ร่างรายงานค้นหา "กุญแจ" ดับไฟใต้ (2) ประตูสู่สันติสุขยังไม่ปิดตาย
ในร่างรายงานสมุดปกขาว "โครงการค้นหากุญแจสู่สุขภาวะชายแดนใต้" ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะมีข้อเสนอ "ปลดชนวนขัดแย้ง" หลายต่อหลายมิติตามที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยนำเสนอไปแล้ว เนื้อหาหลักของร่างรายงานฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับ "การสานเสวนา" ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะสามารถลดช่องว่างของความแตกต่าง และค้นหาหนทางสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
การถอดบทเรียน "สานเสวนา" ของตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ทั้งเวทีใหญ่และย่อยมากกว่า 10 ครั้งของโครงการค้นหากุญแจฯ จึงนับว่าน่าสนใจและควรบันทึกเอาไว้...
กรอบการดำเนินงานในห้วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาคือ การมุ่งสานเสวนาและพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันซึ่งไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พูดคุยกัน โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีพร้อมองค์กรเครือข่ายมีหน้าที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการเสวนาขึ้นโดยไม่ต้องพะวงต่อเรื่องใด ทุกคนสามารถพูดคุยเสนอความคิดเห็นได้อย่างสะดวกใจ เพราะมีกติกาห้ามนำคำกล่าวของผู้ใดไปอ้างอิงต่อ อีกทั้งยังมีกระบวนการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ
ถอดบทเรียนบทที่ 1 "ท้อแท้และสิ้นหวัง"
ช่วงแรกของการจัดสานเสวนา ร่างรายงานระบุว่า การสานเสวนากลุ่มย่อยทั้งภายในกลุ่มกันเองและข้ามกลุ่ม รวมไปถึงเวทีใหญ่ ได้รับการคาดหวังว่าคนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนและมีบทบาทสำคัญอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ว่าจะสามารถถักทอสายสัมพันธ์และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น ในช่วงต้นจึงมีลักษณะของการพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง
"ผู้เข้าร่วมเสวนาจะเล่าถึงเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่ประสบมาโดยตรงจากเพื่อนฝูง คนใกล้ตัว หรือแม้กระทั่งข่าวลือที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การคอร์รัปชั่น การจับกุม การเลือกปฏิบัติ การเสียชีวิตจากความรุนแรงประเภทต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ปัญหาที่ค้นพบได้ในช่วงนี้จึงมุ่งเน้นไปที่วิธีการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และฝากความหวังไว้กับปัจจัยหรือองค์กรภายนอก ทั้งองค์กรภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และโดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ" ร่างรายงานกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่ง
ข้อค้นพบจากการสานเสวนาในช่วงแรกมี 2 ประการ กล่าวคือ
1.มุ่งเรื่องราวรายวันที่เกิดขึ้นและทุกคนต้องประสบ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกหมดหวัง มองไม่เห็นทางออกว่าจะมีหน่วยงานไหนช่วยคลี่คลายปัญหาได้ ขณะที่มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้บางคนได้เคยเข้าร่วมประชุมสัมมนาเวทีต่างๆ จำนวนมากตลอด 7 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาในพื้นที่ก็ยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม ทำให้หลายคนเริ่มเบื่อกับการที่จะต้องพูดเรื่องราวซ้ำๆ ในเวทีการประชุมต่างๆ
การที่ไม่เห็นสถานการณ์คลี่คลายทำให้หลายคนเริ่มถอยห่างจากปัญหา และไม่สามารถเห็นทางออกได้ เพราะการกัดกร่อนของปัญหารายวันได้ลดทอนความสามารถในการคิดและจินตนาการถึงสภาวะความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่พอจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้
2.ความคาดหวังต่อองค์กรภายนอก ทำให้หลายครั้งคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่เข้าร่วมสานเสวนามีรู้สึกเป็นเพียงแขกรับเชิญให้เข้าร่วมโครงการ ยังไม่รู้สึกตระหนักถึงความสำคัญว่าตัวเองจะบทบาทและส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาได้อย่างไร
นอกจากนี้ กล่าวเฉพาะองค์กรภาครัฐนั้น ความรู้สึกของคนในพื้นที่มีลักษณะย้อนแย้งกันอยู่ในที กล่าวคือ ในแง่หนึ่งก็หวังพึ่งพาหรือเรียกร้องให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงให้ลุล่วงไปให้ได้ ดังที่มักมีคำถามอยู่เสมอว่า "รัฐกำลังทำอะไรอยู่ ทั้งๆที่ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 จนบัดนี้ก็ยังแก้ไขไม่ได้ งบประมาณก็ลงมาเยอะ ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน"
ในอีกแง่หนึ่ง บางคนในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ก็ยังรู้สึกไม่ไว้วางใจรัฐมากเพียงพอ ทั้งยังมีท่าทีต่อภาครัฐในฐานะเป็นฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย ความเคยชินที่มองรัฐทั้งในฐานะเป็นผู้แก้ปัญหาและฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ก่อปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งท้าทายสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ความขัดแย้งไม่สามารถลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง หรือสร้างบทบาทนำเพื่อจัดการกับปัญหาในบริบทของตัวเองได้
"ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนความคิดทัศนคติและท่าทีของผู้เข้าร่วมสานเสวนาให้สามารถไว้วางใจและเปิดใจกันได้มากขึ้นเพียงพอ จนทำให้เยื่อใยสายสัมพันธ์ที่เคยเบาบางไปค่อยๆ เริ่มก่อตัวถักทอขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และสามารถเคลื่อนจากการสานเสวนาในระดับประสบการณ์มาสร้างความร่วมไม้ร่วมมือกันผ่านการสานเสวนาในระดับปฏิบัติการจริงได้" ร่างรายงานระบุ
ถอดบทเรียนบทที่ 2 "เปิดใจให้กัน-สร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัย"
เมื่อมีการจัดสานเสวนามากขึ้นเรื่อยๆ พบว่ามีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางประการที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในการสานเสวนาครั้งหนึ่งมีความเห็นจากผู้เข้าร่วมที่มาจากภาคสื่อมวลชนว่า "ชาวบ้านสามารถบอกได้หมดว่ารัฐล้มเหลวอย่างไร แต่ไม่สามารถนำข้อมูลไปยืนยันหรือโต้เถียงกับรัฐได้ ซึ่งสะท้อนว่าเป็นจุดอ่อนของชาวบ้านและภาคประชาสังคมที่ไม่สามารถสู้ทางวิชาการกับรัฐได้"
เสียงสะท้อนเชิงวิพากษ์ในกลุ่มผู้เข้าร่วมด้วยกันเองนี้ นับเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่พยายามทำให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรงลุกขึ้นมาแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น แม้จะยังมีการวางท่าทีต่อกันและไม่ไว้วางใจกันและกันมากนัก
ดังที่มีข้าราชการพลเรือนคนหนึ่ง กล่าวว่า "ไม่กล้าแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่ เพราะไม่แน่ใจตัวผู้เข้าร่วม รวมถึงทัศนคติต่อการมองปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมองต่างกัน"
แต่ก็นับว่าวงสานเสวนาสามารถสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้เกิดความกล้าแสดงความไม่มั่นใจหรือความกริ่งกลัวที่มีอยู่ในจิตใจออกมาได้ ทั้งยังเริ่มปรากฏมีการ "ก้าวข้ามออกไป" (passing over) เพื่อทำความเข้าใจฝ่ายอื่นๆ บ้าง มีการแสดงความเห็นใจเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหารบ้าง ดังที่ผู้เข้าร่วมสานเสวนาแสดงความรู้สึกว่า "ทหารบางคนก็ต้องการรอยยิ้มจากคนรอบข้างเหมือนกัน"
คำพูดดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ร่วมสานเสวนาบางคนได้ตระหนักถึงผลในแง่ลบของการคิดแบบเหมารวม จุดนี้ทำให้เริ่มเห็นช่องทางที่จะทำงานร่วมกันได้อยู่ แม้จะยังพูดถึงรัฐและหน่วยงานความมั่นคงในแง่ลบอยู่บ้าง แต่เมื่อตระหนักว่าไม่ใช่เจ้าหน้ารัฐทุกคนไม่ดี นั่นก็หมายความว่าประตูยังไม่ปิดตาย พลเมืองยังมีพื้นที่ที่จะร่วมมือทำงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อยู่
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารหลายคนก็แสดงท่าทีเชิงบวกต่อคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งมารับหน้าที่ใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเข้าร่วมสานเสวนาเป็นครั้งแรก ได้แสดงท่าทีไว้อย่างน่าสนใจว่า "ผมสัมผัสได้กับความทุกข์ยาก แม้ว่าจะมีปัญหาทุกข์ระทมอย่างสาหัส แต่ทุกคนยังช่วยแก้ปัญหา ไม่ทับถมกัน หรือโจมตีกัน"
ขณะที่เสียงสะท้อนจากทหารอีกคนหนึ่ง ให้กำลังใจผู้เข้าร่วมวงสานเสวนาว่า "ที่ผ่านมาเราก็เจ็บปวดมากพอแล้ว เราไม่ลืมความเจ็บปวดนั้น แต่อย่าตอกย้ำจนทำให้หลอนไม่จบไม่สิ้น ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม หรือถ้าเกิดขึ้น ประชาชนควรจะต้องร่วมกันและไม่ยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไป"
ทหารอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมสานเสวนาอย่างต่อเนื่อง ได้แสดงท่าทีพร้อมปรับปรุงแนวทางการทำงาน และยอมรับว่าหน่วยงานของตัวเองก็มีจุดบกพร่อง รวมถึงยังเปิดรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามจากกลุ่มผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ได้ พร้อมแสดงจุดยืนการทำงานของตัวเอง โดยอ้างถึงนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ (พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) ซึ่งเน้นแนวทางสันติวิธี
"แม้ท่าทีของทหารรายนี้จะยังมีข้อกังขาจากผู้เข้าร่วมสานเสวนาคนอื่นๆ ว่ามีความจริงใจหรือไม่ จะทำตามที่พูดได้จริงหรือเปล่า แต่การมองโลกในแง่ร้ายดังกล่าวนี้ เป็นที่เข้าใจได้จากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ที่ได้ประสบพบมา และถือเป็นสิ่งท้าทายให้ฝ่ายทหารได้พิสูจน์คำพูดของตนให้เป็นที่ประจักษ์" เป็นบทสรุปช่วงหนึ่งของร่างรายงาน
ถอดบทเรียนบทที่ 3 "ซ่อมแซมสายสัมพันธ์"
ในการสานเสวนาคละข้ามกลุ่มรอบหลังๆ รวมถึงการสานเสวนาหาคำตอบในเวทีใหญ่นั้น ผู้เข้าร่วมแสดงความกระตือรือร้นและกล้าที่จะเปิดการพูดคุยรวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีการกล่าวโทษกันบ้าง หรือถึงขั้นตั้งคำถามซึ่งๆ หน้าเอากับการเน้นย้ำเล่าซ้ำประสบการณ์ความรุนแรงที่ตนได้รับมาว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร แต่ผู้เข้าร่วมก็สามารถร่วมรับฟังกัน และยังขอให้มีการต่อเวลาในการพูดคุยกันอีก
หลังจากการพูดคุยข้ามกลุ่มแล้ว ผู้เข้าร่วมบางคนเริ่มรู้สึกอยากให้มีการพูดคุยและฟังข้อมูลจากกลุ่มที่หลากหลาย และได้เริ่มคิดถึงการทำงานร่วมกันในอนาคตบ้าง...
ที่สำคัญ เริ่มมีการนัดพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มาจากฝ่ายความมั่นคงและกลุ่มเยาวชน ในขณะเดียวกันท่าทีของผู้นำศาสนาเริ่มอ่อนลงและเปิดกว้างต่อฝ่ายอื่นๆ มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเยาวชนและเรียกร้องให้เยาวชนแสดงพลังของตัวเอง ทั้งยังให้เกียรติเยาวชนในการนำเสนอก่อน เพราะ "อยากจะดูลีลาของคนหนุ่ม...อยากจะกระตุ้นให้ลูกหลานกล้า และแสดงความคิดเห็น ต้องฉลาด ไม่ใช่กล้าแบบโง่ จะต้องมีเคล็ดลับในการพูด"
นอกจากนี้ยังมีความพยายามกระชับสายสัมพันธ์ที่ถูกเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้ขาดสะบั้นลง โดยมีการจัดสานเสวนาวงเล็กกันเองในชุมชน โดยที่ส่วนกลางไม่จำเป็นต้องลงไปกระตุ้น ซึ่งส่งผลให้คนพุทธเกิดความรู้สึกดีที่คนมุสลิมมาเยี่ยม และนั่งลงให้ได้ระบายความรู้สึก ถึงแม้จะไม่หมดก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เยื่อใยสายสัมพันธ์ที่เคยถูกทำให้เบาบางหรือขาดสะบั้นไป ค่อยเริ่มได้รับการถักทอเชื่อมต่อจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่บ้าง
ถอดบทเรียนบทสุดท้าย "รักษาคำมั่นและก้าวต่อไป"
ร่างรายงานยังระบุถึงความก้าวหน้าของวงสานเสวนาว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการฯเปิดโต๊ะเจรจากันก็ตาม แต่ผู้เข้าร่วมสานเสวนาบางคนกลับมีข้อเสนอเชิงรุกว่า ถ้าจะเปิดโต๊ะเจรจากันจริง จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเจรจาด้วย รวมทั้งยังต้องคิดถึงสภาวะก่อนการเจรจา และโดยเฉพาะหลังเจรจาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ร่างรายงานชี้ว่า ยังมีสิ่งท้าทายอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงรอให้ต้องฝ่าข้ามไป ได้แก่ การรักษาเครือข่ายสายสัมพันธ์และความร่วมมือของผู้คนคละข้ามกลุ่มดังกล่าวนี้ให้ดำรงอยู่และเพิ่มพูนความเข้มแข็ง เหนียวแน่น และทนทานมากเพียงพอที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับปัญหานานัปการที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โจทย์อันท้าทายข้อนี้จำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่องของการทำงานร่วมกันและการสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมต่อถึงกันข้ามกลุ่มย่อยต่างๆ
แต่กระนั้น ภาพฝันภาพนี้ก็เริ่มเห็นเค้าลางขึ้นมาบ้างจากการสานเสวนาในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังเป็นเป้าหมายที่อยู่อีกไกลลิบ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างและธำรงความริเริ่มในการร่วมไม้ร่วมมือกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ให้ได้แสดงบทบาทขับเคลื่อนเชิงรุกบางประการ เพื่อแสดงให้คนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในเครือข่ายกันเองและอยู่ภายนอกเครือข่ายเกิดความเชื่อมั่นและเห็นถึงความตั้งใจเอาจริงมากเพียงพอที่จะไว้วางใจและให้การสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความรักและความสามัคคีคือสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากแฟ้มภาพ โดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ : ร่างรายงานค้นหา "กุญแจ" ดับไฟใต้ (1) แนะ "สานเสวนา-เจรจา" ก้าวข้ามความกลัว "ปกครองตนเอง"
http://www.south.isranews.org/academic-arena/802--qq-1-q-q-qq.html