ชี้แนวโน้มส่งออกอาหารไทย’56 โตร้อยละ 6 ฝ่าค่าเงินบาทแข็ง
อุตฯ อาหารไทยชี้แนวโน้มส่งออกปี 56 เติบโตร้อยละ 6 ทะลุ 1 ล้านล้านบาทครั้งแรก ระบุค่าเงินบาทแข็ง-ภัยแล้งเสี่ยงฉุดหลุดเป้า ธุรกิจเกษตรฯ เผยเอกชนดัน ‘ออร์แกนิก’ สู่ตลาดยาก เหตุผลิตไม่ทันผู้บริโภค
วันที่ 20 ก.พ. 56 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าว ‘สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต’ ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 56 มีมูลค่าราว 1,030,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของไทย จากเดิมปี 55 มีมูลค่าเพียง 971,689 ล้านบาท แต่ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกปี 56 ต้องขยายตัวร้อยละ 3.5 ประกอบกับเศรษฐกิจเอเชียที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว อีกทั้งมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในรูปแบบการค้าเสรีและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค
ซึ่งสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูงในปีนี้ คือ ไก่และสัตว์ปีก ขยายตัวร้อยละ 14.5 มันสำปะหลัง ร้อยละ 6.4 อาหารเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 6.7 ปลากระป๋องและปลาแปรรูป ร้อยละ 12.8 เครื่องปรุงรส ร้อยละ 9.6 ทูน่าแปรรูป ร้อยละ 6 ส่วนน้ำตาลทรายและผักผลไม้สดคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 6.6 และ6.1 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้น้ำตาลทรายจากอ้อยมีคุณภาพต่ำ ประกอบกับจีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าน้ำตาลลง
ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้า แต่ทางที่ดีการส่งออกอาหารจะขยายตัวค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีต้องเท่ากับ 29.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท มาอยู่ที่ 28.50 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกของไทยจะลดลงประมาณร้อยละ 2 เหลือเพียง 1,009,600 ล้านบาท
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า หากพิจารณาถึงสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบัน จะส่งผลให้สินค้าไทยเสียเปรียบให้กับเวียดนาม อินเดีย จีน โดยเฉพาะข้าวที่เสียแชมป์เมื่อปี 55 เพราะนโยบายโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่กักตุนสินค้าไว้ ประกอบกับเวียดนามและอินเดียมีการเปิดตลาดข้าวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นประเทศที่ไทยอาจเสียเปรียบในการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากค่าเงินดองไม่ได้แข็งค่าตามค่าเงินของภูมิภาค แต่กลับอ่อนค่าลงร้อยละ 0.21 ทำให้ข้าว กุ้ง ปลาทะเลแปรรูป มีแนวโน้มแข่งขันได้ยาก ยิ่งเปรียบเทียบกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ของไทยยิ่งทำให้เสียเปรียบมากขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมถึงมาตรการที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70 ต้องการให้มีการส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนกลวิธีการผลิต โดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารมียอดการส่งออกไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท คือ ปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าลดลง ซึ่งยอมรับว่าเราไม่สามารถคุมได้ ตรงกันข้ามปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวรัฐบาลยังมีนโยบายในการช่วยเหลือเป็นระยะ จึงไม่ค่อยกังวล
“อุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งเป้ามียอดการส่งออกเกิน 1 ล้านล้านบาท มา 3 ปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จึงคาดหวังว่าปีนี้จะทำได้ตามแผนที่วางไว้” ปธ.คกก.ธุรกิจเกษตรและอาหาร กล่าว
ขณะที่นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงแนวโน้มการเข้าไปผลักดันธุรกิจเกษตรอินทรีย์ว่า ความจริงไทยเป็นประเทศเขตร้อน มีแมลงเยอะ ฉะนั้นการที่เราจะหันไปจับธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความปลอดภัยจากสารเคมีสูง กังวลว่าอาจให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ดังนั้นเราจึงใช้มาตรฐาน Thai GAP เป็นการควบคุมการจัดการผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัย หมายถึง อนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ แต่ต้องมีระบบการควบคุมที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมามีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.
ที่มาภาพ:http://www.bsnnews.com/file_upload/news/library/5-201301241234114S.JPG