ศึกษารูปแบบการจัดการ "ซะกาต" มาเลย์ เตือนรัฐอย่ามุ่งผลเฉพาะด้านความมั่นคง
หลังจาก โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา นำเสนอความเคลื่อนไหวของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เตรียมเข็นร่างกฎหมายส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อจัดระเบียบเงินบริจาคของพี่น้องมุสลิมนั้น อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ ได้เขียนบทความให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการกองทุนซะกาตของมาเลเซีย และเตือนว่ารัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ด้านความมั่นคงเพื่อหวังต้องการควบคุมการเงินของมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ
"ซะกาต" คืออะไร ทำไมมุสลิมจึงให้ความสำคัญ
"ซะกาต" ตามความหมายในเชิงภาษาศาสตร์ หมายถึง การทำให้สะอาด การทำให้งอกเงย หรือการทำให้เพิ่มพูน (Anis, Ibrahim, et al. n.d. al-Majmua al - Wasit. s.l.: s.n. P: 398)
ในขณะที่ "ซะกาต" ตามความหมายในเชิงนิติศาสตร์อิสลาม หมายถึง ทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ศาสนบัญญัติได้กำหนดไว้ โดยที่อิสลามถือว่าจำนวนของทรัพย์ที่ถูกนำไปจ่ายเป็นทาน "ซะกาต" ยังความเจริญงอกเงยให้แก่ส่วนที่เหลือจากที่ได้จ่ายไป และเป็นการชำระกิเลสของผู้บริจาคนั้นด้วย (al-Qardhawi, Yusuf.1993, Fiqh al-Zakah . Berut : al-Risalah . p: 37)
ผู้ปฏิเสธซะกาตด้วยความตระหนี่แล้ว เขาผู้นั้นถูกจัดให้เป็นผู้ที่ทำบาปใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเขาเสียชีวิตในขณะนั้น ชะตากรรมของเขาจะถูกกำหนดโดยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ระหว่างเข้าสวรรค์หรือลงนรก และจะต้องถูกประจานให้ผู้อื่นได้รับทราบถึงพฤติกรรมของเขา ดังพระดำรัสของพระองค์ความว่า : แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยโทษแก่ผู้ที่ตั้งภาคีกับพระองค์โดยเด็ดขาด และพระองค์จะทรงอภัยโทษในบาปอื่นต่อผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (อัลกุรอาน บทที่ 4 โองการที่ 48)
บุคคลที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาตนั้น อัลลอฮ์ ได้ทรงกำหนดบทลงโทษแก่เขาไว้แล้ว ดังพระดำรัสของพระองค์ความว่า : และบรรดาผู้สะสมทองคำและเงิน โดยไม่ยอมจ่ายไปในวิถีทางของอัลลอฮ์ จงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาเถิดถึงการลงโทษอันเจ็บปวด ในวันที่มันจะถูกนำมาเผาในไฟนรกยะฮันนัม แล้วนำมันไปนาบหน้าผาก สีข้าง และหลังของพวกเขา นี่คือสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้ เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นพวกเจ้าจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้เถิด. (อัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 34-35)
ดังนั้น "ซะกาต" จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมในอิสลามที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการในการดูแลปกป้องบุคคลในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจของปัจเจกบุคคลที่มีความสามารถ โดยที่หลักสวัสดิการนั้นได้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอุดมการณ์ของสังคม จริยธรรมของบุคคลในสังคม พฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีความศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นแกนกลาง และการช่วยเหลือด้วยทรัพย์สินเป็นกลไก เพื่อให้ผู้มีสิทธิรับซะกาต สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (ศุภชัย สมันตรัฐ. 2548. "การพัฒนาการบริหารสวัสดิการซะกาตของชาวไทยมุสลิมจังหวัดสตูล" วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 16)
ในขณะที่ เจตนาของการจ่ายซะกาต คือ การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความตระหนี่ซึ่งเป็นโรคที่เป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของสังคมมนุษย์ ซะกาตจึงเป็นสิ่งชำระล้างสังคมให้บริสุทธิ์จากการขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งนอกจากจะเป็นการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถแตกต่างกัน ที่ทำให้รายได้ของแต่ละคนแตกต่างกันตามไปด้วย อิสลามไม่ต้องการให้ความแตกต่างด้านความสามารถ ด้านรายได้นี้ นำไปสู่ความแตกต่างด้านชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นจากความแตกต่างนั้น คนรวยไม่ใส่ใจคนยากจน มองดูด้วยสายตาเหยียดหยาม ในขณะที่คนยากจนมองคนรวยด้วยสายตาแห่งความอิจฉา และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อิสลามไม่ต้องการให้มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคม ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุฮัมหมัดความว่า "คนใดกินจนท้องอิ่ม แล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหย คนนั้นมิใช่มุสลิม" (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม) ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน
นอกจากนี้ซะกาตยังเป็นหนึ่งในห้าของโครงสร้างสำคัญของอิสลาม ดั่งที่ท่านญิบรีล (เทวทูตของพระเจ้า) ได้มาถามท่านศาสดาว่าอิสลามคืออะไร ท่านศาสดา ตอบไว้ความว่า "อิสลามคือการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดเป็นศาดาของอัลลอฮ์ การดำรงนมาซ การบริจาคซะกาต การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการทำฮัจญ์" (บันทึกโดย บุคอรี-มุสลิม)
ประเภทของซะกาตและผู้มีสิทธิในซะกาต
ประเภทของซะกาต แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ซะกาตรายหัว และซะกาตทรัพย์สิน
(1) ซะกาตรายหัว ภาษาอาหรับ เรียกว่า "ซะกาตบะดัน" ในที่นี้หมายถึง "ซะกาตฟิตร์" โดยซะกาตฟิตร์ถูกตราเป็นบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นสิ่งขัดเกลาและชำระล้างผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนให้ปราศจากบาปอันเกิดจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมตามศาสนบัญญัติขณะถือศีลอด ทั้งยังเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากจนขัดสนในการบริจาคอาหารเพื่อพวกเขาจะได้อิ่มหน่ำสำราญ ไม่ต้องขอวิงวอนจากผู้ใดในวันตรุษนั่นเอง
ดังที่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในวัจนศาสดาที่รายงานโดยท่านอิบนูอับบาสว่า ความว่า : ศาสดาได้กำหนดซะกาตฟิตร์เพื่อชำระผู้ถือศีลอดให้สะอาดจากคำพูดที่ไร้สาระและหยาบคาย และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากไร้ (บันทึกโดย อบูดาวุดและอิบนุมาญะฮ์)
ซะกาตฟิตร์ เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ทั้งชายและหญิง เด็กและผู้ใหญ่ ผู้เป็นทาสและไม่เป็นทาส ซึ่งมีหลักฐานจากวัจนะศาสดาที่รายงานโดยท่านอุมัร (รอดิยัลลอฮุอันฮุ) ความว่า : ท่านศาสดา ได้กำหนดซะกาตฟิตร์ของเดือนรอมฎอนไว้หนึ่งซออฺจากผลอินทผาลัม หรือหนึ่งซออฺจากข้าวสาลี เหนือทุกคนที่เป็นเสรีชนหรือเป็นทาส เป็นเพศชายหรือเพศหญิง เป็นผู้เยาว์หรือผู้ใหญ่ ที่เป็นมุสลิม และได้กำชับให้จ่ายมันก่อนที่ผู้คนจะออกไปดำรงละหมาด...ทั้งนี้ยังส่งเสริม (สุหนัต) ให้จ่ายซะกาตฟิตร์ในส่วนของทารกที่อยู่ในครรภ์เช่นกัน(บันทักโดย บุคอรีและมุสลิม)
คำว่า 1 ซออฺ มีปริมาณเท่ากับ 2.176 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย หรือจะจ่ายเป็นค่าเงินแทนซะกาตฟิตร์ ตามทัศนะของนักวิชาการร่วมสมัยบางท่านเช่น ศ.ดร.ยูซุฟ อัลกอรอฎอวีย์ (al-Qardhawi, Yusuf.1993, Fiqh al-Zakah . Berut : al-Risalah . p: 948) ก็ได้
(2) ซะกาตทรัพย์สิน ภาษาอาหรับ เรียกว่า "ซะกาตมาล" เป็นซะกาตที่มีกำหนดเวลาและมีเงื่อนไขของจำนวน เก็บเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่าก็ไม่ต้องจ่าย หรืออาจสรุปได้ว่า ซะกาตจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทุกประเภทที่งอกเงยและเพิ่มพูนในขณะที่ทรัพย์สินที่ไม่อาจเพิ่มพูน ซะกาตจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังนี้
1.โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำ 1 บาท หนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้ โดยมีข้ออ้างอิงจากวัจนะศาสดาบทหนึ่งซึ่งรายงานโดยท่านอาลี (รอดิยัลลอฮุอันฮุ) ว่า ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ความว่า : เมื่อท่านครอบครองไว้สองร้อยดิรฮัม และครบรอบปีต้องจ่ายซะกาตห้าดิรฮัม และไม่มีอะไรที่ท่านจะต้องจ่าย (หมายถึงทองคำ) จนกว่าท่านจะครอบครองมันไว้ยี่สิบดีนาร เมื่อท่านครอบครองไว้ยี่สิบดีนาร และครบรอบปี ท่านต้องมีซะกาตครึ่งดีนาร และส่วนที่เกินจากนั้นก็ให้ใช้หลักคำนวณเช่นกัน และไม่พึงต้องจ่ายซะกาตในทรัพย์สินจนกว่าจะครบรอบปี (บันทึกโดย อบูดาวุด )
ส่วนเครื่องประดับที่ประดิษฐ์จากทองคำหรือเงิน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ
- เครื่องประดับที่ถูกเก็บไว้เพื่อการเช่า ซึ่งในกรณีนี้ ปราชญ์อิสลามศึกษาทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าพึงจำเป็นต้องจ่ายซะกาตโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
- เครื่องประดับที่ถูกนำมาใช้ประดับ ก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตเช่นกันตามทัศนะของนักปราชญ์อิสลามศึกษา ดังที่อัลกุรอานได้ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องจ่ายซะกาตของทองคำและเงิน และอ้างอิงถึงวัจนะศาสดาหลายบทด้วยกัน
2.ผลผลิตจากการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นธัญพืชและผลไม้นั้นจะจ่ายซะกาตทันทีเมื่อครบตามพิกัด ซึ่งพิกัดของธัญพืชและผลไม้นั้น คือ 5 วะสัก ดังคำกล่าวของท่านศาสดา ความว่า: ในสิ่งที่ต่ำกว่าห้าวะสัก ไม่ต้องจ่ายซะกาต (วัจนะศาสดาบันทึกโดย บุคอรีและมุสลิม)
สำหรับ 1 วะสัก เท่ากับ 60 ซออฺ ดังนั้น 5 วะสัก เท่ากับ 300 ซออฺ ซึ่ง 1 ซออฺเท่ากับ 3 ลิตรในปัจจุบัน โดยถ้าคำนวนตามนี้ พิกัดธัญญพืชและผลไม้เท่ากับ 800 ลิตร (หากเป็นข้าวสารเท่ากับ 60 ถังโดยประมาณ) และไม่กำหนดวาระของธัญญพืชและผลไม้ ดังพระดำรัสของอัลลอฮ์ความว่า: และเจ้าทั้งหลายจงจ่ายสิทธิ์ของมันในวันที่เก็บเกี่ยวมัน (อัลกุรอาน บทที่ 6 โองการที่ 141)
3.ปศุสัตว์ ได้แก่ อูฐ วัว แพะ หรือแกะ การจ่ายซะกาตของสัตว์เหล่านี้มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้หากินเองตามที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งศาสดาได้กล่าวไว้ความว่า: ในอูฐที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าสาธารณะนั้นมีซะกาต (วัจนะศาสดาบันทึกโดย อะฮฺมัด อบูดาวุดและนาซาอี) ท่านศาสดายังได้กล่าวอีกความว่า: ซะกาตของแพะนั้น คือ (แพะ) ที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าสาธารณะ...(วัจนะศาสดาบันทึกโดย บุคอรี) ในขณะเดียวกันอีกเงื่อนไขหนึ่งคือ การครอบครองครบตามพิกัดในช่วงครบรอบปี
4.ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน (สินแร่และทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้)
- สินแร่ หมายถึงสิ่งที่ถูกขุดพบจากพื้นดินและมีค่า ซึ่งไม่ใช่พืชพันธุ์ เช่น แร่ทองคำ แร่เงิน แร่เหล็ก ทับทิม และน้ำมันดิบ เป็นต้น ทรัพย์สินประเภทนี้จำเป็นต้องจ่ายซะกา ดังพระดำรัสของอัลลอฮ์ ความว่า: บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริจาคส่วนหนึ่งจากบรรดาสิ่งดีๆ ของสิ่งที่พวกเจ้าได้แสวงหาไว้ และจากสิ่งที่เราได้ให้ออกมาจากดินสำหรับพวกเจ้า (อัลกุรอาน บทที่ 2 โองการที่ 167)
และไม่ต้องสงสัยเลยว่า สินแร่คือสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบันดาลให้ออกมาจากดินเพื่อมวลมนุษย์ นักปราชญ์อิสลามศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าการกำหนดพิกัดของทรัพย์สินประเภทนี้ จำเป็นเช่นกันในการจ่ายซะกาต โดยอัตราที่ต้องจ่ายเป็นซะกาตคือ ร้อยละ 2.5 หรือ 2.5% ของทรัพย์ที่ขุดพบ เปรียบเทียบกับอัตราของเงินและทองคำ และทรัพย์สินประเภทนี้ไม่มีการกำหนดวาระ โดยต้องจ่ายซะกาตในขณะที่ขุดพบตามพิกัดทันที
-ทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้ หมายถึง ทรัพย์สินที่ถูกขุดพบ ซึ่งถูกฝังไว้ในยุคก่อนอิสลาม ไม่ว่าจะขุดพบในแผ่นดินอิสลามหรือไม่ก็ตาม ทรัพย์สินประเภทนี้จะถูกจารึกสัญลักษณ์ต่างๆ ของชาวกาฟิร เช่น ชื่อกษัตริย์ ชื่อเจ้าของ ภาพของคน หรือภาพของเทวรูปต่างๆ แต่ถ้าสิ่งที่ถูกจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ของมุสลิม เช่น ชื่อศาสดา หรือชื่อผู้นำมุสลิม หรือโองการอัลกุรอาน หรือไม่ปรากฏสัญลักษณ์ใดอยู่เลย เช่น ถ้วยจาน เครื่องประดับ สร้อย เป็นต้น ทรัพย์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นของสูญหาย ไม่สามารถนำมาครอบครองได้ จนกว่าจะประจักษ์ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ เนื่องจากทรัพย์สินของมุสลิมเป็นกรรมสิทธ์แด่เจ้าของตลอดไป
อัตราซะกาตของทรัพย์สินประเภทแรกนั้น (ไม่ใช่ของมุสลิม) คือ หนึ่งส่วนห้า หรือร้อยละ 20 ของสิ่งที่ถูกขุดพบ โดยไม่จำกัดพิกัดจำนวนใดๆ ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องจ่ายซะกาตไม่ว่าจะขุดพบจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม ส่วนที่เหลือหลังจากซะกาตแล้ว เป็นกรรมสิทธ์ของผู้ขุดพบ
ผู้มีสิทธิในซะกาต
อัลลอฮ์ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิในซะกาตเป็นคน 8 ประเภท ได้แก่
1.คนยากไร้ (ฟากีร) ได้แก่ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีค่าเลี้ยงชีพ หรือมีแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี
2.คนขัดสน (มิสกีน) ได้แก่ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะมีฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน
3.เจ้าหน้าที่ซะกาต ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต บุคคลประเภทนี้รับซะกาตได้เพียงอัตราค่าจ้างของเขาเท่านั้น
4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก
-จำพวกแรก ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา
-จำพวกที่สอง ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง หรือหวังในการเข้ารับอิสลามของคนใกล้ชิดและพวกพ้องของเขาเป็นต้น
5.ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้สามารถมอบซะกาตให้เขาได้เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่าสามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน
6.คนมีหนี้สิน มี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
-ผู้เป็นหนี้สินของตัวเอง ได้แก่ ผู้ที่หยิบยืมทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อกิจการส่วนตัวของเขา และไม่มีลู่ทางที่จะใช้หนี้สินนั้นได้ คนลักษณะนี้สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น
-ผู้เป็นหนี้สินให้ผู้อื่น ได้แก่ บุคคลที่กู้ยืมเพื่อขจัดปัญหาในสังคม คนลักษณะนี้สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม
7.ในวิถีทางของอัลลอฮ์ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เท่านั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)
8.คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทางจนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้นคนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
เมื่อพิจารณาตามเหตุผลแล้วจะเห็นได้ว่าอิสลามให้การช่วยเหลือเกื้อกูลโดยมองอย่างรอบด้านครอบคลุมกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งในแง่ของรายได้ สถานภาพทางสังคม ความแตกต่างด้านชนชั้น รวมทั้งผู้ที่ทำงานเพื่อศาสนา และยังรวมถึงผู้ที่ต้องบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนซะกาตมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างความแตกต่างของคนในสังคม
หลายคนอาจมองว่า ถ้ามีระบบการดูแลเช่นนี้ในอิสลาม จะทำให้กลุ่มคนที่ศาสนาให้รับซะกาตขาดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง แต่ในความเป็นจริง ผู้รับซะกาตเหล่านั้นต้องพัฒนาตนเองให้มีความกระตือรือร้น ทะเยอทะยานในเรื่องของความขยัน เพื่อสักวันในอนาคต จะได้เป็นผู้ให้ซะกาตกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าบ้าง การเป็นผู้รับซะกาต แม้จะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปฏิบัติ แต่มิได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นได้ผ่านหลักปฏิบัติข้อสำคัญหนึ่งของศาสนา เพราะคำว่า "ซะกาต" ในหลักการของศาสนา คือ ถ้ามีความสามารถต้องจ่ายซะกาตออก มิใช่ความสมบูรณ์จะอยู่ที่การรับเข้า ซึ่งอาจเป็นข้อคิดอีกประการที่มุสลิมต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้ให้จงได้
อีกประการหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นควรจะได้รับซะกาตหรือไม่ คือความเป็นคนดีในความหมายของศาสนา ถึงจะมีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับซะกาต
บทเรียนการจัดการซะกาตในมาเลย์
รัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อบทบาทของซะกาตในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากมีระบบบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักการของศาสนาแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคมได้
ในอดีตมาเลย์เองก็มีการปล่อยให้การจ่ายซะกาตเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ทำกันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ หลายชุมชนปฏิบัติตามหลักการา แต่หลายชุมชนเฉยเมย ไม่มีองค์กรกลางบริหารจัดการในการจัดเก็บ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและขาดทิศทาง เงินและทรัพย์สินที่จ่ายเสมือนเบี้ยหัวแตก
บางคน บางองค์กร ตีความเข้าข้างการกระทำและความรู้สึกของตนว่าสิ่งบริจาคนั้น เรียกว่า "ซะกาต" แล้ว ทั้งๆ ที่การบริจาคมีค่าเพียง "ทานอาสา" มิใช่ "ทานบังคับ" หรือ "ซะกาต" แต่อย่างใด การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมและชุมชนนั้นไม่ได้รับการดูแลแล้ว ยังถือว่าเขาไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนา นั่นคือ การไม่ยึดมั่นในคำสั่งใช้ของพระเจ้า
ต่อมารัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการจัดตั้ง "องค์กรอิสระ" เรียกว่า "ศูนย์รวบรวมซะกาต" อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำประเทศมาเลเซีย (ในประเทศมาเลเซียรู้จักกันในชื่อย่อ PPZ หรือมีชื่อเต็มว่า Pusat Pungutan Zakat หรือในภาษามาเลเซียเรียกว่า Majlis Agama Islam Wilayah Persekutuan: MAIWP) ซึ่งศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 โดยนำทรัพย์สินที่ได้รับมาจัดตั้งเป็น "กองทุนซะกาต" มีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหาร การบริหารจัดการ และการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่ และทั่วถึง
ในขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียได้นำระบบการจ่ายซะกาตทางธนาคารและอินเตอร์เน็ตมาใช้ มีระบบการคำนวณการจ่ายซะกาตในประเภทต่างๆ ที่ผู้จ่ายสามารถรู้ได้ทันทีโดยใส่จำนวนทรัพย์สินที่มีและผลของจำนวนในสิ่งที่จะต้องจ่ายโดยไม่ต้องสอบถามผู้รู้ด้านศาสนาเหมือนในอดีต
ด้วยระบบการจัดการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสามารถบูรณาการกับวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ได้รับทรัพย์สินจากซะกาตได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 700 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระของรัฐในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
------------------------------------------------------------------------------------------
*อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
หมายเหตุ : เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากบทความทางวิชาการ "ระบบซะกาต (ทานบังคับ): เศรษฐกิจชุมชนในอิสลาม" โดย วรรณวดี พูลพอกสิน ซึ่งนำเสนอในการประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง พหุลักษณ์สวัสดิการสังคมไทย - 24 ม.ค.2551 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สารพันปัญหาว่าด้วยหลักการซะกาต โดย บรรจง บินกาซัน สำนักพิมพ์ อัลอามีน, กรุงเทพฯ
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด
http://www.ibnuaffan.com/TH_Zakattabung.html
อ่านประกอบ : รัฐเข็นกฎหมายจัดระเบียบ "ซะกาต" วางระบบเงินบริจาคพี่น้องมุสลิม
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/790--qq-.html