เส้นทาง พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชายแดนใต้ 5 พื้นที่ - เทียบดีกรี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลประกาศเพิ่มน้ำหนักการบังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบนั้น ถือเป็นมาตรการ "ไม้นวม" ที่ทดลองทำใน "พื้นที่นำร่อง" มาหลายปีแล้ว
"กุญแจสำคัญ" ของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 21 ซึ่งมีเนื้อหาเปิดทางให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยอมเข้ามอบตัวกับทางการ สามารถเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดีอาญาตามความผิดที่เคยกระทำเอาไว้ได้ หากผู้ใดผ่านการอบรมดังกล่าว สิทธิของรัฐในการนำคดีมาฟ้องถือเป็นอันระงับไป
บทบัญญัติมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุเอาไว้ว่า "หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป"
จากเนื้อความตามมาตรา 21 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ถอดออกมาจัดทำเป็นกระบวนการปฏิบัติ 6 ขั้นตอน คือ
1.เมื่อผู้ต้องหากลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2.ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. (เฉพาะกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4)
3.เมื่อ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
4.พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม
5.หากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด
และ 6.เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับการอบรม รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนดเสร็จสิ้น ผลคือสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป
ปัจจุบันกระบวนการตามมาตรา 21 ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี อันเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอเดียวในพื้นที่สามจังหวัดที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมอำเภอที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จำนวน 5 อำเภอจาก 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
สาเหตุที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะติดเงื่อนไขตามมาตรา 15 ที่ระบุว่า "ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน...." นั่นย่อมหมายถึงว่าหากจะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯได้ พื้นที่นั้นต้องไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารคัดค้านตลอดมา ด้วยเหตุนี้ในห้วงเวลาเกือบ 8 ปีที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการยกเลิกการบังคับใช้ไปเพียง 1 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ส่วนพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแต่เดิมแล้ว
อย่างไรก็ดี ผลสัมฤทธิ์ของการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังคงถูกตั้งคำถาม เพราะรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2552 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้ขยายเวลาประกาศปีต่อปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รวมเวลาแล้วกว่า 3 ปี แต่กลับมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงผ่านกระบวนการอบรมตามมาตรา 21 สำเร็จเสร็จสิ้นเพียง 2 คน และอยู่ในกระบวนการอบรมอยู่อีก 1 คน
ผู้ต้องหาคดีความชุดแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 มี 4 ราย โดยเริ่มเข้ากระบวนการตั้งแต่กลางปี 2553 ทั้ง 4 คนมีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีลอบวางระเบิดและยุยงปลุกปั่นให้ผู้อื่นกระทำความผิด ทว่าเมื่อกระบวนการเดินไปถึงขั้นตอนที่ 4-5 คือให้ศาลส่งผู้ต้องหาเข้าอบรม ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้ยืนยันต่อศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2555 ว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมแทนการถูกฟ้องคดี ทำให้กระบวนการต้องล่มกลางคัน
ต่อมาช่วงต้นปี 2555 ได้มีผู้ต้องหาชุดที่ 2 ซึ่งก็คือ นายรอยาลี บือราเฮง และ นายยาซะ เจะหมะ ตัดสินใจเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 อีก 2 ราย และได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมกระทั่งศาลจังหวัดนาทวีสั่งระงับการฟ้องคดีอาญาในที่สุดเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2555
ปัจจุบัน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม โดย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวง และคณะ พิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งหาวิธีการเพื่อปรับกระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้กระชับยิ่งขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้าร่วมกระบวนการมากกว่าที่ผ่านมา
เทียบดีกรี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ - พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีดีกรีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการรบกวนหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอ่อนกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีมากกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ประกอบด้วย
- ห้ามเผยแพร่ข่าวสาร, ห้ามการชุมนุมมั่วสุม, ห้ามใช้อาคาร, ตรวจสอบจดหมาย สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์, อายัดอาวุธหรือยุทธภัณฑ์ และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้คราวละ 7 วันแต่รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
ส่วนข้อกำหนดที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีระบุไว้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มี คือ มาตรา 21 ที่เปิดให้ผู้ต้องคดีความมั่นคงเข้ามอบตัว และเลือกเข้ารับการอบรมจากรัฐเพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรียังต้องรายงานผลการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วย