ตั้งเป้าปี 2559 ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบ “ส้วมนั่งราบ” 90%
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559)
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้
สาระสำคัญของแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (2) เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย (3) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ (4) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่าง ถูกหลักสุขาภิบาล
2. เป้าหมายความสำคัญ มีดังนี้ (1) ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบ "ส้วมนั่งราบ" ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 (2) สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการ "ส้วมนั่งราบ" อย่างน้อย 1 ที่ร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (3) ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (4) คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 (5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559
3. กลุ่มเป้าหมาย
(1) ส้วมครัวเรือน
(2) ส้วมสาธารณะในสถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะ 12 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งท่องเที่ยว 2. ร้านจำหน่ายอาหาร 3. ตลาดสด 4. สถานนีขนส่งทางบกและทางอากาศ 5. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6. สถานศึกษา 7. โรงพยาบาล 8. สถานที่ราชการ 9. สวนสาธารณะ 10. ศาสนสถาน 11. ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ 12. ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์
4. กลยุทธ์ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าประสงค์ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน จะใช้กลยุทธ์หลัก ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ ดังนี้คือ (1) กลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วม (Creating Particpation Strategy) (2) กลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะ (Public Communication Strategy) (3) กลยุทธ์การใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย (Social and Law Enforcement Strategy) (4) กลยุทธ์การพัฒนาวิชาการและการเรียนรู้ (Knowledge and Learning Strategy)
5. การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ แผนฯ จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชนหรือเจ้าของสถานประกอบการ ในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทยผลักดันและให้การสนับสนุนแต่ละภาคส่วนให้มีการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ะละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุได้รับบริการที่มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม
6. การติดตามประเมินผล เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานตามแผนฯ กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผล โดยดำเนินการดังนี้
(1) คณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อำนวยการและติดตามความกว้าหน้าผลการดำเนินงานส้วมสาธารณะไทย อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม
(2) ให้คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมาย ตามแผนฯ ประจำทุกปี ในระยะครึ่งแผนฯ และระยะสิ้นสุดของแผนฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนฯ ต่อคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย