ก.เกษตรฯ เปิดแผนป้องกันไฟป่า-หมอกควัน 9 จว. ช่วง 80 วันอันตราย
ก.เกษตรฯ แจงแผนป้องกันไฟป่าและหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ ช่วง 80 วันอันตราย จัดฝูงบินทำฝนหลวงป้องเหตุ-ลดมลพิษทางอากาศ ร่วมมือชาวบ้านเลิกเผาตอซัง
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 56 ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญและร่วมบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ซึ่งมาตรการหลักคือ ป้องกันไม่ให้เกิดการเผาในช่วงวิกฤติ 80 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-30 เม.ย.56 โดยได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 56 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินการเกษตรแบบปลอดการเผาและป้องกันไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตร ประกอบด้วย 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยใช้งบปกติ จำนวน 4 โครงการ และโครงการเร่งด่วนที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล อีกจำนวน 1 โครงการ
นายฉลอง กล่าวว่า ในส่วนของโครงการที่ใช้งบปกติ ได้แก่ 1) โครงการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กำหนดแผนปฏิบัติการ ออกเป็น 2 ระยะ และแผนสำรอง 1 แผน ระยะเวลาดำเนินการช่วง 80 วันอันตราย ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการระยะที่ 1 ช่วงม.ค.-15 ก.พ. 56 เป็นแผนเฝ้าระวังและปฏิบัติการโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 4 เครื่อง เตรียมพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจากสนามบินจังหวัดนครสวรรค์ โดยได้เริ่มไปปฏิบัติการฝนหลวง ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.56 เป็นต้นมา ในช่วงระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-2 ก.พ.56 ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว 6 วัน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 6 วัน แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 ช่วงวันที่ 16 ก.พ.-30 เม.ย.56 มีเครื่องบิน Casa จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 เครื่อง ปฏิบัติการประจำที่ฐานปฏิบัติการสนามบินกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับแผนปฏิบัติการสำรอง หากสถานการณ์หมอกควันมีภาวะความรุนแรง ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จะจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 1 หน่วย ที่สนามบินกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเครื่องบิน Casa จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องบิน Porter อีกจำนวน 3 เครื่อง
2) โครงการรณรงค์การไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน ของกรมพัฒนาที่ดิน วงเงิน 1.08 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 540 ไร่ 3) โครงการลดการเผาบนพื้นที่โล่งเตียนเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน ของกรมพัฒนาที่ดิน วงเงิน 125.50 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 5,000 ไร่ และ 4) โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วงเงิน 1.18 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 2,080 ไร่
สำหรับโครงการเร่งด่วนที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล คือ โครงการส่งเสริมการไถกลบทดแทนการเผาในพื้นที่เกษตร ระยะเร่งด่วน ปี 56 ของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 22.50 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ทำการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ประเภทพื้นที่นาข้าวและพื้นที่ปลูกข้าวโพด ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่เป้าหมาย 75,000 ไร่ ซึ่งกระทรวงได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ผ่านประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยไปเรียบร้อยแล้ว
“นอกเหนือจากการดำเนินการดังกล่าวแล้ว กระทรวงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ควบคุมกำกับไม่ให้มีการเผาโดยเคร่งครัดที่สุด รวมถึงได้สนับสนุนกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ สร้างจิตสำนึกกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการรณรงค์ไม่ให้มีการเผาควบคู่กันไปด้วย” รองปลัดกษ. กล่าว
ที่มาภาพ:http://news.thaipbs.or.th/sites/default/files/news28012013/142794-imagepng-210841.png