"เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด" ความขัดแย้งระลอกใหม่กำลังก่อตัว
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลได้เคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า "ท่าเทียบเรือปากบารา" ซึ่งรัฐบาลวาดฝันว่าจะให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามัน
ขณะที่เมื่อปีก่อนก็มีชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ร่วมกันรณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งมีแผนตอกเสาเข็มกันที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้เป็นท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย และจะมีโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือ "แลนด์บริดจ์" เป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกจากสองฝั่งทะเลด้วย
ทั้งสองโครงการเป็น "เมกกะโปรเจค" ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ "เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด" ซึ่งผลักดันกันมาหลายรัฐบาล โดยหลายๆ โครงการมีแนวโน้มก่อผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จนอาจสร้างความขัดแย้งทั้งในมิติทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมด้วย หลายพื้นที่มีกระแสคัดค้านค่อนข้างแรง โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ส่งทีมลงพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ เพื่อเกาะติดสถานการณ์นี้ และมี "รายงานจากพื้นที่" เตรียมนำเสนออย่างต่อเนื่องหลายชิ้น...
อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนานหลายสิบปี และมีโครงการก่อสร้างทั้งเล็กทั้งใหญ่แตกลูกอีกหลายสิบโครงการในหลายๆ พื้นที่ ทั้งภาคใต้ตอนกลางและตอนล่าง การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แนวคิด เส้นทางการดำเนินงาน และรายละเอียดของโครงการ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี หรือ นสธ. ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด...ความขัดแย้งระลอกใหม่กำลังก่อตัว" ในเว็บไซต์ http://www.tuhpp.net/?p=2941 ของทางสถาบัน โดยบทความชิ้นนี้เขียนโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร หนึ่งใน "ทีมข่าวอิศรา" ด้วย ทางศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา จึงนำมาเผยแพร่เพื่อปูพื้นความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ก่อนจะค่อยๆ ทะยอยนำเสนอสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวในพื้นที่ต่างๆ จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐในลำดับต่อไป
เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด...ความขัดแย้งระลอกใหม่กำลังก่อตัว
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard : SSB) เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ "เมกะโปรเจค" ที่คนไทยได้ยินชื่อมานานหลายสิบปี และดำเนินการต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ มีโครงการย่อยๆ ที่เป็นองค์ประกอบมากมาย และความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายของฝ่ายการเมือง ทำให้บางช่วงเวลา เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ก็เงียบหายไป
แต่กระนั้น ในปี พ.ศ.2552 รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งนับว่าเป็นการ "ขับเคลื่อน" อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในช่วงหลายรัฐบาลที่ผ่านมา
เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ณ วันนี้เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว และได้ดำเนินโครงการอะไรไปบ้างในช่วงตลอดหลายสิบปี จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามค้นหาไม่น้อยทีเดียว
ความเป็นมาและแผนแม่บท
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เริ่มต้นแนวคิดและกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 โดยได้ว่าจ้างบริษัท Hunting Technical Service เพื่อศึกษาการใช้ทรัพยากรในภาคใต้
ต่อมา สศช.ได้กำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2523 ส่งผลให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อย่างเป็นรูปเป็นร่างในปี พ.ศ.2536
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในช่วงแรก มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดประตูการค้าแห่งใหม่
เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมและการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน หรือนโยบายการสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ประกอบด้วย ทางด่วน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลที่ปลายสะพานเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้พื้นที่ 5 จังหวัดเป้าหมายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม การขนส่งทางทะเล ธุรกิจบริการ และการเงินการตลาดของภูมิภาค รวมทั้งการท่องเที่ยวระดับชาติ
แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ประกอบด้วยแผนหลัก 6 แผน ได้แก่
1.สร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ คือถนนหมายเลข 44 กำหนดไว้ 3 เส้นทางคือ ระนอง-ชุมพร-บางสะพาน, สงขลา-สตูล และ กระบี่-ขนอม (นครศรีธรรมราช) โดยถนนสายกระบี่-ขนอม สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปี พ.ศ.2546 แต่ยังไม่ได้ใช้เพื่อการอุตสาหกรรม
2.พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตรครบวงจรบนเส้นทางเศรษฐกิจใหม่
3.พัฒนาฐานอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี
4.พัฒนาท่าเรือน้ำลึก
5.พัฒนาศูนย์กลางให้บริการกระจายสินค้าและระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ระดับโลกตอนปลายของสะพานเศรษฐกิจทั้งสองฝั่งทะเล
6. พัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภาคใต้ในเชิงนิเวศ-วัฒนธรรม
ทั้งนี้ เมื่อสรุปลำดับความเป็นมาและการกำหนดแผนงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่สำคัญ สามารถไล่เรียงได้ดังนี้
ปี พ.ศ.2518 สศช.เริ่มมีแนวคิดและกำหนดแผน โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาการใช้ทรัพยากรในภาคใต้
ปี พ.ศ.2528 ศึกษาการวางแผนพัฒนาภาคใต้ตอนบนในระดับอนุภาค
ปี พ.ศ.2530 ศึกษาเพื่อเตรียมแผนปฏิบัติการพัฒนาภาคใต้ตอนบน
ปี พ.ศ.2532 วันที่ 4 มี.ค.คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา “สะพานเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
ปี พ.ศ.2532 วันที่ 21 พ.ย.คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และแผนแม่บทดังกล่าวได้มีการผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาต่างๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2546 เดือน ก.ย.ถนนสายกระบี่-ขนอม ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย
ปี พ.ศ.2551 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช เห็นชอบตามที่ สศช.เสนอ ให้ย้ายและขยายนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกไปยังพื้นที่โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด และแลนด์บริดจ์ จากนั้นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษา
ปี พ.ศ.2552 วันที่ 3 ก.พ. คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
หลากหลายโครงการพัฒนาใต้
นอกจากแผนแม่บทหลักของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้แล้ว รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมายังมีนโยบาย แผนแม่บท และโครงการที่หนุนเสริมโครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด อีกหลายโครงการ เฉพาะที่สำคัญได้แก่
1.แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย รัฐบาลได้จัดทำและเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2523 มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงสายการผลิตด้านปิโตรเคมีให้ต่อเนื่องและพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเน้นการร่วมมือด้านธุรกิจกับกลุ่มประเทศพันธมิตร
แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีฯ กำหนดช่วงเวลาของแผนเอาไว้ดังนี้
ระยะที่ 1 ช่วงปี พ.ศ.2523-2531 มีเป้าหมายลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านปิโตรเคมี และให้มีผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีพอใช้สำหรับภายในประเทศ พื้นที่ดำเนินการคือ บริเวณโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard : ESB)
ระยะที่ 2 ช่วงปี พ.ศ.2532-2547 มีเป้าหมายเน้นการส่งออกด้านปิโตรเคมี จึงได้ขยายฐานการผลิต โดยพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
ระยะที่ 3 ช่วงปี พ.ศ.2547-2558 มีเป้าหมายขยายการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น และจัดกลุ่มการผลิตปิโตรเคมีให้เข้มแข็ง โดยใช้วิธีขยายการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเสนอพื้นที่สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติม โดยเป้าหมายอยู่ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอำเภอใกล้เคียงซึ่งอยู่ในพื้นที่แลนด์บริดจ์ และใกล้กับถนนสาย 44 (กระบี่-ขนอม)
แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยจึงเกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตรงส่วนนี้ กล่าวคือ สศช.ได้เสนอแผนให้ย้ายนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกไปยังพื้นที่โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด และแลนด์บริดจ์ โดยคณะรัฐมนตรี (ชุด นายสมัคร สุนทรเวช ปี พ.ศ.2551) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่ สศช.เสนอ จากนั้น กนอ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษา โดยกำหนดรกรอบเวลาไว้ดังนี้
ปี พ.ศ.2551 ศึกษาความเป็นไปได้ เลือกพื้นที่ และออกแบบเบื้องต้น
ปี พ.ศ.2552-2553 ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และทำประชาพิจารณ์
ปี พ.ศ.2554 ออกแบบรายละเอียด
ปี พ.ศ.2555-2559 ลงมือก่อสร้าง
ปี พ.ศ.2560 เริ่มเดินเครื่องจักรโรงงาน
2.โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วม 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Development Project; IMT-GT) ในส่วนของประเทศไทย เน้นการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งในส่วนของสตูล มีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เนื่องจากมีแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
3.โครงการกลุ่มความร่วมมือห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุทวีป (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation; BIMST-EC) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของบังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา และไทย
4.ความร่วมมือภายใต้กรอบคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for Border Areas) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดน เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547
วันนี้ของเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ซึ่งรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ 3 โครงการที่สำคัญ กล่าวคือ
1.โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีแผนก่อสร้างท่าเรือที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มีแผนก่อสร้างที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยจะมีโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกจากสองฝั่งทะเลด้วย เป็นโครงข่ายคมนาคมเต็มรูปแบบ ทั้งถนน เส้นทางรถไฟ และระบบท่อส่งน้ำมัน
โครงการนี้ผ่านการศึกษาและผลักดันมาหลายรัฐบาล โดย สศช.ตั้งเป้าให้ภาคใต้เป็นทางเลือกในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (การขนส่ง) ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยตอนล่างด้วยระบบคมนาคมที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน
แผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างเพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันนั้น เป้าหมายอยู่ที่ จ.สงขลา เนื่องจากอยู่ในโซนพัฒนาของกลุ่มจังหวัดชายแดน ประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย สศช.วิเคราะห์ว่าพื้นที่นี้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 1 เขื่อนบางลาง โรงแยกก๊าซจะนะ (475 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) โรงไฟฟ้าจะนะ (700 เม็กกะวัตต์) ศูนย์ธุรกิจการค้า (ที่ อ.หาดใหญ่) และมีมหาวิทยาลัยถึง 8 แห่ง
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และองค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะโครงการที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ เคยจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นกันมาแล้วหลายครั้ง มีการนำเสนอข้อมูลการกัดเซาะของน้ำทะเลบริเวณชายหาดฝั่งอ่าวไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤติ เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างสุดตัว เพราะเห็นว่าถ้าโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูลไม่เกิดขึ้น จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาการก่อความไม่สงบอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะโครงการผลักดันให้ จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล
2.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
แผนงานก่อสร้างทั้งระบบมีจำนวนถึง 8 โรง เพื่อจัดหาไฟฟ้าป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ ไม่ติดขัด พื้นที่สำคัญที่มีแผนจะก่อสร้างคือ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 1 โรง และใน จ.นครศรีธรรมราช 2 โรง
กล่าวเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช สถานที่ก่อสร้างจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึกเพื่อความสะดวกในการขนส่งถ่านหิน ต้องมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และการคมนาคมสะดวก ปัจจุบันมีการสำรวจสถานที่สำหรับก่อสร้างอยู่ 2 แห่ง คือที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา
นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติซึ่งก่อสร้างและเดินเครื่องอยู่แล้วที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยในอำเภอเดียวกันนี้ยังมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งด้วย
ส่วนที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีความพยายามผลักดันให้ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แต่ถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้านจนโครงการต้องชะงักไป
3.โครงการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทได้สิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันและแหล่งปิโตรเลียมในทะเล แปลงสำรวจโครงการนี้ส่วนใหญ่อยู่นอกชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี โดยมีพื้นที่สำรวจหลายพันตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ดี ขอบแปลงสำรวจหลายจุดอยู่ใกล้กับ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังอื่นๆ จึงถูกต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่มากพอสมควร
นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ปากน้ำคลองกลาย บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย
คลุมเครือและหวาดระแวง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การผลักดันโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ในระยะหลัง ถูกคัดค้านจากประชาชนเจ้าของพื้นที่นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง อันสืบเนื่องจากกระแสตื่นกลัวเรื่องมลพิษ กากอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนในท้องถิ่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นกรณีตัวอย่างอันเลวร้ายที่ทำให้เกิดแรงต้านโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีลุกลามไปทั่วประเทศ
ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ไม่ได้แสดงรายละเอียดของโครงการและแผนงานให้ประชาชนได้เห็นทั้งหมด แต่จะใช้วิธีผลักดันโครงการย่อยๆ หลายๆ โครงการพร้อมกัน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแยกดำเนินการกันเอง
"จุดนี้กลายเป็นปัญหายุ่งยากสำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจติดตามตรวจสอบโครงการพัฒนาต่างๆ ของเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด เพราะโครงการไม่ได้ถูกนำเสนออย่างเชื่อมโยง ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงมักปฏิเสธความเกี่ยวข้อง"
"ที่ผ่านมามีการศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่ มีการส่งคณะทำงานลงไปเก็บข้อมูลชุมชนหลายโครงการ แต่ก็ไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ว่าเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด หรือไม่ บางโครงการทำการศึกษาแล้วก็เงียบหายไป จึงเป็นปัญหาความคลุมเครือ ไม่ไว้วางใจ และสร้างความหวาดระแวงในหมู่ชาวบ้านในท้องถิ่น" ดร.เลิศชาย ระบุ
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 3 โครงการซึ่งเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ในพื้นที่ยังมีโครงการก่อสร้างย่อยๆ อีกมากมาย เช่น โครงการขุดคลองชลประทานเพื่อลำเลียงน้ำจืดจากลุ่มน้ำตาปี และโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำหลายแห่งใน จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่เคยมีคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ต้องการลำเลียงน้ำจืดไปใช้เรื่องอะไร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่โยงเข้ากับเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด แล้วก็รวมตัวกันคัดค้าน
"โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และทำประชาพิจารณ์ แต่ระยะหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบดีว่าต้องถูกชาวบ้านคัดค้าน จึงใช้วิธีสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น และสร้างประชามติเทียมหรือเสียงสาธารณะด้วยการเอาผลประโยชน์เข้าไปล่อ แม้แต่ในสถานศึกษา เช่น บริจาคเงินให้โรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ สนับสนุนโครงการ หรือให้ทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัย เพื่อลดกระแสคัดค้านจากกลุ่มนักวิชาการ เป็นต้น"
สัญญาณแห่งความขัดแย้ง...นักการเมืองหลบหลังกลุ่มทุน
ดร.เลิศชาย ชี้ว่า การสร้างเสียงสาธารณะด้วยวิธีการดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในท้องถิ่น ประชาชนจะแตกออกเป็น 2 กลุ่ม ถือเป็นความน่ากลัวของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ที่ใช้การจัดการด้วยทุน ไม่ใช่กำลัง
"สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้จะมีกระแสเคลื่อนไหวและขัดแย้งอย่างสูงในหมู่ประชาชนในพื้นที่ แต่กลับไม่เคยปรากฏบทบาทของผู้แทนราษฎรระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ออกมาพูดหรือแสดงจุดยืนต่อโครงการพัฒนาเหล่านี้เลย เสมือนหนึ่งกลุ่มทุนเหล่านี้มีพลังอำนาจเหนือรัฐบาลและผู้แทนของปวงชน"
เขายังย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่เคยใช้กระบวนทัศน์การพัฒนาที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเลย ได้แต่หวังกำไรสูงสุดจากทรัพยากรราคาถูกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ถ้ายังไม่มีวิธีคิดใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจกับชุมชน ก็คงไม่อาจหยุดยั้งกระแสคัดค้านจากชาวบ้านได้
ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.สงขลาหลายสมัย เห็นสอดคล้องกันว่า การจะผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ต้องให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับชาวบ้าน ให้ได้รับรู้อย่างชัดเจนว่าจะมีโครงการอะไรมาลงบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าชาวบ้านไม่สบายใจกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
"สิ่งสำคัญคือต้องถามประชาชนในพื้นที่ และต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จากนั้นค่อยนำมาชั่งน้ำหนักว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ การผลักดันโครงการพัฒนาในยุคใหม่คงหนีไม่พ้นที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่ว่านี้ให้ครบกระบวนการ" นายนิพนธ์ กล่าว
ความโปร่งใสคือคำตอบสุดท้าย
ความจริงอันโหดร้ายที่ปรากฏต่อสาธารณชนกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งแม้ชาวบ้านจะรวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้ถึงโรงถึงศาล แต่ก็ยังไร้หลักประกันใดๆ ว่าพวกเขาจะไม่ต้องเผชิญกับมลพิษทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และกากอุตสาหกรรมอีก ส่งผลให้การผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นับจากนี้ไปเป็นเรื่องยากยิ่ง
ข่าวสารที่ปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ ก็คือ ณ วันนี้ขนาดแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลจะหาพื้นที่จัดทำบ่อขยะหรือฝังกลบขยะก็ยังถูกม็อบชาวบ้านต่อต้าน มิพักต้องพูดถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กลายเป็นภาพหลอนอันน่าสะพรึงกลัวไปแล้วสำหรับคนไทย
ทางออกเดียวที่จะเดินหน้าโครงการพัฒนาเหล่านี้ได้ คือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่สร้าง "ประชามติเทียม" เพื่อกลบปัญหา แล้วสุดท้ายเรื่องก็แดงขึ้นในภายหลังจนเกิดความเสียหายที่ยากจะเยียวยา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการผลักดันโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงกับชุมชน จักต้องทำการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งหมายถึงต้องทำทั้ง อีไอเอ และ เอชไอเอ พร้อมจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสียก่อน คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนมิอาจละเลยได้อีกต่อไป
หากยังต้องการให้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยในห้วงเวลานับจากนี้!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามโครงการแกะรอยนโยบายสาธารณะ ซึ่งในโครงการเดียวกันมีบทความได้รับการเผยแพร่รวม 18 เรื่อง ในเอกสารเผยแพร่ชุด "18 บทความนักข่าวแกะรอยนโยบายสาธารณะ" ซึ่งสามารถเข้าชมเรื่องอื่นๆ ได้ตามลิงค์
http://www.tuhpp.net/?p=2941
บรรยายภาพ : เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลจุดไฟเผาเอกสารของทางจังหวัด เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา
อ่านประกอบ : ท่าเรือน้ำลึกจะนะ...เมื่อโครงการพัฒนารุกรานและชาวบ้านขอสู้ตาย!
http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/341-2010-05-18-05-20-01.html