กรมชลฯ ระบายน้ำเพิ่มช่วยวิกฤติไฟฟ้า ก.พ.-มิ.ย.นี้ ยันไม่กระทบเกษตรกรรมใต้เขื่อน
อธิบดีกรมชลฯ ถก กฟผ.แผนระบายน้ำเพิ่ม 384 ล้านลบ.ม.ช่วยบรรเทาวิกฤติไฟฟ้า กพ.-มิ.ย.นี้ เน้นซีกตะวันออกเขื่อนศรีนครินทร์-วชิราลงกรณ ยืนยันไม่มีผลกระทบพื้นที่เกษตรกรรมใต้เขื่อน
วันที่ 19 ก.พ.56 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ตรงประเด็นเที่ยง" กรุงเทพธุรกิจทีวี ถึงกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประสานกรมชลประทานช่วยปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติไฟฟ้า ว่ากรมชลประธานมีการกำหนดแผนการระบายน้ำไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วจากเขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ซึ่งทำงานในรูปคณะอนุกรรมการที่จะกำหนดการระบายน้ำในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้รับการประสาน กฟผ.ที่จะเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้า
"เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์คงระบายเพิ่มไม่ได้แน่นอน เพราะปริมาณน้ำค่อนข้างจำกัด แต่ยังมีแหล่งน้ำของ กฟผ.ในภาคตะวันตกคือเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ มีทั้งหมด 3 ช่วงที่เราจะขาดก๊าซธรรมชาติจากฝั่งพม่าช่วง 24-25 ก.พ.จะมีการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนวชิราลงกรณ์จากวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น 35 ล้านลบ.ม. เพิ่ม 2 วัน และมีในช่วง 4-12 เม.ย.จากวันละ 29 ล้านลบ.ม.เป็น 35 ล้านลบ.ม. และเดือน มิ.ย.มีแผนระบายวันละ 16 ล้านลบ.ม.เป็น 35 ล้านลบ.ม. รวมทั้งหมด 16 วันจะต้องใช้น้ำเกินจากแผนเดิมที่วางไว้ 384 ล้านลบ.ม. ซึ่งในซีกฝั่งตะวันตกปริมาณน้ำเท่านี้จะไม่มีผลกระทบกับระบบชลประทาน"
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่าส่วนจะมากเพียงพอที่ช่วยบรรเทาปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงขาดแคลนได้หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่ต้องระบายน้ำตามที่กำหนดได้เพียงเท่านี้ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบกับพื้นที่ใต้เขื่อนหรือภาคเกษตรกร ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ ซึ่งการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนศรีนครินทร์เกรงว่าอาจจะกระทบไปท่วมบางพื้นที่ จึงกำหนดให้มีการระบายจากเขื่อนวชิราลงกรณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหานี้.
ที่มาภาพ:http://news.thaipbs.or.th/sites/default/files/vlcsnap-2013-02-18-17h28m30s234.png