ร่างรายงานค้นหา "กุญแจ" ดับไฟใต้ (1) แนะ "สานเสวนา-เจรจา" ก้าวข้ามความกลัว "ปกครองตนเอง"
ความพยายามค้นหาแนวทาง "ดับไฟใต้" ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มองค์กรต่างๆ แม้ว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะประเมินผลงานว่าตนเอง "สอบผ่าน" และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดาร และไม่ใช่ตัวชี้วัดความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ก็ตาม
ล่าสุดมีร่างรายงานของ "โครงการค้นหากุญแจสู่สุขภาวะชายแดนใต้" ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มี นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ที่เคยเดินเท้ารณรงค์เรียกร้องสันติภาพจากศาลายาถึงปัตตานีเป็นแกนหลัก ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เสนออีกหนึ่งแนวทาง "ดับไฟความรุนแรงที่ปลายขวาน" เพื่อให้รัฐบาลและประชาชนได้ร่วมถกแถลงกันต่อไป
ร่างรายงานฉบับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "(ร่างสุดท้าย) รายงานสมุดปกขาว โครงการค้นหากุญแจสู่สุขภาวะชายแดนใต้" นับได้ว่าเป็นรายงานที่มาจากเสียงของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงฉบับหนึ่ง เพราะมีที่มาจากการจัดเวทีพูดคุยและสานเสวนาตามหลักวิชาการมากกว่า 10 ครั้ง ผู้เข้าร่วมสานเสวนามีทั้งผู้นำทางความคิดจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รวมไปถึงเสียงจากกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐไทยด้วย
กุญแจดอกที่หนึ่ง...ฟังเสียงฝ่ายขบวนการ
ร่างรายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นด้วยความพยายามทดลองมองปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแง่มุมใหม่ๆ และแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนสันติภาพที่ฉีกแนวไปจากวิธีคิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยแทนที่จะมองปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าจะต้องหาข้อยุติให้ได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่งในอนาคตข้างหน้า แต่โครงการค้นหากุญแจเพื่อสุขภาวะชายแดนใต้เลือกมองปัญหาในฐานะที่เป็นผลพวงของบริบทและเงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากพอที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นที่พอใจกับทุกฝ่ายในระยะยาว
ประเด็นที่โครงการกุญแจฯพยายามทำและให้ความสำคัญคือ
หนึ่ง นำเสียงและตรรกะวิธีคิดที่ไม่ค่อยจะได้ยินมากนักของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐไทย มาเป็นปัจจัยสำคัญในการคิดวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจปัญหาครบทุกด้าน
สอง ใช้วิธีสร้างภาพอนาคตเพื่อน้อมนำความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งให้สามารถหลุดออกจากวงจรการวิเคราะห์ปัญหาแบบเดิมๆ และมองเห็นทางเลือกในอนาคตหลากหลายชนิดที่อาจเกิดขึ้นได้
"ท่ามกลางความปั่นป่วนของสถานการณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ และความพยายามหาทางขับเคลื่อนสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการรวมวิเคราะห์ตรรกะวิธีคิดของฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ และการใช้วิธีการสร้างภาพอนาคตนั้น เป็นไปด้วยความคาดหวังว่าผู้ที่ได้อ่านรายงานฉบับนี้จะสามารถก้าวข้ามความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย หรือตกเป็นฝ่ายตั้งรับต่อสถานการณ์โดยไม่รู้ว่าตนเองควรทำอะไรดี ให้สามารถมองเห็นได้ว่าตนเองอยู่ตรงส่วนใดของความขัดแย้ง รวมทั้งรู้ถึงบทบาทและสิ่งที่ตนเองสามารถกระทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีสำนึกรู้ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าการกระทำของตนเชื่อมต่อกับความพยายามของภาคส่วนอื่นๆ อย่างไรในยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนสันติภาพ"
เป็นหลักการสำคัญที่ระบุเอาไว้ในร่างรายงานฯ
กุญแจดอกที่สอง...ใช้ "การเมือง" ปลดชนวนข้ดแย้ง
ร่างรายงานฯ ระบุอีกว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน โดยมีชุมชนพลเมืองอยู่ตรงกลางเป็นผู้ได้รับความเสียหาย แต่กระนั้นก็มีสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เป็นไปได้ว่าสถานการณ์จะเคลื่อนไปสู่จุดที่ทั้งรัฐและฝ่ายขบวนการมีการปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันได้ของทุกฝ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายประการ แต่ปัจจัยหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อน 2 ด้าน ประกอบด้วย
1.แนวโน้มด้านการเมือง 2.แนวโน้มด้านสังคมและคุณค่า ซึ่งทั้งสองด้านจะเป็นแรงผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะแนวโน้มทางการเมือง
"การปรับนโยบายการแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐและการปรับแนวทางการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการคือกุญแจสำคัญในการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งที่รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่สภาวะใหม่ที่ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายขบวนการ และชุมชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม" ร่างรายงานฯระบุอีกตอนหนึ่ง
กุญแจดอกที่สาม...บทบาทพลเมืองฐานราก
เนื้อหาในร่างรายงานฯ ยอมรับว่า การคาดหวังให้ทั้งภาครัฐและกลุ่มขบวนการปรับตัวเชิงนโยบายด้วยตัวเอง แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ดังนั้นแนวโน้มด้านสังคมและคุณค่าจึงเป็น "แรงผลักเสริม" ให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนพลเมืองฐานรากจึงเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะเป็น "กุญแจ" อันทรงอิทธิพล สามารถโน้มน้าวหรือกดดันให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการปรับตัวได้
กุญแจดอกที่สี่...สานเสวนาและเจรจา
ร่างรายงานฯยังกล่าวถึงประเด็นการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่สามารถคลี่คลายลงได้หากไม่มีการพูดคุยเจรจา
อย่างไรก็ดี การเจรจานั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐกับฝ่ายขบวนการ แต่การพุ่งเป้าไปที่การเปิดโต๊ะเจรจาเพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่สามารถรอคอยได้แล้ว ยังไม่น่าจะก่อให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนมากนัก หากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาสังคมและภาคชุมชนพลเมืองยังไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ข้อตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้ว
"การสานเสวนาในรูปแบบต่างๆ ที่โครงการกุญแจฯพยายามจัดให้มีขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นไปเพื่อเร่งภาวะและเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการเจรจาของทั้งสองฝ่ายให้สุกงอมเร็วขึ้น โดยพยายามสร้างพื้นที่ที่ทุกฝ่ายรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้จุดยืนของฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายตน โดยเฉพาะฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกันมากๆ และสามารถฝ่าปราการทางจิตวิทยาที่ฝ่ายหนึ่งกริ่งเกรงว่า 'การกระจายอำนาจ' หรือ 'การปกครองตนเอง' จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในที่สุด ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกังวลว่าหากไม่ยึดมั่นในเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของฝ่ายตนจะต้องสลายตัวไปในที่สุดเช่นกัน"
ดังนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการกุญแจฯทั้งหมดจึงเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับให้มีการนำข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการเจรจาของทั้งสองฝ่ายสามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพหลังการเจรจาอีกด้วย
"ข้อสำคัญคือ ในขณะที่มีการเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการเปิดโต๊ะเจรจากันนั้น แต่ผู้เข้าร่วมสานเสวนาบางคนมีข้อเสนอเชิงรุกสำหรับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งตนเองด้วยว่า ถ้าจะเปิดโต๊ะเจรจากันจริงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเจรจาด้วย รวมทั้งยังต้องคิดถึงสภาวะก่อนการเจรจาและโดยเฉพาะหลังเจรจาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร"
เพราะการตระหนักถึงความพร้อมของการเจรจาและภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น คือตัวชี้วัดอันสำคัญว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในดินแดนแห่งนี้!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทหารถือปืนรักษาความปลอดภัยในงานที่ฝ่ายปกครองจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์กับชาวบ้านในชายแดนใต้ คือภาพสะท้อนอันน่าวิตกของความไม่ไว้วางใจกันและความไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ที่ยังคงเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง
2 บรรยากาศเวทีสานเสวนาครั้งหนึ่งในหลายๆ ครั้งของโครงการกุญแจฯ