ชาวบ้านสะเอียบ ร้อง กสม.นโยบายน้ำ 3.5แสนล้าน ทำคนไทยหนี้อาน-ละเมิดสิทธิประชาชน
ชาวสะเอียบร้อง กก.สิทธิ์ฯ นโยบายน้ำ 3.5แสนล้าน ทำคนไทยหนี้อาน-ระบบจัดการน้ำพัง ละเมิดสิทธิรับรู้ ปชช.ตาม รธน.-ทำลายป่าละเมิดสิทธิชุมชน ค้าน “เขื่อนแก่งเสือเต้น-ยมบน-ยมล่าง”
วันที่ 14 ก.พ.56 ตัวแทนชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ปัจจุบันอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มาเปิดการสัมมนาโครงการเครือข่ายในการเฝ้าระวัง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเครือข่ายเรื่อง "นโยบายการจัดการน้ำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน" ที่โรงแรมฮอริเดย์ การ์เดน จ.เชียงใหม่ โดยเรียกร้องให้กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ กล่าวว่าต้องการให้กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ เพราะรัฐบาลไม่เคยชี้แจงข้อเท็จจริง แต่กลับนำโครงการเหล่านี้ไปบรรจุในแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งข้ามขั้นตอนมากมาย ถือว่าไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน (เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้นยังไม่การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ)
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของ กสม.และรับปากจะตรวจสอบตามที่ชาวบ้านร้องเรียน
ด้านดร.วสันต์ จอมภักดี กล่าวในการสัมมนาถึงการจัดการแม่น้ำ คูคลอง ของภาคเหนือที่ผ่านมาว่ามีความผิดพลาด การถมริมฝั่งน้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ ทำให้แม่น้ำแคบ ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เป็นความไม่เข้าใจของหน่วยงานราชการของที่มุ่งเน้นการพัฒนา เน้นความเจริญ ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย
"ไม่ควรเร่งพัฒนาจนลืมภูมิปัญญาชาวบ้าน บรรพบุรุษอยู่กันมาได้โดยมีระบบจัดการน้ำบันทึกใว้ในตำรามังรายศาสตร์ แต่ระยะหลังเราให้พวกดอกเตอร์มาจัดการน้ำ ระบบพังหมด ลูกหลานเราจะอยู่กันได้อย่างไร เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทจะทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำพังหมด แถมยังเป็นภาระลูกหลานเป็นหนี้ไปแสนนาน"
นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี ตัวแทนชาวบ้านสะเอียบ กล่าวถึงภาพรวมลุ่มน้ำยมที่มีกรณีปัญหาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ว่าเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท หมกเม็ดแผนการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายป่า 41,7501 ไร่ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำลายป่า 13,000 ไร่ นอกจากนี้ในแผนจะต้องสร้าง 22 เขื่อน ป่าไม้และชุมชนต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งยังให้ต่างชาติมาประมูลงานอีก ชาวบ้านและชุมชนจึงไม่มีส่วนร่วมเลย
"รัฐบาลและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เดินหน้ากู้เงินมาทำลายป่าอย่างนี้ ละเมิดสิทธิหรือไม่" นายประสิทธิพร กล่าว .