ชีวิตหลังปลดคดีของศิษย์เก่า "ม.21" : ปัญหาใต้แก้ไม่ได้ด้วยความรุนแรง
พลันที่รัฐบาลประกาศจะเพิ่มน้ำหนักการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ "มาตรา 21" เปิดช่องทางให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือแนวร่วมของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้เข้ารายงานตัวและตัดสินใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนแทนการไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดที่เคยก่อนั้น
หลายฝ่ายที่เกาะติดปัญหาชายแดนใต้ก็เริ่มมีคำถามว่า กระบวนการตามมาตรา 21 จะ "เวิร์ค" หรือไม่ เพราะรัฐบาลประกาศพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา มานานกว่า 3 ปี แต่กลับมีผู้เข้ากระบวนการเพียง 7 ราย ล่มกลางคันไป 4 ราย ประสบความสำเร็จแล้ว 2 ราย เหลืออีก 1 รายยังอยู่ในกระบวนการอบรม
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเป็นห่วงว่าผู้ที่เข้าร่วมอบรมกับรัฐแล้วจะกลับตัวกลับใจตัดขาดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือการใช้ความรุนแรงได้จริงหรือไม่ ที่ร้ายไปกว่านั้นคือจะกลายเป็น "เป้าสังหาร" ของกลุ่มขบวนการที่ยังใช้ความรุนแรงอยู่หรือเปล่า
เหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าผู้ที่ผ่านการอบรมมาเรียบร้อยแล้ว และใช้ชีวิตในสังคมตามปกติหลังปลดพันธนาการด้านคดีความ...
รอยาลี บือราเฮง อายุ 28 ปี คือหนึ่งใน 2 ผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 กระทั่งศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา มีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ต.ค.2555 ระงับการฟ้องคดี และสั่งปล่อยตัวเป็นอิสระ เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เคยถูกออกหมายจับในคดีร่วมกับพวกโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อปี 2554
เขาเปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" หลังกลับคืนสู่ครอบครัว ถึงการตัดสินใจเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 และผลที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา
"ก่อนเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ผมถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่เดือน ก.ย.2554 ถูกจับที่ จ. ยะลา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ต่อมาก็มีทหารมาแนะนำให้เข้าร่วมโครงการตามมาตรา 21 แต่ตอนแรกผมยังไม่ได้ให้คำตอบ ผมได้กลับไปหาข้อมูลก่อนว่าอะไรคือมาตรา 21 เมื่อได้รู้ข้อมูลแล้วก็มานั่งตัดสินใจ" เขาเล่าย้อนถึงสิ่งที่ต้องใคร่ครวญในห้วงเวลานั้น
"ผมทราบว่าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาชวนผม มีผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 4 คนจะเข้าร่วมโครงการ แต่ต่อมาคุยกันไม่ลงตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหาคนใหม่ ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ตอนนั้นก็คิดว่าจะลองเสี่ยงดวงดู ถ้าไม่ได้เป็นไปตามที่ทหารบอก เราก็ไม่มีอะไรเสียหาย ก็มาต่อสู้คดีเหมือนเดิม แต่ถ้าสำเร็จ คดีของเราก็จะจบลง จะได้ออกมาอยู่กับครอบครัว"
รอยาลี บอกว่า ได้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 เดือนที่ค่ายพระปกเกล้า อ.เมือง จ.สงขลา เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.2555 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ปีเดียวกัน จากนั้นศาลจังหวัดนาทวีก็มีคำสั่งปล่อยตัวในวันจันทร์ที่ 29 ต.ค.
"ตอนที่เริ่มคิดว่าการฝึกอบรมน่าจะได้ผล คือผ่านมาประมาณ 2 เดือน ตอนนั้นได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง กระทั่งผ่าน 6 เดือน ถึงวันที่ศาลอ่านคำสั่งระงับการฟ้องคดี จึงแน่ใจแล้วว่าการอบรมได้ผลจริงๆ คดีเราจบได้จริงๆ มาตรา 21 ดีจริงๆ ตอนนี้อยากให้เพื่อนๆ ที่กำลังคิดเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมตามมาตรา 21 ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะทหารไม่ได้หลอกเรา"
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรา 21 รอยาลีได้เดินทางกลับบ้าน โดยมีครอบครัว ทั้งมารดา ภรรยา และลูก มารอรับถึงที่ศาลจังหวัดนาทวีอย่างอบอุ่น
"หลังจากออกมาก็ไม่ได้ไปอยู่บ้านแม่ที่ปัตตานี วันแรกกลับไปอยู่บ้านแฟนที่ยะลา หลังจากนั้นก็ไปเยี่ยมแม่ ทุกวันนี้ก็ยังใช้ชีวิตปกติ ไปไหนมาไหนทุกวัน ดีใจที่ได้ออกมาเจอลูก ไม่มีภาระหรือความหนักใจที่ต้องต่อสู้คดีอีก ลูกคนโตของผมอายุ 2 ขวบกว่าแล้ว ส่วนลูกคนเล็กก็เพิ่งคลอดเมื่อไม่นานมานี้เอง"
เขาเล่าต่อว่า ชีวิตทุกวันนี้เหลือแค่ทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง นั่นคือการเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ซึ่งองค์ความรู้ส่วนหนึ่งได้รับมาจากการฝึกอบรมกับโครงการตามมาตรา 21 ด้วย
“ร้านของผมอยากให้มีแบบครบวงจร ใช้โบกี้รถไฟเป็นที่ตั้งร้าน มีทั้งบริการอินเทอร์เน็ต ซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านกาแฟ และอาหารตามสั่ง ให้อยู่ในร้านเดียวไม่ต้องใหญ่โต แต่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ตอนที่เข้าฝึกอบรมเขาก็สอนหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านอาชีพซ่อมคอมพิวเตอร์ ผมได้ความรู้จากตอนที่เข้าฝึกอบรมมาตรา 21"
"ตลอด 6 เดือนที่อยู่ในโครงการ ได้อะไรดีๆ หลายอย่าง ได้เข้าใจระบบการดาวะห์ มองภาพลักษณ์ทหารดีขึ้น เห็นความจริงใจที่ทหารทำ ที่สำคัญคือมองว่าปัญหาความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ควรใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แต่สันติวิธีเท่านั้นที่จะแก้ได้ และปัญหาจะดีขึ้นถ้ารัฐรู้จักปรับตัวเอง แก้ระบบที่เป็นปัญหาของตัวเอง ผมคิดว่าปัญหาสามจังหวัดสามารถแก้ได้ ดินแดนแห่งนี้ยังมีโอกาสสงบ แต่จะสงบอย่างไรผมยังตอบไม่ถูกเหมือนกัน"
เมื่อถามถึงความรู้สึกกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ศิษย์เก่ามาตรา 21 บอกว่า รู้สึกดีขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมฝึกอบรม เพราะตอนนั้นต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ก็ต้องหนี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว รู้สึกดีใจและเป็นอิสระ รู้สึกโล่ง สบายใจ ก็มีบ้างที่กลัว แต่ก็พยายามบอกตัวเองว่าไม่ต้องระแวง ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดถ้าอัลลอฮ์กำหนด ชีวิตทุกวันนี้จึงคิดแค่ว่าเราพร้อมที่จะไปหาอัลลอฮ์แค่ไหน และเราจะเอาอะไรไปหาพระองค์
ในส่วนของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน รอยาลี บอกว่า หลังจากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีก แค่รู้กันว่า "เงียบ" คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
"ทุกวันนี้ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเพื่อนคนอื่นๆ เลย ได้แต่ทำงานเลี้ยงครอบครัว" เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะทิ้งท้ายว่า...
"ถ้าถามว่ากลัวไหม ก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะใช้ชีวิตในพื้นที่ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องอยู่ให้ได้ ชีวิตเราอัลลอฮ์กำหนด ไปอยู่ที่ไหนก็ตายได้ เราหนีความตายไม่พ้น การใช้ชีวิตในโลกนี้คือบททดสอบของอิสลาม"