เปิด 5 จุดอ่อนทางยุทธวิธี ต้นเหตุป่วนปัตตานี รัฐเจอโต้กลับ
ถามกันเซ็งแซ่และวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่าเหตุใดฝ่ายความมั่นคงจึงป้องกันการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงตอบโต้กรณีวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพกลุ่มติดอาวุธที่เข้าโจมตีฐานนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.2556
ในแง่จุดอ่อนทางยุทธวิธีเท่าที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง พอสรุปได้ดังนี้
1.ระเบิดที่คนร้ายใช้ส่วนใหญ่ เฉพาะกรณีป่วนเมืองปัตตานี 9 จุด (ตั้งแต่บ่ายวันเสาร์ที่ 16 ก.พ.ต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.) เป็นระเบิดเพลิงบรรจุในกล่องกระดาษขนาดไม่ใหญ่นัก ระเบิดเหล่านี้เคลื่อนย้ายได้ง่าย
2.การตั้งด่าน จากข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มี "ด่านหลัก" อยู่ 66 ด่าน ที่เหลือเป็น "ด่านลอย" หรือ "ด่านทางยุทธวิธี" คือไปตั้งด่านโดยไม่มีกำหนดล่วงหน้า หรือไม่ก็เป็น "ด่านชะลอรถ" ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า
ทั้งนี้ ด่านหลักส่วนใหญ่อยู่บนถนนสายหลัก ส่วนถนนสายรอง สายระหว่างตำบล หมู่บ้าน โดยมากมีแต่ด่านชะลอรถ ไม่มีคนเฝ้า พอจะเข้าหมู่บ้านจึงจะมีด่าน อส. (อาสารักษาดินแดน) หรือ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ขณะที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีถนนสายรองและสายย่อยจำนวนมาก ผู้ก่อความไม่สงบที่เชี่ยวชาญพื้นที่เป็นอย่างดีจึงสามารถเคลื่อนย้ายคน อาวุธปืน และวัตถุระเบิดโดยไม่ผ่านด่านตรวจด่านสกัดหลักของเจ้าหน้าที่ได้
จากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคง พบว่า โครงสร้างของ "องค์กรทหาร" ที่ปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ นั้น นอกจาก "อาร์เคเค" หรือหน่วยติดอาวุธขนาดเล็กจำนวน 6 คนที่ปฏิบัติการแล้ว ยังมีคีย์แมนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ "ฝ่ายโลจิสติกส์" คล้ายๆ ฝ่ายส่งกำลังบำรุงของทหาร คนที่ทำหน้าที่ฝ่ายนี้จะเป็นผู้เสาะหาเส้นทางที่ปลอดภัย ไม่มีด่านของเจ้าหน้าที่ และยังเป็นหน่วยล่วงหน้าเวลาบุคคลวีไอพีของขบวนการ เช่น แกนนำคนสำคัญ จะเดินทางเข้าหรือออกพื้นที่ด้วย
3.ระยะหลังคนร้ายใช้ผู้หญิง หรือไม่ก็ผู้ชายแต่แต่งกายคล้ายผู้หญิง ในการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ หรือแม้แต่ก่อเหตุ โดยในส่วนของผู้หญิงจริง จะทำให้การตรวจค้นทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ประจำด่านมักเป็นผู้ชาย ส่วนการใช้ผู้ชายแต่แต่งกายคล้ายผู้หญิงก็เพื่ออำพรางการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ อำพรางระบบเฝ้าตรวจ เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ทำให้เข้าปฏิบัติการได้ง่าย คนไม่ค่อยสงสัย ซ้ำยังช่วยให้การตรวจสอบรูปพรรณสัณฐานที่แท้จริงทำได้ยากอีกด้วย
4.ในส่วนของระเบิดขนาดใหญ่ เช่น ระเบิดถังแก๊ส ระเบิดถังดับเพลิง จริงๆ แล้วไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายระเบิดเป็นลูกๆ ข้ามพื้นที่ แต่ยุทธวิธีคือแยกส่วนระเบิด เช่น แผงวงจรจุดระเบิด จะประกอบโดยทีมเดียวหรือจาก 1-2 แหล่งเท่านั้้น จากนั้นจะส่งแผงวงจรเหล่านี้ไปยังแนวร่วมพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ทีมงานเฉพาะ มีฝ่ายโลจิสติกส์คอยช่วยเหลือ ส่วนดินระเบิดจะแยกส่งต่างหาก
สำหรับภาชนะที่ใช้ห่อหุ้มระเบิด ไม่ว่าจะเป็นถังดับเพลิง ถังแก๊ส รวมทั้งสะเก็ดระเบิด พวกเหล็กเส้นตัดท่อนหรือตะปู เป็นวัสดุที่แนวร่วมแต่ละพื้นที่หากันเอง เมื่อได้วงจรจุดระเบิดและดินระเบิดมา จึงจะเลือกพื้นที่หรือเป้าหมายที่จะปฏิบัติการ
วิธีการเช่นนี้ทำให้ที่ผ่านมาแทบไม่มีระเบิดผ่านด่านตรวจ หากจับกุมได้บ้างก็จะเป็นในส่วนอุปกรณ์ประกอบระเบิด นอกจากนั้นยังสามารถทำให้แนวร่วมแต่ละพื้นที่สามารถวางระเบิดแบบเร่งด่วน แม้เป้าหมายจะเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง หรือเปลี่ยนจุดในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังสามารถโจมตีได้ โดยฝ่ายความมั่นคงป้องกันตนเองยากมาก
5.ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ "ไอโอ" (Information Operation) ของภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงยังเข้าไม่ถึงประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มที่โน้มเอียงสนับสนุนขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
สืบเนื่องจากกรณีวิสามัญฯ 16 ศพ จะเห็นได้ว่าฝ่ายขบวนการแก้เกมทันควันด้วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในลักษณะ "ปล่อยข่าวลือ" ผ่านบุคคลที่น่าเชื่อถือตามร้านน้ำชาซึ่งเป็นแหล่งรวมของชาวบ้าน และขยายผลทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค การเผยแพร่ข่าวมีอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ และส่งผลต่อสถานการณ์ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน ได้แก่
- เช้าแรกหลังเกิดเหตุวิสามัญฯ 16 ศพ มีการปล่อยข่าวว่าทั้ง 16 คนเตรียมเข้าไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ แต่ถูกยิงทิ้ง
- ต่อมาเมื่อข่าวจากภาครัฐค่อนข้างชัดว่าเป็นการติดอาวุธพร้อมเสื้อเกราะเข้าไปโจมตีฐานทหาร ก็มีการปล่อยข่าวใหม่ว่าเป็นเหตุการณ์ยิงฝ่ายเดียว ไม่ใช่การยิงปะทะ พร้อมกันนั้นก็เริ่มมีการแพร่ใบปลิวในลักษณะล้างแค้น ซึ่งจริงๆ แล้วใบปลิวไม่ได้มีเยอะ และไม่ใช่ใบปลิวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์วิสามัญฯ 16 ศพ แต่มีการปล่อยข่าวลือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียดขึ้น
- หลังเกิดเหตุ 1 วันซึ่งมีพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตบางรายแล้ว ก็เริ่มมีการปล่อยคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ โดยในคลิปมีการลงเสียงเพิ่มเติมเข้าไป บรรยากาศในคลิปดูหม่นเศร้าแต่มีพลัง และทำให้เข้าใจว่าคนตายเป็นนักรบ เป็นการเสียชีวิตในแนวทางของพระเจ้า (ชาฮีด) วัยรุ่นในพื้นที่จำนวนมากชมคลิปนี้แล้วรู้สึกฮึกเหิม อยากต่อสู้ ตอบโต้ ล้างแค้น
- มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ภรรยาและมารดาของ นายมะรอโซ จันทรวดี แกนนำคนสำคัญที่เสียชีวิต 1 ใน 16 ศพจากเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร โดยอ้างว่าสาเหตุที่ต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐ เพราะความอยุติธรรมที่เคยได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต โดยเฉพาะกรณีตากใบ
ผลจากการปฏิบัติการข่าวสารดังกล่าว ทำให้ "สาร" ที่ถูกส่งจากรัฐตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ถูกอธิบายใหม่โดยฝ่ายขบวนการว่า ผู้ตายทั้งหมดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จึงมีความชอบธรรมในการกระทำ และยังทำเพื่อความยุติธรรมของคนสามจังหวัด จึงมีสถานะเป็น "นักรบ" ของคนในพื้นที่ ส่งผลให้ความชอบธรรมของรัฐลดลง (เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นก่อนกรณีตากใบ)
- มีการปล่อยข่าวในเชิงปลุกใจว่า เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับทหาร ทำให้ฝ่ายทหารเสียชีวิตจำนวนมากที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา (การปะทะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง)
แหล่งข่าวจากในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเกิดเหตุป่วนเมืองปัตตานีตั้งแต่ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 16 ก.พ.ต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.นั้น มีวัยรุ่นทั้งที่เป็นแนวร่วมและไม่ได้เป็นแนวร่วมจากอำเภอต่างๆ ของ จ.ปัตตานี เข้าพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปัตตานีจำนวนมาก สะท้อนว่าคนเหล่านั้นรับรู้สัญญาณว่าจะมีการก่อเหตุใหญ่ และพร้อมที่จะเข้าร่วมด้วยความฮึกเหิม
สอดคล้องกับข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ว่า พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัยรุ่นในหลายพื้นที่ของสามจังหวัด รวมตัวกันด้วยความฮึกเหิมคึกคะนอง แต่ฝ่ายความมั่นคงทำได้เพียงแค่จับตาอย่างใกล้ชิด ไม่กล้าเข้าไปตรวจค้นหรือปฏิบัติการใดๆ เนื่องจากเกรงจะเกิดความผิดพลาด หรือมีการใช้อาวุธจนเข้าทางกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนั้นอยู่แล้ว
จากปัญหาเชิงยุทธวิธีที่สรุปมา จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้สถานการณ์บานปลายคือ การใช้ปฏิบัติการข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพของฝ่ายขบวนการ ซึ่งภาครัฐแทบไม่สามารถเข้าถึงหรือตอบโต้ได้เลย เพราะมีความเชื่อมโยงกับ "หลักความเชื่อ" และ "หลักการทางศาสนา" ในบางบริบท ตลอดจนเกี่ยวโยงกับความเป็นชาติพันธุ์มลายูด้วย
สอดคล้องกับการสรุปบทเรียนของกองทัพที่พูดในวงประชุมเคอร์ฟิว และได้อธิบายถึงเหตุผล 7 ข้อที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ได้รับชัยชนะในสมรภูมิชายแดนใต้ โดย 2 ใน 7 ข้อก็คือ รัฐเสียเปรียบทางยุทธวิธีโดยเฉพาะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องส่งกำลังไปรักษาความปลอดภัยเป้าหมายอ่อนแอต่างๆ ทำให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบล็อคเป้าก่อเหตุได้ง่ายและหลบหนีได้ง่ายเพราะเชี่ยวชาญภูมิประเทศมากกว่า ที่สำคัญรัฐยังต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่อาชญากรที่ก่ออาชญากรรมด้วยความเชื่อธรรมดาๆ
โจทย์ข้อสุดท้ายนี้เป็นโจทย์ที่รัฐต้องตีให้แตกโดยเร็วที่สุด อาจถึงขั้นต้องยกเครื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารกันใหม่เลยทีเดียว!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเสียหายจากเหตุระเบิดใกล้กับวงเวียนหอนาฬิกากลางเมืองปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.2556 (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)