"ล้วงตับ สมช." ตั้งสำนักยุทธศาสตร์คุมใต้ เน้นแก้ขัดแย้ง "ชนต่างวัฒนธรรม"
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ได้กดดันให้ส่วนราชการโดยเฉพาะที่ดูแลงานด้านความมั่นคงต้องปรับยุทธศาสตร์และปรับองค์กรเพื่อก้าวให้ทันปัญหา ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา
สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดคุมนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศก็หลีกไม่พ้นวัฏจักรที่ว่านี้ ล่าสุดได้มีการประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติใหม่ โดยมีการจัดตั้ง "สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาไม่น้อย
ในห้วงการบริหารงานของรัฐบาลประชาธิปัตย์ (2551 ถึง 2554) ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการเข็นกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) เพื่อรองรับหน่วยงานด้านมวลชนและพัฒนาอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เป็นหน่วยงานถาวร พร้อมทั้ง "ติดดาบ-เพิ่มอำนาจ" ให้ ศอ.บต.เสนอย้ายข้าราชการที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่ได้ ดึงคดีความมั่นคงที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมมาตรวจสอบได้
ที่สำคัญยังเป็นหน่วยงานที่ประเมินและให้ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารและการพัฒนาชายแดนใต้ของ สมช.โดยผ่านการทำงานของ "สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่มีองค์ประกอบจากประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ด้วย
นี่คือ "สะพานเชื่อม" จากระดับนโยบายสู่ภาคปฏิบัติระหว่าง สมช.กับ ศอ.บต.
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง ศอ.บต.เป็นองค์กรถาวร ซึ่งยังมีส่วนคล้ายคลึงกับ ศอ.บต.ในโครงสร้างที่ทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้น ถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่าจะเท่าทันกับสภาพปัญหาในลักษณะ "ก่อการร้าย" ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
ฉะนั้นการขยับตัวอีกครั้งของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ด้วยการแบ่งส่วนราชการ สมช.ใหม่ และมี "สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม" เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานเพื่อรองรับโครงสร้างการทำงานทางด้านความมั่นคงนั้น ย่อมถูกตั้งคำถามไม่ต่างกันว่า "จะเวิร์คหรือเปล่า?"
โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจติดตาม...
แง้มกฎกระทรวงฉบับใหม่-ลุยสางปัญหาชายแดน
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2554 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอน 38 ก วันที่ 20 พ.ค.2554 มีสาระสำคัญคือ กฎกระทรวงฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 โดยนายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2545
ข้อ 2 ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติมีภารกิจเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงของชาติ อำนวยการ ประสานงานให้เป็นไปตามนโยบาย รวมทั้งการจัดทำแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาและการจัดองค์ความรู้ด้านความมั่นคงที่มีคุณภาพ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) เสนอความเห็นต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์หรือแผนงานและการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
(3) อำนวยการและประสานการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันและมีบูรณาการ
(4) ศึกษา วิจัย พัฒนา ติดตามสถานการณ์ความมั่นคง และประเมินการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์
(5) เสนอแนะและจัดทำนโยบาย อำนวยการ ประสานการปฏิบัติ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งในด้านความมั่นคงภายในประเทศ ความมั่นคงในภูมิภาค และความมั่นคงระหว่างประเทศ ครอบคลุมถึงภัยคุกคามความมั่นคงภายใน ภัยคุกคามข้ามชาติ ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ รวมทั้งการป้องกันประเทศและการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การอำนวยการข่าวกรอง การจัดการความขัดแย้ง และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ตลอดจนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ และเสนอความเห็นต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรี
(6) ติดตาม ประเมินผลและรายงานการปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
(7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ตั้งสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนใต้
ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน ข้อ 3 ระบุให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติออกเป็น 9 สำนัก ประกอบด้วย (1) สำนักงานเลขาธิการ (2) สำนักนโยบายและแผนความมั่นคง (3) สำนักประเมินภัยคุกคาม (4) สำนักยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ (5) สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน (6) สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ
(7) สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม (8) สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในประเทศ (9) สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ
เน้นศึกษา-วิเคราะห์ความขัดแย้งชนต่างวัฒนธรรม
กฎกระทรวงยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการแต่ละสำนัก โดยสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดการความขัดแย้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
(2) ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนต่างวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ และการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
(3) เสนอแนะ จัดทำนโยบาย และพัฒนายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนต่างวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งติดตาม ประเมินผล และรายงานการปฏิบัติตามวงรอบ
(4) เสนอแนะแนวทาง มาตรการ อำนวยการและประสานการปฏิบัติตามนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(5) ปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามที่ได้รับมอบหมาย
(6) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนั้น ในกฎกระทรวงข้อ 11 ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ ให้ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ภัยคุกคามข้ามชาติที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ การก่อการร้ายสากลและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การป้องกันด้วย
สัญญาณยอมรับความแตกต่าง?
เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดตั้งสำนักยุทธศาสตร์ขึ้นใน สมช.เพื่อจัดการปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความขัดแย้งของชนต่างวัฒนธรรมเป็นการเฉพาะนั้น นับเป็น "มิติใหม่" ในการมองสถานการณ์ชายแดนใต้ จากที่ "รัฐไทย" เคยพยายามทำให้ประชากรทุกกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในประเทศไทยมี "เอกลักษณ์" ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
น่าสนใจว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นจุดเริ่มของการ "ยอมรับความต่าง" อย่างแท้จริงที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- แกะกล่อง "ศอ.บต.โฉมใหม่" ติดดาบย้าย จนท.รัฐนอกแถว-ตรวจสอบคดีความมั่นคง
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/610-2010-11-18-03-44-22.html
- ภาณุ อุทัยรัตน์ กับ ศอ.บต.ในความหมายใหม่
http://south.isranews.org/interviews/281-2010-04-08-16-09-49.html
- ร่างกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่...ติดตามย้าย "ขรก.-ทหาร-ตำรวจ" พ้นพื้นที่
http://south.isranews.org/academic-arena/178--q-q-.html
- ครม.ไฟเขียวตั้งองค์กรดับไฟใต้ ใช้ชื่อ "ศอ.บต." ยกระดับเทียบ กอ.รมน. นายกฯนั่งผู้อำนวยการ
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4928&Itemid=47
- ศอ.บต.ผลัดใบ "พระนาย"อำลา-"ภาณุ"หวนคืนชายแดนใต้ผงาดนั่ง ผอ.
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4921&Itemid=86
- เปิดวิวัฒนาการองค์กรดับไฟใต้ จาก ศอ.บต.ถึง กอ.สสส.-กอ.รมน. แล้วจะไปทางไหน?
http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/10-2009-11-15-11-15-01/23-2009-11-24-07-33-52.html