก 9 คนพอสมควร เขาเรียนจบก็กลับมาค้าขาย
ที่ผ่านมาทางการเพ่งเล็งคนจบจากอินโดนีเซีย กระทั่งมีการจับกุมครูคนหนึ่ง แล้วซัดทอดพี่ชายผมว่าเป็นคนปลูกฝังอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ช่วงนั้นมีเหตุการณ์อุ้มหายอยู่บ่อยๆ หมอแว (นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีต ส.ส.นราธิวาส) ก็โดนจับ พี่ชายกลัว ไม่อยากเสี่ยง จึงหนีไปอยู่มาเลเซีย
O ส่วนตัวเชื่อว่าพี่ชายเกี่ยวข้องจริงไหม?
ถ้าดูตามลักษณะของพี่ชายแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเกี่ยวข้อง เพราะนิสัยเขาไม่ใช่คนกล้า เขาไม่กล้าทำเรื่องแบบนั้นหรอก เขาเป็นคนค้าขาย
O ในมุมมองของกลุ่มวาดะห์ ปัญหาภาคใต้คืออะไร?
คือความคับแค้น โดยที่คนกระทำให้เกิดความคับแค้นส่วนใหญ่คือเจ้าหน้าที่ ทั้งเหตุการณ์ตากใบ การใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) กวาดจับ 10 คน ดำเนินคดีได้แค่ 2 คน
O สถานการณ์ ณ ขณะนี้เป็นอย่างไร กลุ่มติดอาวุธมีมากน้อยแค่ไหน?
กองกำลังติดอาวุธมีไม่มากเท่าไหร่ อาวุธก็มีไม่เยอะ ผมคิดว่ารัฐบาลยังสามารถคลี่คลายปัญหาได้ อย่าปล่อยให้สถานการณ์สุกงอมจนประชาชนส่วนใหญ่เป็นศัตรูกับรัฐ
O มองกรณีวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพที่ฐานนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสอย่างไร?
รัฐและเจ้าหน้าที่ต้องไม่หลงกลตกหลุมพราง เขาร้อน รัฐต้องเย็น ต้องอดทนอดกลั้น ปัญหาที่ชายแดนใต้มีมานาน ปัจจุบันเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เอาคนนอกพื้นที่มารบกับเขา ฉะนั้นต้องให้คนในพื้นที่แก้กันเอง
การกระทำรุนแรงเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็จริง แต่ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การปล้นสะดม คนเหล่านั้นไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่ก่อเหตุรุนแรงเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ จึงเป็นการต่อสู้ของคนมีอุดมการณ์ รัฐต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน รัฐต้องใช้ความจริงใจให้มาก เมื่อเจอน้ำร้อน ต้องเอาน้ำเย็นไปรด
O คนสามจังหวัดเห็นด้วยกับการแยกดินแดนหรือไม่?
ผมว่าประเมินยาก แต่คนส่วนใหญ่ 80-90% อยากอยู่อย่างสงบสันติ ซึ่งรัฐสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ การดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลใดต้องชัดเจน ต้องละเอียด ไม่ลวกๆ
O กลุ่มวาดะห์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาคุณเฉลิม จะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไรบ้าง?
ต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มวาดะห์ไม่ได้เข้าไปทำงานเอง แต่เป็นที่ปรึกษา ถ้ารองนายกฯไม่ขอคำปรึกษาก็ไม่ต้องให้ หรือให้คำปรึกษาแล้วท่านไม่รับก็เป็นเรื่องของท่าน ฉะนั้นอย่าคาดหวังกับพวกเรา เพราะเราไม่ใช่ซุปเปอร์แมน
แต่แนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ ภาคการเมืองต้องรุกให้หนัก หมั่นเข้าไปพบชาวบ้านให้มาก โดยเฉพาะคนระดับรัฐมนตรี ต้องลงพื้นที่ เข้าไปหาชาวบ้าน ผมมีประสบการณ์ในเรื่องอย่างนี้ พอมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าไปเยี่ยมชาวบ้าน เขาจะอุ่นใจ ขวัญกำลังใจก็จะมา มันแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะต่อสู้
O แต่อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก็มีอยู่จริง?
มีตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง ลูกของคนรู้จักคนหนึ่งของผมเป็นเด็กเรียนดี อยู่มาวันหนึ่งแกบอกว่าไม่เรียนแล้ว จะเรียนไปทำไม จะได้เอกราชแล้ว นี่เป็นเรื่องจริง คนรู้จักต้องขอให้ผมไปช่วยพูดกับลูกแก
รัฐต้องเข้าใจว่าคนที่นั่นมีกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแยกดินแดนจริงๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ด้วยวัยของเขา เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรมาก็จะมีความรู้สึก แต่พอได้ทำความเข้าใจเขาก็รู้ วันนี้เขาก็กลับไปเรียน กลับไปมีชีวิตครอบครัวปกติแล้ว มันเป็นเรื่องของช่วงวัยหนึ่งด้วย
O การจะแก้ปัญหาในพื้นที่ รัฐต้องเริ่มอย่างไร?
คนในพื้นที่ต้องการ 4 อย่าง คือ 1.ความเป็นธรรม 2.ความปลอดภัย 3.รักษาอัตลักษณ์ และ 4.มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้ารัฐให้ 4 อย่างนี้ได้ ปัญหาภาคใต้ก็น่าจะจบ
O แนวทางการเจรจาถือว่าถูกต้องหรือไม่?
เป็นนโยบายของ สมช. (หมายถึงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 จัดทำโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ผมคิดเป็นนโยบายที่ดี แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่เห็นด้วย เขายังมองว่าไปคุยกับพวกโจรทำไม ถามว่าถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะออกนโยบายมาทำไม ฉะนั้นภาคการเมืองต้องแข็งแกร่ง มีธงนำชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร และหาข้อยุติให้ได้
หลายคนถามว่าจะคุยกับใคร เรื่องแบบนี้รัฐต้องประกาศให้ชัดเจนก่อน คนที่อยู่ในที่มืดเขาไม่เปิดตัวก่อนหรอก แต่ที่ผ่านมามีแต่ฝ่ายเราที่บอกไม่เอาๆ
การต่อสู้กันนั้น ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะเสียหายมากขึ้นทั้งสองฝ่าย การป้องกันเหตุร้ายทำอย่างไรก็ไม่รัดกุม แนวทางทางการเมืองก็ยังไม่ชัดเจน มีอะไรขึ้นมาก็ให้ฝ่ายความมั่นคงทำ ถ้ายึดนโยบายการเมืองนำการทหารจริง ก็ต้องทำอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว
O เขตปกครองพิเศษแก้ปัญหาได้หรือไม่?
เรื่องอย่างนี้ผมไม่พูดหรอก อีกข้างหนึ่งเขายังไม่พูดเลย เราไม่ใช่คนชี้ เป็นเรื่องที่รัฐกับคนที่ต่อสู้กับรัฐต้องพูดคุยกัน