‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดงานบูรณาการสิ่งแวดล้อมฯ ภาคเหนือ หวังชุมชนช่วยลดปัญหาหมอกควัน
‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมฯ ลุ่มน้ำภาคเหนือ หวังชุมชนเป็นแนวร่วมลดปัญหาบุกรุกป่าทำเกษตร-หมอกควัน 9 จว.-เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
วันที่ 14 ก.พ.56 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเขตลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ ภายใต้ชื่องาน ‘คำมั่นสัญญาใต้ฟ้าเดียวกัน’ โดยมีผู้นำชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2,500 คน ร่วมปฏิญาณตนในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกต้นไม้ และร่วมกันจัดตั้งธนาคารต้นไม้ การจัดทำแนวกันไฟ จัดทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า พร้อมรณรงค์ลดการเผา เพื่อคลี่คลายปัญหาด้านหมอกควันและผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า และอากาศ และเพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ โดยมีการบูรณาการควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันของรัฐบาล โดยความร่วมมือระหว่างธ.ก.ส. กับ 11 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมควบคุมมลพิษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเขตลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ เริ่มจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกภายในชุมชน เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ชุมชนจะได้รับ การสร้างนวัตกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างกำลังใจและปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกต้นไม้และจัดตั้งธนาคารต้นไม้ โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนงบประมาณผ่านธนาคารต้นไม้ แก่ชุมชนที่ปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา เช่น การจัดทำแนวกันไฟ การสำรวจต้นไม้ เป็นต้น ไร่ละ 1,800 บาท หรือกรณีชุมชนปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่เขตอนุรักษ์ และพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) สนับสนุนไร่ละ 1,500 บาท
โดยต้นไม้ที่ปลูกนอกจากช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศแล้ว ยังสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ และเงินออมของเกษตรกรในระยะยาวอีกด้วย การส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้ป่าไม้มีความชุ่มชื้น พร้อมสนับสนุนงบประมาณแก่ชุมชนเพื่อจัดทำฝายและดูแลฝายกั้นน้ำชุมชนละ 30,000 บาท การรณรงค์ในเรื่องการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา เพื่อบำรุงรักษาคุณภาพของดินอย่างถูกวิธี โดยตั้งเป้าหมายให้ชุมชนลดพื้นที่การเผาอย่างน้อย 100 ไร่ต่อชุมชน พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวชุมชนละ 10,000 บาท
“โครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้จนถึงมี.ค.59 โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือชุมชนตลอดลุ่มแม่น้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด จำนวน 2,500 ชุมชน คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายที่คาดหวังคือ สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ 75,000 ไร่ จำนวนต้นไม้ 7,500,000 ต้น เก็บกักคาร์บอนได้ 27,750 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี สร้างฝายชะลอน้ำได้ 7,500 ฝาย สามารถชะลอน้ำได้ประมาณ 37,500 -60,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกระจายความชุ่มชื้นให้แก่ป่าและป้องกันการเกิดไฟป่า และสามารถจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตรทดแทนการเผาได้ 250,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้ ถึง 459 – 3,214 ตันต่อปี” นายลักษณ์ กล่าว.
ที่มาภาพ:http://cm-leadernews.com/ข่าวท่องเที่ยว/item/630-torkorsor