"โอบามา" กับ "โอซามา (บิน ลาเดน)" กรณีจับตายเหยื่อศาลเตี้ยระดับโลก!
ข่าวการเสียชีวิตของ นายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัล กออิดะห์ จากน้ำมือของหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐ ที่สะท้อนผ่านคำแถลงยืนยันความสำเร็จของ นายบารัก โอบามา แห่งอเมริกา ภาพความยินดีปรีดาของคนอเมริกัน การฝังศพ นายบิน ลาเดน ในทะเล ตลอดจนการรายงานข่าวอย่างคึกคักของสื่อแขนงต่างๆ ได้ถูกวิพากษ์และตั้งคำถามโดยนักสิทธิมนุษยชนอย่าง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แห่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
"ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอบทความของ พรเพ็ญ ที่เขียนเอาไว้เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค.2554 ท่ามกลางข่าวการเด็ดหัวผู้นำกลุ่มอัล กออิดะห์ กับความจริงบางแง่มุมที่สังคมไทยและสังคมโลกอาจหลงลืมไป...
กรณีจับตายเหยื่อศาลเตี้ยระดับโลก!
ตามข่าวที่แผยแพร่ไปทั่วโลกว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายบารัก โอบามา ได้กำกับดูแลการลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งศาล โดยไม่รู้ว่าศาล (เตี้ย) ได้พิจารณาคดีนี้ที่แห่งหนใด เป็นเหตุให้จำเลยของสหรัฐอเมริกาและของโลก นายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัล กออิดะห์ เสียชีวิตพร้อมบุคคลอื่นอีกไม่ทราบจำนวนนั้น
ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับการกล่าวถึงว่าว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอเมริกาและคนทั้งโลก โดยนายโอบามายังกล่าวสำทับด้วยว่า "And on nights like this one, we can say to those families who have lost loved ones to Al Qaeda's terror: Justice has been done" แปลเป็นไทยว่า "ในคืนอย่างเช่นคืนนี้ (คืนที่โอบามาประกาศทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายบิน ลาเดน) เราพูดกับครอบครัวของผู้สูญเสียจากการก่อการร้ายของอัล กออิดะห์ได้แล้วว่าเราได้รับความยุติธรรมแล้ว"
เหตุการณ์บันลือโลกแห่งศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.2554 นำโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปี 2552 ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือเกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงคำถามอันแหลมคมที่สุดคือ เป็นปฏิบัติการที่ขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR ข้อ 3) ว่าด้วยการห้ามกระทำการนอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย การกระทำการโดยรวบรัดหรือโดยปราศจากเหตุผล ห้ามการฆ่านอกระบบกฎหมายและการทำให้เสียชีวิตโดยพลการ
ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่หวาดกลัวภัยการก่อการร้ายอยู่ในปัจจุบัน คำถามที่อ้างอิงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและสันติภาพจากการจับตาย นายโอซามา บินลาเดน ว่าเป็นการกระทำนอกขอบเขตกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายหรือไม่, เป็นผลของการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือคำสั่งหนึ่งคำสั่งใดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยการกระทำของบุคคลอื่นใดโดยการสมรู้ร่วมคิด, เป็นการฆ่าโดยปราศจากเหตุผลหรือไม่, การใช้บทลงโทษประหารชีวิตเป็นผลมาจากการดำเนินคดีอย่างรวบรัดโดยมีหลักประกันความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฯลฯ คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นจากบางซอกมุมของโลกอย่างเงียบๆ แต่มิอาจต้านทานกระแสต่อต้านการก่อการร้ายที่แพร่กระจายไปทั่วโลกได้ ตราบใดที่วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของผู้คนยังไม่เข้มแข็งพอ
อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ คือเรื่องการฝัง (ทิ้ง) ศพนายโอซามา บินลาเดน ในทะเล แทนที่จะฝังศพในสุสาน (กุโบร์) เฉกเช่นผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวมุสลิมทั่วไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ยังนิยมชมชอบเขาสามารถเคารพศพได้ นับเป็นความหวาดกลัวและหวาดระแวงอย่างขาดสติของประเทศผู้นำโลก ซึ่งเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีที่พึงปฏิบัติต่อศพและต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต สหรัฐไม่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ ในลักษณะนี้ แม้จะเป็นศพของผู้ร้ายเบอร์หนึ่งของโลกก็ตาม
นอกจากนี้ หากเราได้ใช้สติพิจารณาทบทวนดูจะพบว่า การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อหลักมนุษยธรรมและมโนสำนึกของสังคมอีกด้วย แต่ท่ามกลางกระแสข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนทั่วโลกรวมทั้งสื่อไทยที่นำข่าวนี้มาเผยแพร่ต่อ และยังคงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวของบุคคลที่ถูกลอบสังหาร ด้วยการกล่าวหาด้วยข้อมูลที่ผู้ตายไม่มีโอกาสแก้ตัว แก้ข่าว หรือนำเสนอข้อมูลอีกด้านผ่าน facebook จึงไม่แตกต่างอะไรกับข่าวในประเทศไทยหลังมีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดหรือผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมักจะมีข่าวลับจากหน่วยงานด้านการข่าวออกมาเปิดเผยความผิดโดยคนตายไม่มีสิทธิแก้ต่าง และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตั้งคำถามและคิดทบทวนต่อเหตการณ์แต่อย่างใด
ผู้เขียนเพิ่งได้รับหนังสือ "พลังแห่งสันติวิธี การยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบศตวรรษ" ซึ่งแปลมาจาก A Force More Powerful: A Century of Nonviolent Conflict โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มหนา 865 หน้าอย่างใจจดใจจ่อเพื่อศึกษาถึงแนวทางสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งรอบตัว...
ผู้เขียนมีความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อของการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทุกผู้ทุกนาม แต่ปฏิบัติการจับตายตามคำสั่งศาลเตี้ยระดับโลกครั้งนี้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อและประชาชนโดยทั่วไปนั้น ทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าโลกในศตวรรษนี้หมดหวังกับพลังแห่งสันติวิธีและวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนไปแล้วกระนั้นหรือ?
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์และการพาดหัวข่าวของสื่ออเมริกันในวันรุ่งขึ้นหลังมีข่าว บิน ลาเดน ถูกปลิดชีพ
2 นายบารัก โอบามา (แฟ้มภาพ)
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต