รัฐบาลล็อคเงินลงทุน 2 ล้านล้าน ต่างชาติเชื่อมั่น-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ
ทุกฝ่ายกำลังจับตามองการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตั้งเป้าว่าจะเห็นรูปร่างหน้าตาของโครงการ และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อย่างช้าในเดือนมี.ค.นี้
กฎหมายฉบับดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุน "ลอตใหญ่ที่สุด" ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย และเป็นการ "รวบ" ระบบงบประมาณของประเทศเอาไว้ในพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ต่างจากที่เคยแยกส่วนเสนอขอความเห็นชอบจากครม.เป็นรายโครงการหรือรายปี
ล่าสุด ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองเป็นรายโปรเจกต์ ซึ่งจะต้องแนบท้ายพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาว่าจะมีอะไรบ้าง
ยุทธศาสตร์หลักๆของโครงการลงทุน ประกอบด้วย 1.การเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งกับภูมิภาค 8 โครงการ วงเงินเบื้องต้น 1.90 แสนล้านบาท เช่น ด่านศุลกากรชายแดนและโครงสร้างพื้นฐาน 2. การมุ่งสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน 39 โครงการ 1.55 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้า
และ 3.ยุทธศาสตร์การยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค (ฮับ) ทั่วประเทศ 10 โครงการ 1.58 แสนล้านบาท เช่น การสร้างถนนหรือทางรถไฟเชื่อมต่อจุดที่เป็นฮับที่สำคัญประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง จุดเชื่อมโยงขนส่งในภูมิภาค เช่น ท่าเรือเชียงของ จุดพักสินค้าที่ จ.หนองคาย
หากครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าประมาณปลายเดือน มี.ค. 2556 รัฐบาลจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ และคาดว่าการกู้เงินลงทุน จะดำเนินการได้ก่อนสิ้นปีนี้
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ มองว่า การออกพ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องดำเนินการตามแนวทางนี้ จะทำให้โครงการสำคัญ ซึ่งผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว จะเดินหน้าได้ต่อไปได้ และมีวงเงินสนับสนุนการก่อสร้างอย่างเต็มที่
ดร.ชูวิทย์ ระบุว่า แผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอเป็นตัวฉุดดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ปัจจัยชี้วัดด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา และด้านการสาธารณสุข ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ สุดท้ายจึงกระทบต่อภาพรวมของอันดับความสามารถของประเทศ
"เมื่อมีการลงทุนด้านถนนจะช่วยให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข สถานีอนามัยหรือได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือโครงการมอเตอร์เวย์ก็สามารถรองรับการขนส่งสินค้าและอุตสาหกรรมต่างๆได้มากขึ้น" ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์กล่าว
ขณะเดียวกันโครงการลงทุนส่วนหนึ่งยังสร้างคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงกลุ่มประเทศที่อยู่ติดทะเลอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ด้วย โดยกระทรวงคมนาคมจะมีการพัฒนาเส้นทางถนนเชื่อมต่อไปยังชายแดนเหล่านี้ทำให้การขนส่งสินค้าและเดินทางสะดวกขึ้น และจะมีการเปิดด่านชายแดนจำนวน 8 ด่าน
นอกจากนั้น ยังมีโครงการสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า เช่น การลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์เส้นบางใหญ่-บ้านโป่ง มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าวในอนาคต และจะมีการสร้างถนนในฝั่งไทยเพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อพม่าก่อสร้างถนนในฝั่งพม่าเสร็จก็จะมีการเชื่อมโยงกันได้ทันที
"ในอนาคตการค้าขายกับเพื่อนบ้านอาเซียนจะขยายตัวมาก เมื่อมีการลงทุนสร้างถนนก็จะเกิดกิจกรรมตามระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทั้งประเทศอาเซียนตอนบนคืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและตอนล่างคือประเทศที่ติดทะเลทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย" ดร.ชูวิทย์ระบุ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ เชื่อว่า โครงการลงทุนทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการกลั่นกรองความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าในการลงทุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถตอบโจทย์เรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว และการออกแบบ "โซนนิ่ง" ว่าพื้นที่ใดจะใช้ระบบการขนส่งแบบใดจึงเหมาะสมที่สุด ซึ่งแผนการลงทุนฉบับนี้ น่าจะได้รับการตอบรับทางบวกจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ทางกระทรวงคมนาคม มีแนวทางค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มประมูลเฟสแรก 4 โครงการนำร่อง ในพื้นที่รัศมี 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพ คือ กรุงเทพ- เชียงใหม่ , กรุงเทพ-โคราช , กรุงเทพ-พัทยา และกรุงเทพ-หัวหิน ส่วนโครงการรถไฟสายใหม่จะมีทั้งรถไฟเส้นเชียงราย-เชียงของ และเชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น
ด้านการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ มุ่งเน้น 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี เบื้องต้นจะเป็นโครงการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน หรือ PPPs เพราะเชื่อว่าจะมีเอกชนสนใจเห็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า จะประหยัดเงินของรัฐบาลและทำให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นได้
อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกันของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่า การกู้เงินตามพ.ร.บ.วงเงินถึง 2 ล้านล้านบาทนี้ อาจสร้างภาระหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นจากขณะนี้ที่มีประมาณ 43% เป็น 50-60% ได้ แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่มองว่า แม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปถึง 60% ซึ่งเป็นเพดานของกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า และหากไม่ลงทุนในตอนนี้แล้วเลื่อนไปอีก 10 ปี มูลค่าการก่อสร้างจะต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยเป้าหมายคือให้ความสำคัญกับระบบขนส่งระบบราง ,ขนส่งทางบก และขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนขนส่ง รวมถึงการพัฒนาด่านศุลกากรรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า โดย สบน. คาดว่าจะเริ่มมีการกู้เงินตาม พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ได้ในปีงบประมาณ 2557 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค. 2556 นี้
"สบน. ได้จัดทำประมาณการหนี้สาธารณะในช่วงอีก 7 ปี ข้างหน้า เริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ย. 2555 ที่มีทั้งการกู้จาก พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และหากต้องมีการกู้จากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้าน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมอยู่ด้วย พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ที่ไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี" น.ส.จุฬารัตน์กล่าว
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยเสริมที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ หากพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎร และในภาคปฏิบัติสามารถขับเคลื่อนได้จริงอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 0.4-0.5% ต่อปี จากภาวะปกติที่คาดว่าในปี 2556 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราสูงสุดที่ 5.7% เท่ากับว่ามีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตทะลุ 6% ได้ไม่ยาก หากรัฐบาลเดินหน้าตามพ.ร.บ.ลงทุนฉบับใหม่ดังกล่าว
แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมที่สำคัญช่วงปี 2556-2563
โครงการที่สำคัญ |
วงเงินรวมโครงการ |
· ด้านขนส่งทางถนน |
|
มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด |
16,600 ล้านบาท |
มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา |
68,780 ล้านบาท |
มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี |
45,560 ล้านบาท |
มอเตอร์เวย์ นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ |
38,290 ล้านบาท |
มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครสวรรค์ |
32,330 ล้านบาท |
ส่วนต่อทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี (พุทธมณฑลสาย2-เพชรเกษม) |
12,500 ล้านบาท |
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (พระสมุทรเจดีย์-ถนนเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ที่ท่าฉลอม)
|
30,967 ล้านบาท |
· ด้านขนส่งทางราง |
|
รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ |
22,9809 ล้านบาท |
รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา |
96,826 ล้านบาท |
รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน (ปาดังเบซาร์) |
82,166 ล้านบาท |
รถไฟความเร็วสูงสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง |
72,265 ล้านบาท |
Airport Rail Link ดอนเมือง-บางซื่่อ-พญาไท |
32,900 ล้านบาท |
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง |
47,074 ล้านบาท |
สายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ |
36,404 ล้านบาท |
รถไฟสายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ |
63,090 ล้านบาท |
รถไฟเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ระยะที่ 1 |
46,961 ล้านบาท |
รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย |
11,348 ล้านบาท |
รถไฟทางคู่นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน |
27,332 ล้านบาท |