เปิดบ้าน 6 องค์กรรางวัลซีเอสอาร์ : ต้นแบบธุรกิจอยู่รอด-รับผิดชอบสังคม-ชุมชน
“การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข” คือ คำจำกัดความของ ‘ซีเอสอาร์’
ซีเอสอาร์ครอบคลุมถึงการดูแลพนักงาน ลูกค้า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช้แรงงานเด็ก ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสำนึกที่สร้างได้ทั้งในองค์กรในระดับธุรกิจพันล้านจนถึงธุรกิจขนดเล็กหรือ SME
เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SVN Asia/Thailand) เป็นหนึ่งองค์กรตัวอย่างในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยให้ตระหนักและใส่ใจทำซีเอสอาร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้น โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 องค์กร และหนึ่งกิจกรรมที่ SVN ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 คือ การมอบรางวัลองค์กรรับผิดชอบทางสังคม (ซีเอสอาร์) ดีเด่น หรือ SVN Awards
เราพาไปรู้จักเส้นทางและแรงบันดาลใจขององค์กรรางวัลซีเอสอาร์บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและภาคเกษตรกรรม เป็น 6 ใน 15 องค์กรที่ได้รับรางวัลล่าสุด
‘ป่าใหญ่ ครีเอชั่น’-ทุ่งแสงตะวัน : เป็นกระบอกเสียงชุมชนผ่านเสียงเด็ก
“เราจะเป็นบริษัทผลิตสารคดีที่มีคุณภาพเพื่อสาธารณะ โดยไม่แสวงหาผลกำไรเป็นสิ่งสูงสุด” บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด ประกาศพันธกิจผู้ผลิตรายการคุณภาพ เช่น พันแสงรุ้ง หอมแผ่นดิน บันทึกลุยทุ่ง หรือรู้จักกันดีกับรายการทุ่งแสงตะวันที่ออกอากาศยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ โดยมี ‘พี่นก’-นิรมล เมธีสุวกุล และ สุรพนธ์ จองลีพันธ์, ยุพา เพ็ชรฤทธิ์ ร่วมมือกันก่อตั้งบริษัท
นิรมล ผู้ก่อตั้งหลักคนหนึ่ง เริ่มเล่าปูมจากประวัติส่วนตัวว่าจบนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานข่าวสายสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในชนบทซึ่งถูกแย่งชิงทรัพยากรจากกลุ่มผู้มีอำนาจ จึงมีความมุ่งหวังนำความรู้ด้านสื่อสารมวลชนที่เรียนมาสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมเป็นตัวแทนนำเรื่องราวชาวบ้านมาเผยแพร่ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส จึงเกิดรายการแรก คือ ทุ่งแสงตะวัน
รายการทุ่งแสงตะวัน นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผ่านการบอกเล่าของเด็ก ๆ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความคิดว่าแผ่นดินไทยยังมีสิ่งดี ๆ ที่ควรช่วยกันรักษา ขณะเดียวกันจะนำเรื่องที่กำลังเป็นปัญหานำเสนอร่วมด้วย เช่น การวิพากษ์เกษตรเชิงเดี่ยว การจัดการศึกษา การใช้สารเคมีในพืช ปัญหาน้ำเสีย ให้ความรู้ให้แง่คิดเตือนสติคนในสังคมว่าถึงเวลาที่ต้องเริ่มช่วยกันทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง ทีมงานป่าใหญ่ฯ เชื่อเสมอว่ากำลังติดอาวุธทางปัญญาให้สังคม เพราะสิ่งที่ผู้ชมได้รับนั้นคือความรู้ความเข้าใจชีวิตที่สามารถเชื่อมโยงกันนำมาปรับทัศนคติและพฤติกรรมตนเองได้
“ในการทำธุรกิจสื่อมวลชนโดยเฉพาะสายสิ่งแวดล้อม ต้องอยู่ให้พอเหมาะพอดีไม่ใช้จ่ายเกินตัวใช้ตามความจำเป็น ถ้าวิ่งตามระบบทุนนิยมมาก ก็ต้องจ่ายมากและต้องวิ่งหาทุนมากและจะเสียความเป็นตัวเรา ต้องหยุดถามตัวเองว่าทำไปทำไม” พี่นก-นิรมล สะท้อนความอยู่รอดอย่างพอเหมาะกับพันธกิจขององค์กร
‘แดรี่โฮม’ : สร้างต้นแบบนมวัวปลอดสารเพื่อเกษตรกร-ผู้บริโภค
หากจะเอ่ยถึงธุรกิจนมคุณภาพในไทย หลายคนนึกถึง ‘แดรี่โฮม’ ที่มีจุดเด่นกระบวนการเลี้ยงวัวปลอดสารพิษ (ออร์แกนิก) ภายใต้การดูแลของผู้ชายหนวดงาม ‘พฤติ เกิดชูชื่น’
เขาปูมชีวิตที่เกี่ยวกับงานว่า เป็นเด็กเกษตรศาสตร์ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทไทย-เดนมาร์กกว่า 10 ปี ก่อนจะต่อยอดประสบการณ์มาทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มต้นจากส่งเสริมเรื่องโคนมด้วยการปลูกหญ้าขายแก่เกษตรกรเพื่อช่วยลดต้นทุน แต่พบว่ายังมีต้นทุนอื่นแฝงอยู่ คือค่าขนส่งสินค้า เพราะในหญ้าสดมีน้ำอยู่ปริมาณมาก เปรียบเสมือนการขนน้ำไปมา จึงริเริ่มนำกากเบียร์มาใช้แทนหญ้าสด ต่อมาธุรกิจฟาร์มโคนมเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาก จึงเห็นว่าหากทำธุรกิจอาหารสัตว์อย่างเดียวมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับลูกสาวอยากมีร้านขายของ จึงเริ่มทำร้านขายนมที่ดีที่สุดขึ้น
คุณพฤติ ถ่ายทอดความสำเร็จของธุรกิจนี้ด้วยคำ 2 คำ คือ Good-คุณภาพอาหารต้องดี สด และมีรสชาติดี ส่วน Clean-อาหารต้องสะอาดต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเลี้ยงโคนมจึงใช้ระบบออร์แกนิก ที่มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญขยะ เช่น พลาสติก กระป๋อง ขวด หรือภาชนะที่ขายได้จะแยกอย่างเป็นระบบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนเศษอาหารนำไปเลี้ยงสัตว์ สำหรับการบริหารจัดการโรงงานนั้น มีระบบการกำจัดน้ำเสีย เช่น น้ำที่ปนเปื้อนนมจากการล้างภาชนะจะต่อท่อส่งไปยังบ่อบำบัดด้วยจุลินทรีย์แลคติกทำเป็นปุ๋ยต่อไป
ต้นแบบซีเอสอาร์จากธุรกิจนมวัวปลอดสารพิษ ยังหวังว่าอยากให้สิ่งดี ๆ ที่เขาทำได้เผยแพร่สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ เขาบอกว่าเป้าหมายของแดรี่โฮมไม่ต้องการเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ แต่ต้องการเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมของไทยให้เป็นโคนมออร์แกนิก ซึ่งจะทำให้ดูว่าเกษตรกรที่ยึดหลักการข้างต้นสามารถอยู่ได้และมีรายได้ดี นอกจากนี้อยากให้โรงงานใหญ่ ๆ ทุกโรงงานเปลี่ยนวิธีรับซื้อนมสดใหม่ โดยตั้งกฎไม่ให้เกษตรกรใช้ยา สารเคมี เพื่ออนาคตจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคต่อไป
‘สวนเงินมีมา’: แนะคนไทย-รัฐบาล สร้างความสุขมวลรวม แทนรายได้มวลรวม
‘สวนเงินมีมา’ องค์กรธุรกิจขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วยอุดมการณ์แรงกล้าของกัลยาณมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง บนความตระหนักรับผิดชอบที่มากกว่าการแสวงกำไรคือยากตอบแทนสังคมสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น
วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด เล่าว่าตนโหยหาคุณค่าด้านจิตใจจากการประกอบธุรกิจ เห็นว่าหลายองค์กรกำลังแสวงหากำไรมากเกินไป แท้จริงแล้ว “ชีวิตไม่ใช่เรื่องเงินทองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความหมายชีวิตด้วย” ดังนั้นจึงหันหลังให้กับธุรกิจกระแสหลักที่กำลังรุ่งเรืองก้าวสู่องค์กรภาคสังคม โดยสวนเงินมีมาเริ่มต้นจากการทำหนังสือทางเลือกที่เน้นเนื้อหาสาระในการส่งสารที่ดีสู่สังคม
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ การจำหน่ายผ้าทอที่มีกระบวนการผลิตจากวัสดุธรรมชาติและการทอมือ และต่อยอดเป็นเครือข่ายตลาดสีเขียว เนื่องจากคนไทยต่างหันมาสนใจสุขภาพ โดยบริโภคอาหารอินทรีย์มากขึ้น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ จึงเน้นการจำหน่ายสินค้าออร์แกร์นิกที่ส่งถึงมือผู้บริโภคผ่านร้านกรีน เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมให้เกิดความสุขแบบยั่งยืนวิธีหนึ่ง
“อนาคตคาดหวังว่าเกษตรกรจะลดใช้สารเคมี ผลักดันในเรื่องผักออร์แกนิกเข้าไปอยู่ในครัวโรงพยาบาลหรือโรงอาหารในโรงเรียนเพื่อสุขภาพของผู้ป่วยและนักเรียน แต่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งหาวิธีการป้องกันการลักลอบนำสินค้าอื่นเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
สวนเงินมีมา ยังร้องขอให้รัฐบาลกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นตัวตั้งมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก แต่หากปรับเปลี่ยนได้จะเกิดประโยชน์สูงสุด
ส้วมทำเงิน : เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-สร้างรายได้ท้องถิ่นที่ ‘สวนนายดำ’
ใครจะรู้ว่า ‘ส้วม’ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้แก่ ‘สวนนายดำ’ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในท้องถิ่นได้ ด้วยแนวคิดก้าวไกลของ ‘พงษ์ศักดิ์ ฉิ่งสุวรรณโรจน์’ เนติบัณฑิตลูกชายคนโตของนายดำ เกษตรกรตัวอย่างระดับชาติ ที่หันเหชีวิตสู่อาชีพเกษตรกรตามรอยพ่อ และเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดเมืองสุขภาพ พร้อมบทบาทนักธุรกิจที่ยึดหลักความพอเพียง
พงษ์ศักดิ์ เล่าว่าเดิมสวนนายดำมีชื่อเสียงเรื่องผลไม้คุณภาพสามารถขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังภายใต้แบรนด์สวนนายดำ โดยเฉพาะส้มโชกุน ต่อมาเกิดแนวคิดอยากทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร คิดว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงไม่อยากมาดูสวนส้ม แต่ชอบถ่ายรูปกับสวนหย่อมหรือนั่งพักผ่อน จึงจัดระบบสวนหย่อม ทำร้านอาหารปลอดสารพิษที่เน้นผักพื้นบ้าน ให้ชาวบ้านนำผลผลิตมาจำหน่วยโดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ ส่วนการสร้างส้วมเริ่มในปี 2549 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมส้วมโลก สวนนายดำเข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงได้สร้างสรรค์ส้วมออกมาอีกหลายประเภทจนปัจจุบันมี 80 ห้อง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง
เจ้าของไอเดียวส้วมสวยงามเพื่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว เชิญชวนให้ทุกภาคีหันมาสร้างสุขภาพอย่างจริงจังเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งเครือข่ายสุขภาพชุมชนต้องเป็นแกนหลัก
‘ซองเดอร์’ : ความมั่นคงทางอาหาร ผ่านเกษตรอินทรีย์ใส่ซอง
‘ซองเดอร์’ ตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดต้องเป็นสินค้าที่ไม่เสพติดและไม่เบียดเบียนสัตว์ อาศัยแนวคิดเกษตรอินทรีย์สร้างความมั่นคงทางอาหาร ต้องการให้ทุกคนได้บริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อให้เกิดสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืนโดยยึดหลักว่า “การดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย เป็นการช่วยชาติอย่างหนึ่ง”
สุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ เจ้าของซองเดอร์ กล่าวถึงธุรกิจนี้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ มีโรงงานแปรรูปเกษตรไร้สารพิษอยู่ในพื้นที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์เป็นวัตถุดิบโดยเครือข่ายเกษตรไร้สารพิษ (คกร.) พัฒนาสูตรอาหารผ่านการตั้งกลุ่มโอท็อปชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงคือธัญพืชสำเร็จฉีกซองแล้วทานได้ทันทีและโจ๊กข้าวกล้องเต็มเมล็ด นอกจากนี้ซองบรรจุของซองเดอร์ยังประทับอักษรเบลล์เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม คาดหวังว่าอนาคตผู้บริโภคจะได้เป็นหุ้นส่วนกันในฐานะสหกรณ์ เพื่อช่วยกันแบ่งปันความสุขและมีสุขภาพดีถ้วนหน้า
‘มูลนิธิข้าวขวัญ’ สร้างชาวนารุ่นใหม่-ปกป้องพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
มูลนิธิข้าวขวัญมีอาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิฯ โดดเด่นในการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ และการสร้างชาวนารุ่นใหม่ผ่าน“โรงเรียนชาวนา”
หลักสูตรโรงเรียนชาวนาเน้นการปลูกข้าวถูกวิธี ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ โดยยึดหลักวิถีเกษตรอินทรีย์ ทำให้ชาวนามีความรู้เกี่ยวกับการทำนาที่ถูกต้อง และมีฐานะมั่นคง รวมถึงปกป้องพันธุ์ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป
ปัจจัยสำคัญของการทำซีเอสอาร์ไม่ใช่การบริจาคเงินหรือสิ่งของ แต่เป็นการสร้างสรรค์ให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้ชีวิตที่มีคุณภาพ ถึงเวลาหรือยังที่ภาคธุรกิจและภาคีเครือข่ายจะเปลี่ยนแนวคิดให้เกิด ‘ซีเอสอาร์พันธุ์แท้’.
หมายเหตุ:รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือ ‘ธุรกิจสร้างสรรค์ พันธมิตรสังคม: 15 องค์กรต้นแบบ CSR’