คลอด ‘1 อำเภอ 1 อาชีวะ’ นำร่อง 30 แห่ง เน้นสาขาอาชีพต้องการของท้องถิ่น
สอศ.ขานรับ ศธ.คลอด ‘โครงการ 1 อำเภอ 1 อาชีวะ’ ตามเป้าสัดส่วนเด็กสายสามัญ/อาชีวะ 50:50 นำร่อง 30แห่งๆละ 200ล้านบ. เน้นสาขาขาดแคลนเป็นที่ต้องการของพื้นที่
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดว่าในนปีการศึกษา 2559 สัดส่วนนักเรียนในสายอาชีวศึกษากับสายสามัญจะต้องอยู่ที่ 50:50 ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมแนวทางเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะตามเป้าหมายหลายโครงการ โดยเฉพาะการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา 1 อำเภอ 1 แห่ง
เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กสนใจอยากเรียนต่อสายอาชีพ แต่กลับไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยู่ใกล้บ้าน บางพื้นที่วิทยาลัยอยู่ไกลออกไปหลายอำเภอ ขณะที่โรงเรียนสายสามัญมีทุกพื้นที่โดยลงไปถึงระดับตำบล จึงทำให้เด็กหันไปเรียนต่อสายสามัญจำนวนมาก ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มี 500 กว่าอำเภอที่ไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาตั้งอยู่ ดังนั้น สอศ.จึงต้องเร่งเพิ่มให้ครอบคลุมทุกอำเภอ
"ให้เสนอที่ตั้งมาจังหวัดละ 1 แห่ง ช่วงแรกอาจเป็นอำเภอใหญ่ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือก ปีแรกจะมี 30 แห่ง แต่ละแห่งได้รับงบประมาณผูกพัน 3 ปี 200 ล้านบาท ทั้งนี้การพิจารณาจะดูว่าจังหวัดนั้นมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยู่หรือไม่ มีนักเรียนสนใจเรียนสายอาชีพแค่ไหน และต้องตั้งห่างจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนในจังหวัดเดียวกันค่อนข้างมาก ต้องเปิดสอนในสาขาที่สอดคล้องและเป็นความต้องการของพื้นที่ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จ มี.ค.นี้ และเปิดการเรียนการสอนได้ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557"
เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่าเมื่อเร็วๆนี้ ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยในสังกัด สอศ.เพิ่มเติมขึ้นอีก 5 แห่ง ไม่รวมกับ 30 วิทยาลัยที่จะมีการคัดเลือกตามโครงการนี้ โดยจะเปิดทำการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย,วิทยาลัยการอาชีพ(วก.)กันทรารมย์, วก.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ วก.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ และ วก.นาแก จ.นครพนม อย่างไรก็ตามวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งนี้ได้มีการเปิดรับนักเรียนและจัดการเรียนการสอนอยู่ก่อนแล้ว แต่ได้ฝากเด็กเรียนไว้ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัด สพฐ.
ที่มาภาพ : http://bit.ly/XOixdW