คปก. เตรียมคลอด ‘กรอบคิดปฏิรูป กม.ทรัพยากรฯ’ มี.ค. 56
คปก.เตรียมชง ครม.-รัฐสภา ‘กรอบคิดใหม่ปฏิรูปกฏหมายที่ดิน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม’ เติมสาระสิทธิชุมชน-กระจายอำนาจ-ความยั่งยืน เน้นบูรณาการ-ถ่วงดุล
วันที่ 22 ก.พ. 56 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุม ‘การบูรณาการกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เพื่อพิจารณา(ร่าง)ข้อเสนอกรอบคิดการปฏิรูปกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2550 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความตื่นตัวเข้าชื่อเสนอกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โฉนดชุมชน, ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชน ซึ่งเพื่อให้เกิดการใช้กฎหมายดังกล่าวในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องพัฒนาร่างกฎหมายให้แต่ละฉบับมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการ คปก. ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คปก.มีหน้าที่หลัก 2 ด้านคือ 1.การให้คำปรึกษาและสนับสนุนกระบวนการจัดทำกฎหมายของประชาชน 2.การเสนอความเห็นและข้อสังเกตแก่คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมาย
ซึ่งขณะนี้ คปก.มีแนวทางจะเสนอกรอบคิดการปฏิรูปกฎหมายทรัพยากรฯ ให้กับหน่วยงานภาครัฐก่อนที่จะดำเนินการร่างกฎหมาย เพราะในอดีตการร่างกฎหมายโดยหน่วยงานรัฐมักจะไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน ความยั่งยืนของทรัพยากร และหลักการบูรณาการปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คาดว่าภายในมี.ค. 56 จะทำข้อเสนอกรอบคิดดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และจัดพิมพ์เผยแพร่ได้
ด้านนายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันขาดความเป็นธรรมและยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องเกิดกระบวนการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมากขึ้น เช่นที่ผ่านมามีความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง เช่น การดำรงจารีตประเพณีและวิถีชีวิตชุมชน การเข้าถึงทรัพยากร การบังคับใช้กฏหมาย และยังมีความไม่ยั่งยืน เช่น ความไม่ยั่งยืนในการอยู่อาศัยในพื้นที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
“เรามักพูดว่าจะสร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลเพราะไม่เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับแร่ที่ต้องให้เขตพื้นที่ประทานบัตรเพื่อขุดขึ้นมาใช้ กรอบคิดดังกล่าวแสดงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพียงมิติเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่ยังมีมิติของชุมชนอยู่ด้วย” ปธ.มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าว
นายศักดิ์ณรงค์ มลคล เลขานุการ คปก. กล่าวว่าขณะนี้ไทยใช้หลักกฎหมายแบบตะวันตกในการพิจารณาไต่สวนคดี ซึ่งผู้มีอำนาจหรือนายทุนมักได้รับประโยชน์มากกว่าคนในชุมชน แม้รธน. ปี 50จะบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้ก็ตาม แต่กลับไม่ได้รับการบูรณาการทางกฎหมาย จึงเสนอให้เพิ่มเติมเรื่องจารีตประเพณีดั้งเดิมของชุมชนบัญญัติไว้ในเรื่องสิทธิชุมชนด้วย เพื่อการเข้าถึงของประชาชนในการใช้ทรัพยากรต่อไป
ขณะที่น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวว่าการพัฒนากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มจะต้องบูรณาการโดยยึดหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่ควบคู่กับการกระจายอำนาจแก่ทุกภาคส่วนให้มีอำนาจตัดสินใจบริหารจัดการและมีสิทธิในทรัพย์สินได้อย่างเท่าเทียม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมฯ ยังมีข้อเสนอว่าต้องสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ภายใต้หลักสิทธิชุมชน สมดุล และยั่งยืน ซึ่งนักกฎหมายต้องนำไปตีความและบังคับใช้อย่างเป็นธรรม อีกทั้งควรเพิ่มเติมเรื่องระบบความรับผิดชอบค่าเสียหายภายหลังเสร็จสิ้นคดี และหลักตรวจสอบถ่วงดุลในกฎหมายแต่ละฉบับด้วย.
ที่มาภาพ:http://www.netbookco.com/wp-content/uploads/2012/04/011.jpg