สั่งปล่อย 8 ผู้ถูกคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก. – เปิดหลักเกณฑ์ใหม่ ปธ.ศาลฎีกากำหนดแนวบังคับใช้ ก.ม.พิเศษชายแดนใต้!
มิติใหม่กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้! ศาลปัตตานีสั่งปล่อย 8 ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังตำรวจยื่นคำร้องขอขยายเวลา ชี้หลักฐานขาดความน่าเชื่อถือ มีแค่ข้อมูลจากแหล่งข่าวพาดพิง เปิดหลักเกณฑ์ใหม่ "ประธานศาลฎีกา" กำหนดแนวบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ขีดกรอบฝ่ายความมั่นคงต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามหมายจับและการควบคุมตัวอย่างเคร่งครัด ห้ามออกหมายซ้อนหวังขังยาว ย้ำหากฝ่าฝืนให้ศาลสั่งเพิกถอนหมาย-ปล่อยตัวทันที
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.2554 ศาลจังหวัดปัตตานีได้ไต่สวนคำร้องของทนายความของผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำนวน 5 คน คือ นายมะนาเซ สะมะแอ, นายสุริยา แวนาแว, นายอับริก สหมานกูด, นายรอหีม หลำโสะ และนายดอเลาะ เดนอายัด เพื่อคัดค้านการควบคุมตัวต่อโดยอาศัยอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
ในการนี้ ผู้ถูกควบคุมสามคนในจำนวน 5 คนได้เดินทางไปศาล โดยมีพยานผู้ร้องคัดค้านการควบคุมตัวจำนวน 2 ปาก, ผู้ถูกควบคุมตัว 2 ปาก และพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำนวน 1 ปาก คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังรับฟังการไต่สวน ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งปล่อยตัวบุคคลทั้งห้า รวมทั้งบุคคลอีก 3 คนที่มีหมายจับ ฉฉ.ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในเหตุการณ์เดียวกัน รวมศาลสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนทั้งสิ้น 8 คน และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายการควบคุมตัวต่อตามหมายจับ ฉฉ.หมายเลข 12-19/ 2554 เนื่องจากมีการควบคุมตัวบุคคลไว้จำนวนกว่า 12-14 วัน และบันทึกซักถามระบุว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ รวมทั้งฝ่ายผู้ควบคุมตัว (เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง) ไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกจากข้อมูลจากแหล่งข่าวที่พาดพิงถึงบุคคลทั้ง 8 คนเท่านั้น อีกทั้งข้อมูลจากแหล่งข่าวไม่มีความน่าเชื่อถือพอ ผลการซักถามเป็นเพียงปฏิบัติการทางจิตวิทยา
ศาลมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีเหตุในการขยายการควบคุมตัวบุคคลทั้งห้าที่ร้องขอคัดค้านการขยายเวลาการควบคุมตัว และแม้ว่าบุคคลอีก 3 คนจะไม่ได้ยื่นคัดค้านการขยายเวลาการควบคุมตัว แต่ศาลพิจารณาว่ามีมูลเหตุเดียวกัน จึงยกคำร้องขอขยายเวลาการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 8 คนในคราวเดียวกัน และสั่งให้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 8 คนในทันที
แฉจับกุมในพื้นที่สงขลานอกเขตประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
อนึ่ง นายมะนาเซ สะมะแอ, นายสุริยา แวนาแว, นายอับริก สหมานกูด, นายรอหีม หลำโสะ และนายดอเลาะ เดนอายัด มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทั้งหมดถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2554 และถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ภายในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา
เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 5 คนถูกจับกุมในท้องที่ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ปฏิบัติการดังกล่าวจึงถูกมองจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่าหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจมีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยโดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เปิดหลักเกณฑ์ ปธ.ศาลฎีกา กำหนดแนวบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
มีรายงานว่า ได้มีการประกาศ "คำแนะนำของประธานศาลฎีกา" เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนที่ 30 ก เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2554 โดยคำแนะนำดังกล่าวลงนามโดย นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2554
สาระสำคัญของคำแนะนำดังกล่าว ระบุว่า โดยที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 11 วรรคสอง (1) และมาตรา 12 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวบุคคล พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลในท้องที่ที่ได้มีการประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงไว้เป็นกรณีพิเศษแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการของศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงออกคำแนะนำดังนี้
- การยื่นคำร้องขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ให้ยื่นต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดหรือเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือบุคคลที่ต้องสงสัยมีถิ่นที่อยู่ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ร้อง (เจ้าพนักงาน) ได้แสดงให้ศาลเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกหมายจับและควบคุมตัวเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง จะยื่นคำร้องต่อศาลในเขตพื้นที่ซึ่งพยานหลักฐานสำคัญที่จะใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องอยู่ในเขตศาลนั้นก็ได้
- การพิจารณาคำร้องขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีเหตุที่จะจับกุมบุคคลตามคำร้องได้
ศาลควรสอบถามผู้ร้อง (เจ้าพนักงาน) ด้วยว่าเคยมีการอนุญาตให้จับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาก่อนที่ศาลใดหรือไม่ หากมี ศาลพึงไต่สวนให้ได้ความว่าการอนุญาตครั้งก่อนเป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันกับที่ขอให้มีการจับกุมและควบคุมตัวตามคำร้องครั้งนี้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อมิให้บุคคลนั้นต้องถูกควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 12 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ควบคุมตัวได้คราวละ 7 วัน รวมเวลาไม่เกิน 30 วัน)
ต้องรายงานศาลถึงความคืบหน้า "หมายจับ" และ "การควบคุมตัว"
- ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับและควบคุมตัว ศาลควรกำหนดให้ผู้ร้อง (เจ้าพนักงาน) มีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการติดตามจับกุมต่อศาลทุกสามเดือนจนกว่าจะจับกุมได้
(2) เมื่อจับกุมบุคคลตามคำร้องได้แล้ว ให้จัดทำรายงานการจับกุมและควบคุมตัวโดยแนบภาพถ่ายผู้ถูกจับกุม รวมทั้งระบุถึงสถานที่ควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวเสนอต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่จับกุมได้
(3) หากมีการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้รายงานให้ศาลทราบทันที
(4) เมื่อจะมีการปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกควบคุมไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ผู้ร้องต้องแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจทราบล่วงหน้าถึงการปล่อยตัว และนำบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลที่ออกหมายจับและควบคุมเพื่อการปล่อยตัว
ย้ำฝ่ายความมั่นคงฝ่าฝืนหรือใช้เวลาเกิน 1 ปีให้เพิกถอนหมายจับ
- ในกรณีที่ผู้ร้อง (เจ้าพนักงาน) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังที่กล่าวมา ศาลจะเพิกถอนหมายจับและควบคุมตัว หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและควบคุมตัวแล้ว หากยังไม่สามารถจับกุมบุคคลตามหมายได้ ศาลอาจเรียกผู้ร้อง (เจ้าพนักงาน) มาสอบถามหรือจะเพิกถอนหมายจับและควบคุมตัวนั้นก็ได้
จับโดยมิชอบให้เพิกถอนหมาย-สั่งปล่อยทันที
- ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าการจับกุมหรือควบคุมตัวไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ศาลทำการไต่สวน โดยจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำบุคคลผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวมาศาลเพื่อสอบถามด้วยก็ได้ และหากได้ความว่าไม่มีเหตุที่จะจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว หรือการจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลเพิกถอนหมายจับและควบคุมตัว
- ในการพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากมีข้อสงสัยว่าสถานที่ควบคุมตัวหรือการปฏิบัติต่อบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย หรือมีการคัดค้านการขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ศาลอาจไต่สวนหรือมีคำสั่งให้นำบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลเพื่อสอบถาม หากปรากฏว่าการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่มีเหตุที่จะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวต่อไป ให้ศาลสั่งยกคำร้อง
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ขยายได้คราวละไม่เกิน 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 โดยไม่จำต้องมีการออกหมายขัง
-ในกรณีที่มีการยกเลิกประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11 วรรคสามแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ศาลยกเลิกหมายจับและควบคุมตัวเสีย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพถ่ายด้านหน้าศาลฎีกาจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์