จัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” กูรู ดักคออย่าให้การเมืองแทรก
ข่าวจริง?? ข่าวลือ?? ที่หนาหูในขณะนี้ หนีไม่พ้นการควบรวม เปลี่ยนโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำแบบ "ยกชุด" ขึ้นเป็น "กระทรวงน้ำ" โดยอ้างคำพูดที่สวยหรู ว่า เพื่อแก้ปัญหา 'น้ำท่วม - น้ำแล้ง' แบบเบ็ดเสร็จอย่างรวมศูนย์ และลดปัญหาความไม่มี เอกภาพในการบริหารจัดการ
ฟังแล้วก็เห็นคล้อยตามไปด้วย เพราะมีหลักการที่ "ดูดี" เป็นไปตามผลการศึกษา แนวคิด และข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำก่อนหน้านี้ของทั้ง กพร. ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สัมฤทธิ์ผลในประเทศไทย วุฒิสภา ศึกษาไว้เมื่อปี 2546
แต่เมื่อไล่เรียงดู กลับพบ "ความพยายาม" ที่จะจัดตั้งกระทรวงน้ำ นับตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการน้ำทั้งหมดมาอยู่ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อบริหารจัดการ "ภาวะวิกฤต" แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามการดำเนินงานแบบปกติ
...ประธาน กบอ. มั่นอกมั่นใจด้วยว่า "กระทรวงน้ำ" จะต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
ในฐานะ "ผู้ปฏิบัติงาน" มองเห็นความจำเป็น แนวทางของการพยายามควบรวมหน่วยงาน และทิศทางที่อยากให้เป็นสำหรับ "กระทรวงน้ำ" จะเป็นอย่างไรนั้น สำนักข่าวอิศรา หาคำตอบจากเวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมนักอุทกวิทยาไทย ที่จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "กระทรวงทรัพยากรน้ำกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำของประเทศ" ณ ห้องประชุมอาคารชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เวทีนี้รวบรวมสมาชิกนักอุทกวิทยาไทย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงบริหารจัดการน้ำไว้คับคั่ง โดยมี นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการกิจกรรมพิเศษ สมาคมนักอุทกวิทยาไทย รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาววิลาวัลย์ ตาน้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบราชการ กลุ่มกระทรวงที่ 4 สำนักเผยแพร่และสนับสนุนการมีส่วนร่วม สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมให้ความคิดเห็น
นายปราโมทย์ เริ่มต้นการพูดคุย โดยให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า กระทรวงน้ำ เป็นองค์กรบริหารจัดการน้ำระดับชาติที่รัฐบาลสมควรพิจารณา เนื่องจากมีความจำเป็นมาเป็น 10 ปีแล้ว เมื่อเกิดปัญหาเรื่องน้ำก็นำมาพูดถึง ท้ายที่สุดก็ไม่เกิด
อีกทั้ง ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำอยู่นับสิบกระทรวง หากวิเคราะห์ในเชิงการปฏิบัติงานแล้ว นับว่า ยังไม่มีความสอดคล้องและประสานการบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพเท่าที่ควร
ด้วยเพราะอยู่ต่างกระทรวงกัน
บางหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่แบบไม่ใช่ภารกิจหลักของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ มีความซ้ำซ้อนและไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง เป็นผลให้การทำงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของไทยไม่เกิดประสิทธิภาพ...
เช่นเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจารย์ปราโมทย์ ซึ่งได้ติดตามฟังเรื่องการจัดตั้งกระทรวงน้ำ ก็ยังมองไม่ออกว่า จะแก้ปัญหาการทำงานที่ไม่มีเอกภาพได้อย่างไร ตั้งขึ้นมาแล้วจะทำงานได้อย่างละเอียด ลึกซึ้งขนาดไหน...?
"รัฐมนตรีกระทรวงน้ำ ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ หากจะให้นักการเมืองมาชี้นิ้วสั่งอีก ก็คงแก้ปัญหาไม่ได้ คงล้มเหลวอย่างที่เคยเป็นมา"
รัฐมนตรีกระทรวงน้ำ มีที่ทำหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งในแง่นโยบาย และการปฏิบัติ ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการน้ำแต่ละด้าน อีกทั้งต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อ "ความสำเร็จ" หรือ "ความล้มเหลว" ในการดำเนินการตามนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกระทรวง
ฉะนั้น รัฐบาลต้องปรับกลไกองค์กรน้ำระดับชาติให้มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาต่างคนต่างทำ หรือต่างกระทรวงต่างทำ ให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างบูรณาการครบวงจร ทั้งจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ต่างๆ การบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำ เพื่อเป้าหมายการมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพน้ำที่ดี
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ยังคิดให้เสร็จสรรพด้วยว่า กระทรวงน้ำนั้น ต้องประกอบไปด้วยส่วนราชการดังต่อไปนี้ 1.สำนักงานรัฐมนตรี 2.สำนักงานปลัดกระทรวง 3.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรน้ำ 4.กรมอุตุนิยมวิทยา 5.กรมชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ 6.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 7.กรมป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 8.กรมฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำ 9.รัฐวิสาหกิจที่ควรจัดให้อยู่ในสังกัด ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรจัดการน้ำเสีย ฯลฯ
ในมุมมองด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ รศ.ดร.สุวัฒนา ยกตัวอย่างของปัญหาในการบริหารจัดการน้ำที่มีความซ้ำซ้อนในหลายด้าน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณ พบว่า หลายหน่วยงานเสนอของบประมาณซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาในพื้นทีเดียวกัน
"ผมเห็นด้วยให้มีการจัดตั้งกระทรวงน้ำมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันกระทรวงต่างๆ ปฏิบัติงานอย่างไม่อิสระ และถูกแทรกแซงจากการเมือง จึงไม่แน่ใจว่ายังควรจัดตั้งอยู่หรือไม่ เกรงว่าจะเป็นการจัดการโดยคนใดคนหนึ่ง"
หากได้กระทรวงน้ำที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดจะทำได้เพียงรวมหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ซ้ำซ้อนและความไม่มีเอกภาพได้
รศ.ดร.สุวัฒนา บอกด้วยว่า แม้จะจัดตั้งกระทรวงน้ำได้จริงในเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่สามารถพิจารณาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้อีกมากนัก เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันลดน้อยลงมาก คงทำได้ในบางโครงการตามที่เคยมีการศึกษามาก่อนแล้ว อย่างโครงการในงบประมาณจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยมและฟลัดเวย์
ส่วนการที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเสนอกรอบแนวคิด โดยอ้างว่าต้องการแนวคิดใหม่ๆ ท้ายที่สุด มีแนวโน้มที่จะสร้าง "เขื่อนลุ่มน้ำยมตอนบนและตอนล่าง และฟลัดเวย์แนวชัยนาท-ป่าสักฯ" ซึ่งก็เห็นด้วยในเชิงเทคนิคหลักการว่า มีความต้องการจริง
แต่ทั้งหมด...ล้วนเป็นการศึกษาเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วของกรมชลประทาน
"ปัญหาหลักๆ เรื่องน้ำอยู่ที่การบริหารจัดการ ไม่ใช่องค์ขาดความรู้ ดังนั้น หากจะมีการจัดตั้งกระทรวงน้ำ ก็ควรกลับไปพิจารณาแนวคิดโครงการเดิมที่มีการศึกษาไว้แล้วด้วย"
เช่นเดียวกับ นางสาววิลาวัลย์ ผู้เชี่ยวชาญจาก กพร. ในฐานะหน่วยงานที่ทำความเห็นเสนอ ครม.ก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกันว่า การจัดตั้งกระทรวงน้ำ จะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ฉะนั้น ต้องมีแนวคิดหลักในการจัดตั้ง ส่วนผู้บริหารกระทรวงก็ต้องดำเนินงานไปตามแนวคิดในการจัดตั้ง ไม่ใช่ยึดตามวัฒนธรรมองค์กรที่ตนเองมา
"เรื่องนี้ต้องมองให้ครบถ้วนว่า หากตั้งกระทรวงน้ำแล้วแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ต้องให้ได้มากกว่าเป็นกระทรวงที่รวบรวมหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน"