กลุ่มคัดค้านเขื่อน รุดยื่นหนังสือ กก.สิทธิฯ ตรวจสอบละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดรัฐธรรมนูญ
ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ ฉะเงิน กู้ 3.5 แสนล้าน หมกเม็ดแผนทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล ชี้ป่าไม้และชุมชน ถูกกระทบหนักแน่นอน ยิ่งให้ต่างชาติมาประมูลงาน มองข้ามการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชน
วันที่ 14 กุมภาพันธุ์ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ บุกยื่นหนังสือต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาคิ ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ การละเมิดสิทธิชุมชน และการละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ณ ห้องประชุม โรงแรมฮอริเดย์ การ์เดน จ.เชียงใหม่
นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวถึงกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง ทางกรรมการสิทธิฯ จะได้ดำเนินการต่อไป ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิตามที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบร้องเรียน
ส่วนนายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ กล่าวถึงภาพรวมลุ่มน้ำยม ที่มีกรณีปัญหาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง"เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ได้หมกเม็ดแผนการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายป่า 41,7501 ไร่ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำลายป่าอีก 13,000 ไร่ นอกจากนี้ในแผนการจัดการน้ำยังมีเขื่อนที่จะต้องสร้างทั้งหมด 22 เขื่อน ป่าไม้และชุมชน จะต้องถูกกระทบอย่างมากแน่นอน อีกทั้งยังให้ต่างชาติมาประมูลงานอีก การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชนก็ยังไม่มี รัฐบาลและ กบอ. เดินหน้ากู้เงินมาทำลายป่าอย่างนี้ละเมิดสิทธิหรือไม่" นายประสิทธิพร กล่าว
ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "ตนและคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้มายื่นหนังสือต่อหมอนิรันดร์ เพื่อให้กรรมการสิทธิได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือ เต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง เพราะรัฐบาล กบอ. ไม่เคยมาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่อย่างใด กลับนำโครงการเหล่านี้ไปบรรจุในแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ข้ามขั้นตอนต่างๆ มากมาย ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน จึงขอให้กรรมการสิทธิช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย" นายสมมิ่ง กล่าว
ขณะที่ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดการแม่น้ำ คูคลอง ของภาคเหนือที่ผ่านมา มีความผิดพลาด การถมริมฝั่งน้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ ทำให้แม่น้ำแคบ ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เป็นความไม่เข้าใจของหน่วยงานราชการของเราเอง ที่มุ่งเน้นการพัฒนา เน้นความเจริญ ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย
"เราไม่ควรเร่งพัฒนา จนลืมภูมิปัญญาชาวบ้าน บรรพบุรุษของเรา พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของพวกเราอยู่กันมาได้มีระบบการจัดการน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บันทึกใว้ในตำรามังรายศาสตร์ แต่ระยะหลังเราให้พวกดอกเตอร์มาจะการน้ำ ระบบพังหมด แล้วลูกหลานเราจะอยู่กันได้อย่างไร งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านจะทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำพังหมด แถมยังเป็นภาระให้ลูกหลานเราเป็นหนี้สาธารณะไปอีกนานแสนนาน" ดร.วสันต์ กล่าว